“แฟลชม็อบ” ธนาธร จุดติด-ไม่ติด แกนนำ พันธมิตร นปช. กปปส. วิพากษ์

รายงานพิเศษ

ปมยุบพรรค เป็นปัญหาจุกอกของพรรคอนาคตใหม่

เวลานี้มีถึง 2 คดี ที่คอพาดเขียงรอการตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญ ยุบ-ไม่ยุบพรรค

หนึ่ง คดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชงให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค จากกรณีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 72 ระบุว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สอง คดีที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เหตุนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค มีแนวคิดคดีล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระหว่างการต่อสู้-ชุลมุนคดียุบพรรค “ธนาธร” และพวกประกาศชุมนุมแฟลชม็อบครั้งแรก 14 ธ.ค. 2562 ที่สกายวอล์ก สยามสแควร์ “ธนาธร” กล่าวในวันนั้น

“ถือเป็นการซ้อมใหญ่ เราต้องการส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ เป็นการแสดงตนแสดงพลังว่า เราจะไม่ทน ไม่ถอยให้กับระบอบเผด็จการอีกแล้ว ที่ผ่านมาเขาทำให้เรากลัว ใครลุกขึ้นสู้ก็ถูกจับยัดคดีใส่ ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ นี่คือการเมืองของเขา แต่เขาไม่มีทางชนะความหวังของพี่น้องประชาชนได้ อย่างตอนนี้ ถ้าไม่ให้ลงถนน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เพราะประชาชนที่มาร่วมแสดงตนมีเยอะมาก และเดือนหน้าเราจะได้ลงถนนกันแน่ ๆ ให้ซ้อมวิ่งกันไว้ได้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าเพิ่งกลัว ของจริงอยู่เดือนหน้า (ม.ค. 2563)”

ติดแฮชแท็กบนโลกโซเชียล #กลัวที่ไหน

ผลของ 2 คดี หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน “เป็นลบ” พ่วงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งยวง มี 11 คนที่เป็น ส.ส.ในสภาต้องถูกริบตำแหน่งผู้ทรงเกียรติ

และอาจทำให้อนาคตใหม่เหลือ ส.ส. แค่ 65 คน ก่อนจะอพยพไปอยู่ใน “ร่างใหม่” ซึ่งเซตรอเอาไว้ล่วงหน้า แต่ยังไม่การันตีว่า 65 ส.ส.จะไปอยู่ร่างใหม่กี่ราย อาจมี “งูเห่า” รอบ 2 รอบ 3 โผล่อีก

เกมปลุกม็อบคู่ขนานเกมยุบพรรค จึงเป็นเกมเสี่ยงที่พรรคอนาคตใหม่ “เทหมดหน้าตัก” เดินนอก-ในสภา จุดกระแสไล่รัฐบาลประยุทธ์ 2 ให้พ้นจากอำนาจ

ธนาธรขาดประสบการณ์

แต่จะไปถึงขั้นนั้นได้หรือไม่ ตามประสบการณ์ของ “พิภพ ธงไชย” อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คุมม็อบข้างถนนมานาน193 วัน ไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ วิเคราะห์ “ม็อบธนาธร” ในปี 2563 ว่า

“การเป็นม็อบระยะยาว อาจเริ่มจากแฟลชม็อบได้ ในกรณีนี้แฟลชม็อบเริ่มต้นจากคดีของธนาธร เป็นคดีเฉพาะตัวไม่ใช่ข้อต่อสู้ที่เป็นสากล ไม่ได้ยกเรื่องรัฐธรรมนูญสร้างรัฐทหารซ้อนอยู่ในรัฐบาล ไม่ได้ยกประเด็นเรื่องปัญหา ส.ว. วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบไหน เพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้ยกพวกนี้เลย”

“แน่นอนมีอารมณ์ร่วมที่ไม่พอใจรัฐบาล และไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ได้หยิบประเด็นนี้มาชูเป็นประเด็นให้ชัดเจน ดังนั้น การเริ่มต้นจากคดีของเขาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมว่าจะทำให้การสร้างม็อบระยะยาวไม่ได้ และเขาก็ไม่มีความชำนาญ หรือกระบวนการที่เรียกว่าปักหลัก พักค้าง และยิ่งไปนำเสนอสู่ความรุนแรง ท้าทาย นองเลือด ผมคิดว่าคนไทยผ่านมา 10 ปี คงไม่มีความสุขเท่าไหร่ที่จะมีการชุมนุมปักหลักพักค้างนำไปสู่การนองเลือด”

“พิภพ” ฟันธงว่า แฟลชม็อบทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การปักหลักพักค้างของ “อนาคตใหม่” ยังทำไม่ได้ เพราะ “ธนาธร”ยังไม่พร้อมที่จะนำการชุมนุมที่ปักหลักพักค้าง และประเด็นที่ยังไม่ถึงจุดที่จะทำให้มวลชนมาปักหลักพักค้าง เหมือน 3 กลุ่มเท่านั้นที่ทำได้ คือ กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่ม นปช. และ กปปส.

