จบศึกซักฟอก ลาก “บิ๊กตู่” ขึ้นเขียง ป.ป.ช. พท.หักหลังเละ-อนค.แฉนอกสภา

รายงานพิเศษ

หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านเจ็บตัวพอ ๆ กันแม้ในสภา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถูกขึงพืดในสภา 2 วันครึ่งแต่ก็สามารถสอบผ่านไปด้วยจำนวนมือฝ่ายรัฐบาลที่มากกว่าผลจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ บางเรื่อง-บางข้อพิรุธ ได้เปิดแผลรัฐบาลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในหนนี้ เป็นเหตุให้ฝ่ายค้านเตรียมนำสิ่งที่ “ซักฟอก” รัฐบาลกลางสภาไปขยายผลเอาผิดจากปมทุจริต “พล.อ.ประยุทธ์ และพวก” หลายกระทงสกัดมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 3 วันเต็ม ที่เข้าเค้าว่าจะฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาทิ 

กรณีทุจริตโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคล (ไบโอเมทริกซ์) ว่า ปี 2559-2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีโครงการจัดซื้อเครื่องมือตรวจพิสูจน์บุคคล วงเงิน 1,735 ล้านบาท 

โดยในข้อกล่าวหา ระบุว่า มีพฤติกรรมหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการจัดซื้อดังกล่าวมีการเอื้อประโยชน์หรือมีความไม่สุจริต 

และเชื่อว่าน่าจะมีผลประโยชน์และความเชื่อมโยงของบุคคลหลายกลุ่มที่ “วิสาร เตชะธีราวัฒน์” ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย หยิบมาอภิปรายเชื่อมโยงไปถึงมาดามหลังบ้านนายกฯ 

กรณีที่ “พล.อ.ประยุทธ์” พักบ้านพักทหารหลังเกษียณอายุราชการแล้ว โดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ถือเป็นการทำความผิด เป็นการจงใจไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) คือการขัดกันของผลประโยชน์ ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ

กรณีที่ พล.อ.ประยทุธ์ในสมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซื้อรถถังของประเทศยูเครน 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อแบบ G2G โดยพบว่ามีคนไทยคนหนึ่งไปเป็นตัวแทนในการเจรจาก่อนทำสัญญาของประเทศยูเครนเพื่อซื้ออาวุธ แทนที่จะเป็นการซื้อระหว่างรัฐกับรัฐ

เพื่อไทยระบุว่า เป็นการทุจริตคล้ายกับโครงการจำนำข้าว กรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายก
รัฐมนตรี และ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เริ่มต้นด้วยประเด็นการช่วยเหลือ คดีของบริษัท ฟิลลิปมอร์ริส นำเข้าบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร และสำแดงเท็จ จากมูลค่าความเสียหายความเสียหาย 84,000 ล้านบาท แต่ใจหิน เตะถ่วงจนค่าปรับเหลือเเค่ 1,224 ล้านบาท

“พงศ์เทพ เทพกาญจนา” แกนนำฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ถูกมอบหมายให้รวบรวมเรื่องที่จะฟ้องต่อ ป.ป.ช. บอกว่า พอจบกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาดูว่าเรื่องไหนจะฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากมีบางเรื่องได้มีผู้ร้อง ป.ป.ช.ไปแล้ว 

หรือบางเรื่อง ป.ป.ช.รับคำร้องไว้แล้ว ขณะที่สิ่งที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภา บางเรื่องข้อเท็จจริงยังไม่ครอบคลุมข้อกล่าวหาทั้งหมด ต้องนำมากางดูอีกครั้งหนึ่ง  

“บางเรื่องอาจจะมีประเด็นหรือมีเรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช.อยู่แล้วก็มี ที่มีอยู่ในมือพอที่จะฟ้องได้มีหลายเรื่องอยู่ สิ่งที่
เขาอภิปรายต้องมีเอกสารมาให้คณะทำงานดู เพราะบางเรื่องที่อภิปรายในสภา
ผู้อภิปรายไม่ได้พูดทั้งหมด” 

