เจาะวอร์รูม ‘หมอ-นำการเมือง’ กู้ชีพรัฐบาล สู้สงครามโรคโควิด-19

หลังปล่อยให้ “นักการเมือง” นั่งหัวโต๊ะบริหารสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ตั้งแต่เชื้อไว้รัสเริ่มเล็ดลอดเข้ามาในประเทศ แต่ยังไม่ระบาดมากนัก ร่วมมือกับบรรดานักรบเสื้อกาวน์-ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งอดีต-ปัจจุบัน ของกระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าจะจบใน 6 เดือนอย่างน้อย

ด้วยการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน

แม้แรกเริ่ม “อนุทิน” บอก “เอาอยู่” แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดทวีคูณจนเริ่ม “เอาไม่อยู่” แถมยังมีข่าวว่าเกิดเกาเหลา หลายก๊ก-หลายกลุ่มทั้งในคณะรัฐมนตรี จนถึงทีมโฆษกที่ชี้แจงสถานการณ์

12 มี.ค. 2562 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จึงกระชับอำนาจบริหารสถานการณ์ ออก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 76/2563 จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยนายกฯนั่งหัวโต๊ะบัญชาการเอง

ไม่กี่วันหลังจากนั้น “ขุนพลนักรบเสื้อกาวน์ระดับปรมาจารย์” มากกว่าที่ปรากฏในรอบแรกก็ถูกเชิญเข้ามาช่วยกู้-แก้สถานการณ์

16 มี.ค. 1 วันก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการประกาศเลื่อนสงกรานต์ พล.อ.ประยุทธ์ ล้อมวงหารือกับแพทย์ 5 คนระดับปรมาจารย์ ประกอบด้วย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร อดีต รมว.สาธารณสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตอธิการบดีมหาลัยมหิดล อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิต ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคม ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา มาเป็นทีมตัวช่วย

แทบทุกมาตรการ ตกผลึกจากวงประชุมนั้น 6 ด้าน อาทิ ด้านสาธารณสุข ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน ด้านข้อมูล การชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน ด้านมาตรการป้องกัน ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา

ออกมาสู้ในภาวะสงครามโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 11-15 เม.ย. และมาตรการอื่น ๆ พ่วงเข้ามา เช่น ปิดมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชาและสถานศึกษาทุกสถาบัน ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 63 เป็นระยะเวลา 14 วัน

ปิดสถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ พื้นที่ กทม. ปริมณฑล ชั่วคราว 14 วัน

ปิดสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เช่น จัดคอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา

ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกัน เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งลดความแออัด และยังเพิ่มความถี่การเดินรถขนส่งสาธารณะ เพื่อลดความแออัด

งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงาน เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกัน จำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว

ให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และทำงานที่บ้าน

แล้ว 18 มี.ค. “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ลงนามคำสั่งตั้ง “หมอปิยะสกล” และ “หมออุดม” ร่วมทีมเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 46/2563

“นพ.ปิยะสกล” กลายเป็น “ข้อต่อ” ที่สำคัญยิ่ง ในการดึง ผู้ทรงคุณวุฒิ-ลูกศิษย์ลูกหา ในวงการแพทย์มาร่วม ขีดวง-หามาตรการคุมโควิด-19 ไม่ให้ระบาดไปทั่วประเทศ มาร่วมรับฟังความคิดเห็น-ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลในช่วงบ่ายของวันที่ 19 มี.ค.ในวันรุ่งขึ้น

ทีมนักรบเสื้อกาวน์ที่มาร่วมประชุมในวันนั้น อาทิ นพ.ปิยะมิตร ศณีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.สุทธิพงษ์ วัชระสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.อิทธพร คณธเจริญ เลขาธิการแพทยสภา นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค

แม้ในวันที่องคาพยพฝ่ายรัฐบาลกำลังมีปัญหาด้านการ “สื่อสาร” ในภาวะวิกฤต มีเสียงไม่พอใจทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์

แต่ยังมี “ศ.นพ.ยง” ใช้ประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาว ที่เคยสู้กับไวรัสเมอร์ส ซาร์ส ไข้หวัดนก ร่วมอยู่ในขั้นวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ให้ข้อมูล -สื่อสารกับประชาชนแบบเข้าใจง่าย ตอบทุกคำถามทั้งในโซเชียลมีเดีย และในการแถลงข่าว

โดยมีลูกศิษย์ “นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ” ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข อยู่เคียงข้าง คอยชงคำถาม กำหนด “วาระ” บนเวทีแถลงศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในสิ่งที่ชาวบ้านทั่วไปควรรู้เกี่ยวกับการป้องกัน การรับมือไวรัสโควิด-19

วอร์รูมนักรบเสื้อกาวน์ ถูกเปรียบเป็นเหล่าอเวนเจอร์ ช่วยรัฐบาลสู้ในสงครามไวรัสที่กำลังเริ่มเข้าสู่เฟส 3 ระบาดภายในประเทศ