เขาเทียบความต่าง 3 ม็อบ กับม็อบอนาคตใหม่-ในอนาคตว่า 1.ผู้นำต้องมีความน่าเชื่อถือ และ 2.ต้องมีประเด็นชัดเจนว่าเป็นประเด็นการเมืองสาธารณะที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อระบบการเมืองและประเทศชาติโดยรวม

“ตอนนี้ธนาธรพูดประเด็นพวกนี้อยู่ แต่ไม่มีนักพูดที่มาขยายความ เช่น ทหารใช้งบประมาณไม่ชอบธรรม มีคนมาพูดชี้แจงเรื่องนี้แต่ละอันไม่ชอบธรรมมีอะไรบ้าง และเขาก็ยังไม่เคยจัดม็อบยาวที่แจกแจงประเด็นที่ทหาร หรือรัฐบาลทำเสียหาย และไม่มีทีวีในการถ่ายทอด การถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์อารมณ์คนยังไม่ได้ คนต้องจ่อที่หน้าทีวีถ้าจะทำปักหลักพักค้าง น่าจะใช้ทีวีมากกว่าเฟซบุ๊กไลฟ์ ดูได้ไม่ทนหรอก อย่าลืมว่าการชุมนุมใหญ่ทั้ง 3 ชุมนุมยังมีทีวีถ่ายทอด สำหรับผมนะ”

ส่วนประเด็นอนาคตใหม่ถูกยุบเป็นชนวนได้หรือไม่ ? พิภพบอกว่า”การยุบพรรคเป็นความบกพร่องของฝ่ายกฎหมายของธนาธร และความบกพร่องของฝ่ายบัญชีของพรรคอนาคตใหม่ ยากที่จะโต้แย้งกับคำพิพากษา ถ้าถูกยุบด้วยกรณีเงินกู้ 191 ล้าน มันมีความหลวมอยู่ จะไปบอกถูกรังแกก็ไม่ชัดเจนที่จะจูงใจให้คนมาปกป้องการกระทำที่ผิดพลาดของธนาธรทั้งทางกฎหมายและบัญชีของพรรคอนาคตใหม่”

เศรษฐกิจแย่ นำม็อบลงถนน

ด้านรุ่นพี่ที่นำมวลชนปักหลักพักค้างอีกหนึ่งราย ต่างกันที่สีเสื้อ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วิเคราะห์จากประสบการณ์ว่า ปัจจัยชวนคนลงถนนไม่ใช่เพราะยุบอนาคตใหม่ แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจปากท้อง

“ความเดือดร้อนของประชาชนทางเศรษฐกิจ ทำให้คนไหลไปร่วมกับธนาธร ปฏิเสธความจริงไม่ได้ คนต้องการแสดงออก ถ้ารัฐไม่ต้องการให้เกิดสิ่งนี้ก็ต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด จุดใหญ่วันนี้คือเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งคนลำบากกันแสนสาหัสอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนถึงขนาดคนในรัฐบาลบอกว่าจะเผาจริงแล้ว ดังนั้น เรื่องทางการเมืองแม้มีเรื่องเป็นจำนวนมาก แต่พอสถานการณ์ถึงที่สุดจะมีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ที่ถ้าคนเห็นแล้วว่าเป็นปัญหาของคนทุกคนที่เป็นจุดร่วม”

“การยุบพรรคการเมืองในประเทศไทย พรรคไทยรักไทย มีสมาชิก 14 ล้านคน ได้รับเลือก 19 ล้านคะแนน ถูกยุบไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พรรคพลังประชาชน สมาชิกอาจไม่มาก แต่ได้รับเลือกเกินกว่า15 ล้าน ถูกยุบไปก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลพรรคเพื่อไทย รัฐบาลมีอันเป็นไปโดยไม่มีเหตุอะไร”

“ประเด็นสาธารณะคือคนเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ แต่ส่วนเรื่องยุบอนาคตใหม่ทุกฝ่ายต้องคิดให้มากว่าควรจะเดินไปถึงจุดดังกล่าวหรือไม่ ทุกฝ่ายก็คิดว่าผลลัพธ์คืออะไร จะไม่ได้จบด้วยการยุบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเมื่อยุบแล้วก็มีพรรคใหม่เข้ามาแทนที่ แต่พอบวกกับสถานการณ์ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจแล้วเอาประเด็นสาธารณะเป็นเรื่องใหญ่”

