ประกาศแล้ว! กฎหมาย “กกต.” 78 มาตรา เพิ่มอำนาจคุมเลือกตั้ง

วันนี้ (13 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ผ่านทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 78 มาตรา

คลิกอ่านรายละเอียดที่นี่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามกฎหมายที่กําหนดให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว อาทิ บทเฉพาะกาล ได้ข้อสรุปจากการพิจารณาของ สนช.ในวาระ 3 ว่า กกต.ทั้ง 5 คนให้พ้นจากวาระไปนับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า กกต.ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ นอกจากนี้กฎหมาย กกต.ฉบับใหม่ กำหนดไม่ให้มี กกต.จังหวัดแต่ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งจำนวน 5-8 คนขึ้นมาแทน โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อไว้ล่วงหน้า 5 ปี ให้ผู้มีภูมิลำเนาในจังหวัด 2 คนที่เหลือให้มาจากจังหวัดอื่น ให้อยู่ในวาระชั่วคราว เริ่มแต่งตั้งให้แล้วเสร็จหลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับในเวลาไม่ช้ากว่า 10 วัน และพ้นไปเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งหรือภายหลังจากนั้นไม่เกิน 60 วันตามภารกิจ

โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มี กกต. 7 คน โดยมีวาระ 7 ปี มีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิม อาทิ กกต.มีอำนาจจัดการเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. มีอำนาจในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นและการออกเสียงประชามติ โดย กกต.แต่ละคนอาจได้รับมอบหมายจาก กกต.ให้สืบสวนหรือไต่สวนเป็นตัวบุคคลหรือคณะบุคคลก็ได้ตลอดจนมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ หรือสั่งให้ระงับ หรือยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งในบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งแต่ต้องรายงานกกต.ให้ทราบโดยเร็ว ซึ่งคณะกรรมการสรรหา กกต. มีประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ในการสรรหาจะต้องมีการปรึกษาหารือกันในระหว่างกรรมการ ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องบันทึกเหตุผลของกรรมการสรรหาแต่ละคนเป็นหลักฐานไว้ด้วย โดยใช้เกณฑ์คะแนนเสียง 2 ใน 3 ถ้าไม่ได้ กกต.ใน 3 รอบให้เปิดรับสมัครใหม่ได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์