“กู้ฉุกเฉิน” สูงสุดในประวัติศาสตร์ แพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจ “บิ๊กตู่” ไร้แนวต้าน

รายงานพิเศษ

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สร้างความหายนะทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล ทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี”63 ประชิดแดนลบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ต้องปั๊มชีพจรเศรษฐกิจกว่า 2 ล้านล้านบาท จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ และการทบทวนงบประมาณปี”63-64

1.ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท 2.ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูแลภาคธุรกิจ (soft loan) วงเงิน 500,000 ล้านบาท 3.ร่าง พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพการเงิน วงเงิน 400,000 ล้านบาท

และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 เบื้องต้น 80,000-100,000 ล้านบาท โดยเข้าสู่สภา มิ.ย. และทบทวนร่าง พ.ร.บ.งบฯรายจ่ายประจำปี”64

อัดฉีดลอตแรก 6 แสนล้าน

“อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง ออกมารับหน้าสื่อว่า วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไม่ใช่การกู้ทันทีครั้งเดียว แต่เป็นการทยอยกู้ และต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะ หรือ 57% (ไม่เกิน 60%) อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง

คาดว่ามีผลบังคับใช้ เม.ย. กู้เงินได้ต้น พ.ค. แหล่งที่มาเงินกู้สกุลบาทเป็นหลัก ระยะเวลากู้ภายใน 30 ก.ย. 64 หรือ 1 ปี 6 เดือน

กู้เงินลอตแรก 6 แสนล้านบาท เพื่อ 1.เยียวยาแรงงานนอกระบบ-อาชีพอิสระรายละ 5,000 บาท 3 เดือน หรือ

15,000 บาท จำนวน 9 ล้านคน ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาเยียวยาออกไปเป็น 6 เดือน 2.เยียวยาเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือน และ 3.ดูแลด้านสาธารณสุข

“วาระซ้อนเร้น” ถูกเขี่ย-จับตามอง จากพรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ถึงการผลักดันการกู้เงินฉุกเฉินครั้งนี้ เป็นกระสุนทางการเมือง-ตุนคะแนนนิยม ในยามผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 หากมีการยุบสภา-เลือกตั้งใหม่หรือไม่

โดยเฉพาะ “เงินกู้ลอตสอง” วงเงิน 4 แสนล้าน สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ครอบคลุมโครงการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ 1.สนับสนุน-สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน 2.สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่

ปลุกเศรษฐกิจท้องถิ่น 4 แสนล้าน

“อุตตม” อธิบายความเร่งด่วน-ฉุกเฉินว่า “ต้องดูแลให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ประชาชนจำนวนมากกลับไปในพื้นที่ ต้องสร้างงาน สร้างอาชีพตั้งแต่ตอนนี้ และระยะต่อไปชุมชนต้องเข้มแข็ง เพราะเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจ”

“แม้จะไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงเมื่อไหร่ แต่เศรษฐกิจต้องมีความพร้อมเดินหน้า มีชุดมาตรการ แผนงาน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก อุตสาหกรรมและบริการ”

“วันนี้เศรษฐกิจกระทบทั้งระบบ กำลังซื้อในประเทศหดหาย ผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก วิสาหกิจชุมชนได้รับผลกระทบ ต้องเติมสภาพคล่องเพื่อหล่อเลี้ยง ชุมชนดูแลตัวเองได้”

เม็ดเงิน 4 แสนล้านบาท จะถูกกระจายลงชุมชน-ชนบท โดยผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย ที่มี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นเสนาบดี

มี “ตัวช่วย” เป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่มี “เสี่ยเปิ้ล” นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการป้ายแดง-เด็กในคาถา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ธนาคารออมสินที่มี “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่นายสมคิดชมไม่ขาดปากว่า เป็น “คนหัวแหลม” และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

รวมถึงการดึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่-องค์กรพัฒนาชุมชนมาเป็นพันธมิตร

3.5 แสนล้าน ป้องมหาอุทกภัย

ไม่มีใครกล้าตั้งข้อสงสัย-ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ” ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่ที่นักการเมืองที่มีประสบการณ์บริหารประเทศ ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์-เพื่อไทย หรือมือที่ไม่เคยบริหารอย่างพรรคก้าวไกล เป็นห่วง คือ เม็ดเงิน 4 แสนล้าน อันเป็นงบฯพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ จะตกไปถึงคนหาเช้ากินค่ำ ได้หรือไม่

แต่ทว่าในอดีต มีร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ที่เคยถูกตีตก-ตกหลุมอากาศ ในยุคการเมืองสีเสื้อมาแล้ว แต่ถ้าเป็นกฎหมายกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ไม่มีฉบับไหนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญขัดขวาง

ย้อนไปใน “ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์” จากภัยพิบัติ “มหาอุทกภัย” ปี”54 ออกร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2552 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” ว่า การตรา พ.ร.ก. เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

“ปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศ มีผลกระทบต่อทรัพย์สินของประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยตรงอย่างรุนแรง”

แม้รัฐบาลมี พ.ร.บ.งบประมาณปี”55 เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูบูรณะประเทศ โดยเฉพาะการตั้งงบฯกลาง 120,000 ล้านบาท และเงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน 66,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าไปแล้ว

อีกทั้งจะให้รัฐบาลเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณอีก 150,000 ล้านบาท ไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ก็ไม่สามารถกระทำได้เพราะล่วงเลยระยะเวลาที่หน่วยงานต้องส่งคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณและเกินกรอบวงเงิน

หรือจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี”55 (เพิ่มเติม) ซึ่งใช้ระยะเวลาพิจารณาค่อนข้างนาน ไม่ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ในปี 2556 อาจเกิดวิกฤตมหาอุทกภัยขึ้นอีก

“การที่รัฐบาลจัดให้มีการดำเนินการเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพของประชาชน และผู้ลงทุนที่อยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ และเป็นการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้”

ล้างพิษต้มยำกุ้งโดยสุจริต

นอกจากนี้ ยังมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า การตรา พ.ร.ก.กำหนดปรับปรุงการบริการหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 เพื่อ “ล้างพิษ” วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี”40

“เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

รัฐบาลสามารถนำเงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ประมาณปีละกว่า 60,000 ล้านบาท มาดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนรวม

ถึงแม้ผู้แทนนายกรัฐมนตรีในฐานะ ครม.จะแถลงรับว่า ไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเมืองที่จะตรา พ.ร.ก.ในระหว่างปิดสมัยประชุมรัฐสภาก็ตาม

“แต่ก็ได้ให้เหตุผลว่า ต้องรอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องศึกษาและกำหนดรายละเอียดในการจัดทำโครงการก่อน เสร็จแล้วจึงเสนอ ครม. ซึ่งน่าจะแสดงความสุจริตได้ มิได้อาศัยโอกาสที่อาจอ้างเหตุผลทางการเมืองได้แต่อย่างใด”

ตีตกกู้เงิน 2 ล้านล้าน

แต่ในยุคยิ่งลักษณ์ ศาลรัฐธรรมนูญเคย “ตีตก” ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. ตราโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

“ร่าง พ.ร.บ.นี้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวนมากถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของแผนงาน โครงการที่จะใช้จ่ายเงิน การวางแผนการเงิน การจัดหารายได้เพื่อชดใช้หนี้ การกำกับการใช้จ่ายเงิน”

อีกทั้งเป็นการสร้างภาระผูกพันทางการเงินแก่ประเทศเป็นจำนวนมหาศาล และเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีหลักประกันความเสี่ยงภัยทางการเงินการคลัง และระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเพียงพอ

คำชี้แจงของผู้แทน ครม. และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเห็นว่า อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะร้อยละ 60 ของ GDP ภาระหนี้ในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์

“กรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ หมวด 8 มีความหมายอย่างกว้าง ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเรื่องเพดานหนี้สาธารณะ หรือภาระหนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรักษาวินัยทางการเงินการคลังในด้านอื่นด้วย”

เช่น การใช้จ่ายเงินที่มีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล มีขั้นตอนในการอนุมัติการเบิกจ่ายและการกำกับติดตามที่น่าเชื่อถือ รัดกุมรอบคอบ

ไทยเข้มแข็งฉุกเฉินผ่านฉลุย

“ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์” ภายหลังต้องเผชิญกับวิกฤตการเงิน-แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ได้ออกร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 หรือ “ไทยเข้มแข็ง”

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” ว่า ร่าง พ.ร.ก.ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

ฝ่ายค้านผู้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้รับว่า ประเทศไทยเกิดปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริง แต่เห็นว่ามีวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาอยู่หลายแนวทาง

“อาจชะลอการใช้จ่ายโครงการที่ไม่จำเป็น ตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 เพื่อปรับเพดานวงเงินกู้ให้สูงขึ้น เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.งบฯปี”52 โดยไม่ต้องใช้วิธีการตรา พ.ร.ก.”

ข้อห่วงใยตามหนังสือแถลงเพิ่มเติม ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2552 ที่เห็นว่า

“หากให้รัฐบาลตรา พ.ร.ก.ขอกู้เงินในระหว่างที่ปีงบประมาณยังเหลือเวลาอีกนาน โดยให้เหตุผลว่า มีข้อจำกัดบางประการทางด้านกฎหมาย จะเป็นช่องทางให้รัฐบาลนี้ และรัฐบาลต่อ ๆ ไป ตรา พ.ร.ก.กู้เงินเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด” นั้น

ศาลได้พิจารณาประเด็นความห่วงใยดังกล่าวแล้วเห็นว่า หากเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ มิได้เกิดวิกฤตการณ์ใด ๆ ที่กระทบถึงความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจที่จะตรา พ.ร.ก.ได้อยู่แล้ว

“แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก และมีผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย จึงมีเหตุผลเพียงพอที่รัฐบาลจะตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวได้”

การที่คณะรัฐมนตรีตรา พ.ร.ก.ขึ้นมา เพื่อให้ภาครัฐในฐานะที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะช่วยสร้างกำลังซื้ออย่างเร่งด่วนในระบบในช่วงที่กำลังซื้อจากต่างประเทศและในประเทศหดตัวลง จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก

จำเป็นต้องรีบดำเนินการมาตรการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาก่อนที่ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจจะลุกลามไปในทุกภาคส่วน

“เมื่อพิจารณาถึงสภาพปัญหาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ทุกเหตุปัจจัยส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ จนรัฐบาลต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขวิกฤตนั้น”

จึงยังไม่มีมูลกรณีให้เห็นว่า ครม.ได้ตรา พ.ร.ก.ขึ้นมาโดยไม่สุจริต หรือใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญ