งบประมาณ ติดล็อก พรรคร่วมแตกคอ เข้าทาง “บิ๊กตู่” โละ “ฝ่ายค้านในรัฐบาล”

รายงานพิเศษ

เอฟเฟ็กต์ปม “เสียบบัตรแทนกัน” ของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย “บานปลาย” ส่งผลถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ต้องล่าช้า-ชัตดาวน์เศรษฐกิจ กลายเป็น “เดดล็อก” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากความ “แค้นฝังหุ่น” ของ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ส.ต. (ส.ส.สอบตก) รองหัวหน้าพรรค-ขุนพลปักษ์ใต้ประชาธิปัตย์ ที่ยัง “คาใจ” ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ “พ่ายแพ้” ให้กับ “ฉลอง เทิดวีระพงศ์” ส.ส.พัทลุง-ต้นเรื่องเสียบบัตรแทนกัน

ลามไปถึงคนในพรรคพลังประชารัฐ ถูกจับได้ว่า ส.ส. 1 คน เสียบบัตรลงคะแนนมากกว่า 1 ใบกลายเป็นบอลเข้าทางฝ่ายค้าน 7 พรรค ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

มีเวลาใช้งบฯ 63 แค่ 4 เดือน

รัฐบาลต้องกุมขมับ-พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกอาการเซ็ง โดยเฉพาะ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี มือเศรษฐกิจขาใหญ่ เพราะจะทำให้รัฐบาลมีระยะเวลาในการใช้จ่ายงบประมาณได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น !

โดยเฉพาะงบฯลงทุนใหม่-งบฯก่อหนี้ผูกพันข้ามปีรวม 3.6 แสนล้านบาท และงบฯรายจ่ายประจำ เช่น “เงินเดือนข้าราชการ” ที่ใช้ได้ “กึ่งหนึ่ง” ของงบประมาณปี”62 “ไปพลางก่อน” จะใช้ได้ถึงแค่เดือนมีนาคมเท่านั้น !!

“สมมุติว่าใช้เงินได้เดือนพฤษภาคมจะทำให้เหลือเวลาใช้จ่ายงบประมาณเพียง 4 เดือน (ถึงกันยายน) ใช้ไม่ทัน รัฐบาลได้หารือเพื่อแก้ปัญหาไว้หลาย ๆ วิธี เราเป็นจุดศูนย์กลางที่นักลงทุนสนใจอยู่แล้ว อย่าทำร้ายตัวเอง ขอแค่นี้”

ชี้ช่อง ม.143 ทางออก

โดย “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมาย ใช้ท่าไม่ตาย “ไม่มีทางออก ก็ออกตรงทางเข้า” ชี้ช่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี”63 ถูกแช่แข็งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 105 วัน

ให้รัฐบาลกลับไปใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี”63 ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรใน “วาระแรก”

“บอกไปแล้วว่าไม่มีอะไร แต่ถ้าล่าช้านั้นเรื่องจริง วันนี้ความกังวล คือ การล่าช้า แต่ถ้ากังวลว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงนั้นมันไม่เกิด อย่าไปพูดให้เกิดความกังวล มีคนออกมาพูดก่อนว่าจะวิบัติ ผมจึงย้ำว่าไม่วิบัติ”

ทว่า “ท่าไม้ตาย” ทางแรก คือ การฟื้นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 63 “วาระแรก” และอาจจะเป็น “ทางออกสุดท้าย” เช่นเดียวกับการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การใช้เงินงบประมาณรายจ่ายพ.ศ. 2563 เพราะสุดท้ายต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีเสียบบัตรแทน พ.ร.บ.งบประมาณแล้ว พร้อมทั้งให้ผู้ร้องและผู้เกี่ยวข้อง ยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่รัฐบาลจะต้องขบคิด หากเตรียมแผนสำรอง-ร่าง พ.ร.ก.การใช้เงินงบประมาณรายจ่ายปี”63 ว่าจะเป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี”63 ที่ผ่าน “วาระสาม” หรือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี”63 ที่ผ่าน “วาระแรก”

เลวร้ายที่สุด 1 คะแนนโมฆะ

ทางที่สอง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ใช้ประสบการณ์ที่เคยนั่งบัลลังก์ผู้พิพากษา “อ่านใจ” ศาลรัฐธรรมนูญว่า “เลวร้ายที่สุด” คือ มาตราที่เกี่ยวข้องอาจจะมีปัญหา ส่วนจะตกไปทั้งฉบับหรือไม่ อยู่ในดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

“อย่างมากมาตราที่มีปัญหาก็อาจจะทำให้ต้องมาโหวตใหม่ หรือผลการลงมติของคุณฉลองเป็นโมฆะ ก็จะทำให้หายไป 1 คะแนน”

สำหรับมาตราที่อาจเป็นโมฆะ-โหวตใหม่ คือ ตั้งแต่มาตราที่ 31-มาตรา 55 เช่น ศาล องค์กรอิสระ-อัยการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภากาชาดไทย ส่วนราชการในพระองค์ งบฯบูรณาการแก้ปัญหาภาคใต้ งบฯบูรณาการพัฒนาอีอีซี