“ดังนั้น การแก้ปัญหารัฐบาลต้องมองปรากฏการณ์แสดงออกของประชาชนว่าเป็นเสรีภาพ และถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจปัญหาก็จะไม่เกิด แต่ถ้าไปมองออกว่าการแสดงออกเป็นศัตรูเมื่อไหร่ แล้วไปตั้งเวทีคู่ขนานคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าจะเป็นชนวนไปสู่การยึดอำนาจ มากกว่าการยุบสภา”

ห่วงลัทธิชังชาติ ซ้ำรอย 6 ตุลา

ในฐานะที่เป็นแกนนำชุมนุมตั้งแต่เป็นนักศึกษารามคำแหงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนถึงเป็นประธาน นปช. “จตุพร” ห่วงว่าชุมนุมแฟลชม็อบ คือ…การเตรียมแสดงออกของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งประกาศตั้งเวทีเดินสายทั้งประเทศ ต่อต้านลัทธิชังชาติ ไม่ต้องคิดมากคือพรรคอนาคตใหม่ กับอีกฝ่ายหนึ่ง คือการประกาศลงถนนของธนาธรช่วงหลังปีใหม่

“วิวัฒนาการนี้น่าเป็นห่วง เพราะการปลุกคนต้านลัทธิชังชาติ บวกกับการสร้างความชิงชังให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันของธนาธรเหมือนหมากบังคับ จะทำให้สถานการณ์นำไปสู่แบบเดียวกับเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519”

“ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้า ก็ต้องไปหยุดเวทีลักษณะอย่างนี้ แม้ ณ ขณะนี้ยังไม่มีอะไร แต่ถ้าไปถึงจุดที่เกิดความเชื่ออย่างไม่มีใครคาดคิดก็น่าเป็นห่วง ดังนั้นปลายทางจะนำไปสู่บ้านเมืองสาหัสมากกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”

“แต่สิ่งที่จะล้มรัฐบาลได้ในปี”63 จะไล่รัฐบาลไม่ใช่ม็อบ คือเศรษฐกิจ เอกภาพในรัฐบาล แม้ร้องเพลงกันเสียงแหบเสียงแห้งก็ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป เห็นรอยปริรอยแยกชัดเจน แม้ร้องเพลงด้วยกันแต่ไม่ได้หมายความว่าจะจบด้วยกัน”

ชวนมวลชนป้องพรรค จุดติดยาก

ด้าน “วิทยา แก้วภราดัย” อดีตแกนนำ กปปส.ประเมินไปในทางเดียวกันว่า ม็อบของนายธนาธรที่ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ประเด็นยังมีไม่ชัด

“1.คุณธนาธรมาไล่ พล.อ.ประยุทธ์เรื่องปฏิวัติตั้งแต่ปี”57 แล้วทำไมก่อนหน้านั้นจึงไม่ไล่ 2.ประเด็นไล่นายกฯ นายกฯทำอะไรที่ทุจริตหรือมีปัญหาอะไรที่เป็นอันตรายต่อประชาชน คำอธิบายยังไม่ชัด ประเด็นของคุณธนาธร อยากแก้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก และอยากไล่นายกฯ ไม่รู้ว่าทั้งสองอย่างเกี่ยวอะไรกับประชาชน อยากแก้รัฐธรรมนูญแก้เรื่องไหนที่คิดทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพดีขึ้น ไม่ใช่สิทธิของนักการเมืองด้วยกันเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัด”

“ประเด็นที่คุณธนาธรออกมา เป็นประเด็นที่ชักชวนคนมาเดินขบวนเพื่อปกป้องพรรคอนาคตใหม่ของคุณธนาธรมากกว่า ไม่ใช่ผลประโยชน์ประชาชน ถ้าประเด็นแค่ไม่ให้ยุบพรรค ปฏิเสธกระบวนการกฎหมายทั้งหมด คิดว่าประชาชนคงเข้าร่วมลำบาก ไม่รู้ว่าจะได้อะไรขึ้นมา”

“ในยุคของพวกผมถ้าอยากเข้าสู่อำนาจก็ต้องสู้ และต้องยึดอำนาจรัฐให้ได้โดยยึดแนวรัฐสภา เมื่อยึดไม่ได้อีก
จะยึดอำนาจรัฐมันไม่มีแล้ว แต่นี่เดินได้ครึ่งทางแล้วเปลี่ยนทางเดิน คิดว่าไปยาก เอาอารมณ์ตัวเองยัดเยียดใส่ประชาชน ทำให้ไม่มีทิศทาง”

ม็อบจุดติด-ไม่ติด คือความเห็นจาก 3 รุ่นพี่ม็อบข้างถนน ถึงม็อบอนาคตใหม่-ในอนาคต