“ดังนั้น จะต้องดูข้อมูลทั้งหมด เพราะตอนที่ยังอภิปรายไม่เสร็จเราก็ไม่ไปขอดูข้อมูลของเขา เพราะถ้าขอดูข้อมูลแล้วหากมีคนรู้ข้อมูลนั้น หรือข้อสอบรั่ว ผู้อภิปรายอาจจะคิดว่าข้อมูลมารั่วที่เราหรือเปล่า”

“เพื่อให้เขาได้สบายใจ ไม่ใช่ว่ามีการรู้ข้อสอบล่วงหน้า หรือถ้ามีการรู้ข้อสอบล่วงหน้าก็ไม่ได้รู้มาจาก
พวกผม” 

แหล่งข่าวฝ่ายค้าน การอภิปราย 3 วันของฝ่ายค้าน แม้การอภิปรายบางคนเข้าเป้าบ้าง ไม่เข้าเป้าบ้าง แต่ข้อสำคัญหลังจบอภิปราย คือ ฝ่ายการฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งถ้าหากมีการชี้มูลความผิดจะกลายเป็น “คดีทุจริตไม่มีอายุความ” 

ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำหนดว่า ในการดําเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง ซึ่งปรับแก้ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 

เบื้องหลัง พท.ปรับแผนอภิปราย  

ขณะเดียวกัน ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน ในช่วงแรกของการซักฟอกถูกปรามาส ว่า “มวยล้ม
ต้มคนดู” อภิปรายไม่มีอะไรใหม่-ชกไม่สมศักดิ์ศรี แถมบางเรื่องที่หยิบมาอภิปรายยังมีการ “ใบ้ข้อสอบ” ล่วงหน้าให้ฝ่ายรัฐบาลได้เตรียมข้อมูล

โดยเฉพาะพี่ใหญ่ ฝ่ายค้าน “พรรคเพื่อไทย” ปล่อยให้ “ทีม ส.ส.อนาคตใหม่” ขโมยซีนแซงหน้าไปหลายยก ทั้งอภิปรายนอกสภา-ในสภาจน “เพื่อไทย” ต้อง “ปรับทัพ” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคลงมาบัญชาแก้ไขสถานการณ์หน้างาน

ฉับพลันทันใด “หัวหอกฝ่ายค้านเดิม” หัวหน้าทีมกิจการพิเศษ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ที่รับผิดชอบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลบหลังฉาก หายเข้ากลีบเมฆสะท้อนว่าในพรรคเพื่อไทยยังไม่เป็นขบวนเดียวกัน

ฝ่ายค้านปรับทัพ หลังถูกบอนไซ

ขณะเดียวกัน หลังจากปิดสมัยประชุมฝ่ายค้าน 6 พรรค ถูกกร่อนกำลังทั้งวิกฤต “ยุบพรรค” และ “งูเห่า” จนเสียขบวน สรุปตัวเลข ณ วันหลังโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายรัฐบาลมีพลัง ส.ส.อยู่ในมือ 272 เสียง ทว่า เสียงของฝ่ายค้านดิ่งลงเหลือ 215 เสียง ทั้งที่ในสมัยประชุมสภาครั้งที่ 2 ช่วง พ.ย. 2562 ยังมีเสียง 245 เสียง

เพราะพิษจากการช็อปปิ้ง ส.ส.หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ มี ส.ส.งูเห่าแปรพักตร์ไปซบฝ่ายรัฐบาลทันที 9 ตัว ยังไม่นับข่าวที่จะไปซบพรรคฝ่ายรัฐบาลเพิ่มเติมนับสิบราย  

พิธา-ศิริกัญญา หัวหอก ร่างใหม่

ส่วนการเซตอัพพรรคใหม่-ร่างใหม่ของ “อนาคตใหม่” เพื่อให้อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ที่เหลือเพียง 50 คนเศษ เตรียมเข้าไปสังกัดนั้น แม้ขณะนี้ยังไม่มีการบอกชื่อ แต่ว่ากันว่ามีตัวเลือกอยู่ประมาณ 3-4 พรรค คือ พรรคสามัญชน พรรคก้าวไกล พรรคพลังใหม่ ใช้สูตร “เซ้งพรรคเก่า” 

เหมือนพรรคเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร เคยดำเนินการ ไม่ว่าพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักษาชาติในขบวนการพรรคใหม่ มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้า ส.ส.รับเข็มอำนาจ คุมพรรคใหม่ต่อจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” 

ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค ปรากฏชื่อ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ซึ่งในยุคอนาคตใหม่ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการนโยบายของพรรคแต่พรรคใหม่ของอนาคตใหม่ยังมีเวลาเกิน 40 วันในการเตรียมตัว ให้ 50 ส.ส.เข้าไปซบในร่างใหม่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ที่บัญญัติให้ ส.ส.ของพรรคที่ถูกยุบต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน

ดังนั้น ความเคลื่อนไหวในเวลานี้ รอให้ตัวเลขจำนวน ส.ส.ที่จะถูกดูดไป “นิ่ง” ไม่เลือดไหล จะได้เห็นตัว-เห็นตนกันหลังศึกซักฟอก

15 มี.ค.เปิดตัวคณะอนาคตใหม่

ส่วนแผนคู่ขนานนอกสภา “คณะอนาคตใหม่” ที่ “ธนาธร” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ประกาศสถาปนาขึ้นมา มีความตั้งใจว่าเดินเครื่องเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 15 มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันเดียวกับการเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่เมื่อ 15 มี.ค. 2561

ส่วน “มูลนิธิอนาคตใหม่” นั้น อดีตอนาคตใหม่ยังเกรง ๆ ว่าจะใช้ชื่อ “อนาคตใหม่” ตั้งเป็นชื่อมูลนิธิได้หรือไม่
เพราะ “กระทรวงมหาดไทย” อาจตั้งป้อมสกัดอ้างเหตุผลว่าซ้ำกับชื่อพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคไปแล้ว

ด้านการทำมวลชนนอกสภาของคณะอนาคตใหม่ “ปิยบุตร” บอกว่า ตนจะทำในสิ่งที่ถนัด เมื่อมาจากสายวิชาการงานถนัด ก็คือ การบรรยาย-รณรงค์ไปทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ “คณะอนาคตใหม่” ยังไม่คิกออฟ แต่เอฟเฟ็กต์จากยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็เกิดปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวนอกสภาของนิสิต นักศึกษา จนถึงนักเรียนมัธยม เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ

“ปิยบุตร” อธิบายปรากฏการณ์นอกสภา ว่า ตนบอกแล้วว่าหากยุบอนาคตใหม่
จะเป็นอย่างไร เพราะอย่างน้อยที่สุดพรรคอนาคตใหม่คือรูระบายความอัดอั้น
ความไม่พอใจต่าง ๆ และยังเป็นความหวัง เมื่อดึงมันออก เขาก็ไม่มีทางระบายออก
ดังนั้น จึงไม่รู้จะจบอย่างไร

ส่วน “ธนาธร-ปิยบุตร” จะไปเป็นแกนนำนิสิต-นักศึกษาเองหรือไม่ ปิยบุตรตอบว่า “จะไปเป็นได้อย่างไร นักศึกษาเขามีเสรีภาพ เรื่องนี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ส่วนผมก็ทำหน้าที่รณรงค์ต่อไป” 

หลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านปรับกระบวนขนานใหญ่6 พรรคฝ่ายค้าน นำโดย เพื่อไทย รวมถึง
“ร่างใหม่” ของอนาคตใหม่ ผนึกกำลังเล่นบทในสภาส่วน “นอกสภา” มี “คณะอนาคตใหม่” เป็นหัวหอกสร้างกระแสไม่เอาเผด็จการ หลังถูกยุบพรรค-ตัดกำลังด้วยการซื้องูเห่า