เทกโอเวอร์เพื่อไทย

นอกจากการสุ่มเสี่ยง “ชัตดาวน์” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จากปมเสียบบัตรแทนกัน-งบประมาณรายจ่ายปี”63 ล่าช้า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ “สนิมเนื้อใน” รัฐนาวาเหล็ก ประหนึ่งเป็น “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” จนทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้อง “เสียศูนย์”

ทั้งความแค้นฝังหุ่น-จองเวรจองกรรมกันของพรรคร่วมรัฐบาลกันเองแล้ว ยังมีความ “ไม่เข้าขากัน” ของ “ทีมเศรษฐกิจสามขา” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำงานมาเกือบ 6 เดือน แต่ยังไม่สามารถจูนเข้าหากัน-เป็นทีมเวิร์ก

ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะค่อย ๆ ถ่าย-โอนอำนาจ “กัปตันทีมเศรษฐกิจ” จากการเกิดกลไกคณะกรรมการร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ “ครม.เศรษฐกิจ” และการมอบอำนาจให้ “สมคิด” นั่งหัวโต๊ะ-ล้วงลูกการลงทุนผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน

ทว่าจากการประชุมคณะกรรมการ “นัดแรก” ไม่ปรากฏเงาของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม-เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการ ออกอาการอารยะขัดขืนและดื้อเงียบ

แผนการเขี่ยประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทยโดยปฏิบัติการ “แบ็กดอร์” เพื่อ “เทกโอเวอร์” ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เริ่มลงมือมาตั้งแต่ก่อนวาระพิจารณางบประมาณปี”63 ของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำกลุ่มสามมิตร-อดีตขุนพลคู่ใจทักษิณ ชินวัตรเดินไปอย่างเงียบเชียบ แต่ทรงพลัง

ปรับ ครม.-ยุบสภา ?

พงศาวดารกระซิบเมื่อครั้งคว่ำญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์สถานเบา คือ การปรับคณะรัฐมนตรี-สถานหนัก คือ การยุบสภา อาจเกิดขึ้นตามที่คาด-เร็วกว่าที่คิด หลังศึกซักฟอก

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมาย เทียบเคียงการชิงยุบสภา-หนีศึกซักฟอกของรัฐบาลในอดีตว่า หลักกฎหมายนับตั้งแต่ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกระทั่งถึงวันที่มีการลงมติ ช่วงเวลานี้จะยาวนานหรือสั้นเท่าไหร่ก็ตาม “ยุบสภาไม่ได้” แต่ก่อนหน้าที่จะยื่นญัตติ สามารถยุบสภาได้ตลอด-ทุกวัน…ถ้ามีเหตุผล

“ถ้าถามว่า แล้วยุบทำไม ด้วยเหตุผลอะไร ในอดีตบางครั้งมีเหตุผล แต่ชาวบ้านก็ไม่เชื่อเหตุผล ส่วนเหตุผลที่จะสามารถใช้ได้เพื่อยุบสภามีสารพัด แต่หลักของกฎหมาย หลักทฤษฎีมีอยู่”

“วิษณุ” ยกตัวอย่างการยุบสภาในอดีตว่า เช่น เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร หรือเกิดความขัดแย้งทางการเมือง จนไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้

“ผมมีส่วนในการยุบสภามาแล้วหลายครั้ง ในฐานะเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บางครั้งยุบสภาเพราะมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร ในอดีตที่เกิดวิกฤตทางการเมือง เช่น ในสมัยที่นายกฯอภิสิทธิ์ยุบสภา นายกฯยิ่งลักษณ์ยุบ นายกฯทักษิณยุบ หรือบางครั้งสภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับรัฐบาลก็เลยยุบ เช่น นายกฯบรรหารยุบ นายกฯชวน (ชวน 1) ยุบ”

“ส่วนอย่างอื่นไม่มีใครทะเลาะกับใคร ไม่มีใครขัดแย้งกับใคร มันเป็นกรณีที่ต้องการคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนตัดสินใจในปัญหาบางอย่างโดยเร็ว เช่น สมัยรัฐบาลนายกฯเปรม เสนอพระราชกำหนดต่อสภาผู้แทนราษฎรแต่ไม่ผ่าน หรือกรณีที่จัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จ แทนที่จะรอไปจนกว่าสภาจะครบวาระอีกนาน ทำไมไม่ลองใช้รัฐธรรมนูญใหม่เสียเลย อันนี้ไม่มีใครทะเลาะกับใคร ก็ยุบ เพื่อที่จะใช้รัฐธรรมนูญที่เพิ่งแก้เสร็จ”

ถึงแม้ขณะนี้ข่าวการยุบสภาจะเป็นเพียงลือ-ข่าวปล่อย แต่นายวิษณุทิ้งท้ายว่า “ปากคนยาวกว่าปากกา เรื่องพูดเล่นก็อาจจะกลายเป็นเรื่องจริง”

แต่ไม่ว่าจะสถานเบา-สถานหนัก พล.อ.ประยุทธ์ ยังไง ก็เป็นนายกฯต่อ เพราะ “รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อพวกเรา”