“ประยุทธ์” ชู เศรษฐกิจพอเพียงกู้วิกฤตโควิด ชงตั้งกองทุน 13.3 ล้านเหรียญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลง ว่า ท่านประธาน ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และ ฯพณฯ ทั้งหลาย ก่อนอื่น ผมขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก ที่จัดการประชุมผ่านระบบทางไกลในวันนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และขอแสดงความชื่นชมเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนปี 2563 ที่มีบทบาทนำในการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนในการตอบสนองต่อโควิด-19 อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ขอต้อนรับตัน ซรี ดาโตะ ฮาจี มุฮ์ยิดดิน บิน ฮาจี โมฮัมมัด ยัซซิน ท่านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเข้าสู่ครอบครัวอาเซียน

จีดีพีโลกติดลบ 1.5 – 4.7 % – ปท.กำลังพัฒนาสูญรายได้ 2 แสนล้านยูเอ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยมี ผู้ติดเชื้อเกือบ 2 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 1 แสนคน วิกฤตที่พวกเราเผชิญอยู่นี้ นอกจากจะคร่าชีวิตและบั่นทอนสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยสถาบันวิจัยเอกชนชั้นนำอย่างแม็กคินซี่ได้คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีโลกในปีนี้อาจจะติดลบถึงร้อยละ 1.5 และถ้าวิกฤตโควิด-19 ยืดเยื้อต่อไป ก็อาจจะติดลบไปถึงร้อยละ 4.7 ในขณะเดียวกัน ยูเอ็นดีพี ได้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยอาจสูญเสียรายได้กว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

“ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาสำคัญที่เราจะต้องร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดและดึงเส้นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อลงมาไม่ให้เกินขีดความสามารถด้านสาธารณสุขของพวกเราที่จะรองรับ เพื่อป้องกันไม่ให้อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคอีกแห่งหนึ่ง รวมทั้งจะต้องร่วมมือกันหาแนวทางในการบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน”

ในส่วนของสถานการณ์ในประเทศไทย เราพบผู้ป่วยยืนยันจำนวน 2,579 คน มีผู้เสียชีวิต 40 คน และรักษาหายแล้ว 1,288 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการเดินทางมาจากต่างประเทศ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัว และชุมนุมเป็นจำนวนมาก

แจงมาตรการควบคุมโควิด ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลไทยจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 และจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยมีผมเป็นผู้บัญชาการในทุกมิติอย่างเต็มตัว/ มาตรการของประเทศไทยเป็นไปตามหลักของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ.2005 โดยจะให้ความสำคัญกับการรับมือและแก้ไขปัญหาทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
ตั้งแต่ต้นทาง ไทยเน้นควบคุมการเดินทางและการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศจากนอกประเทศถึงสนามบิน ทางบก ทางน้ำ ช่องทางธรรมชาติ บนพื้นฐานของหลักการป้องกันล่วงหน้าโดยไม่ประมาท

สำหรับกลางทาง รัฐบาลไทยได้รณรงค์มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เน้น social distancing เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาด การจัดพื้นที่ควบคุมสังเกตอาการ 14 วัน ทั้งของรัฐบาล ชุมชน ท้องถิ่น การใช้ application ติดตามตรวจสอบ การปิดสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด การให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างโปร่งใส ต่อต้านการเผยแพร่ข่าวเท็จอย่างทันเวลา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ผ่านการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกว่า1 ล้านคนทั่วประเทศ ให้เป็นมดงานหยิบยื่นสุขภาพที่ดีไปถึงหน้าประตูบ้านทุกครัวเรือน ปีนี้ เรางดประเพณีสงกรานต์และการชุมนุมทางศาสนา

และในส่วนของปลายทาง สิ่งที่สำคัญคือการรักษาผู้ป่วย ตลอดจนเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนมูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท (ประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือร้อยละ 10 ของ GDP ของประเทศ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ต้องหยุดงาน การลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค รวมทั้งการใช้มาตรการทางด้านภาษีและการเงิน เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ MSME นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนการวิจัยเชิงรุกเพื่อพัฒนาและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 และการพัฒนาระบบสนับสนุนโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้

ชง กองทุนอาเซียนโควิด 13.3 ล้านเหรียญยูเอส

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และ ฯพณฯ ทั้งหลาย วิกฤตโควิด-19 แสดงให้เห็นชัดว่า ไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามนี้ได้โดยลำพัง ดังนั้น อาเซียนจึงต้องผนึกกำลังกันและส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีภายนอกในด้านต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น/ ในการนี้ ผมขอเสนอ ดังนี้

ประการแรก อาเซียนต้องระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ทั้งในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์ และ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการป้องกัน การติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ การรักษาโรค การรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือ คนชาติอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียนและในประเทศที่สาม

“นอกจากนี้ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุขถือเป็นทัพหน้าของเราในสงครามสู้กับโควิด-19 ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ผมจึงขอเสนอให้อาเซียนและประเทศบวกสามร่วมกันสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยจัดสรรเงินที่มีอยู่แล้วจากกองทุนเพื่อการพัฒนาอาเซียน กองทุนความร่วมมือกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียนบวกสาม ในอัตราร้อยละ 10 (ซึ่งจะมีมูลค่ารวมประมาณ 13.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่าที่สามารถตกลงกันได้ เพื่อมาใช้ในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการจัดหาชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นยาและวัคซีน เพื่อให้อาเซียนสามารถพึ่งพาตนเองได้”

มอบชุด RT-PCR ปท.อาเซียน 1 แสนชุด

เพื่อเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมของอาเซียนในการต่อสู้กับโควิด-19 และเป็นสัญลักษณ์ของการพึ่งพาตนเองของอาเซียนจากการวิจัยและพัฒนาของแต่ละประเทศและที่เราจะร่วมมือกันต่อไปในอนาคต
“ประเทศไทย มีความยินดีขอมอบชุดตรวจชนิด RT-PCR ที่ผลิตเองได้สำเร็จในประเทศจากความร่วมมือของรัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย และผ่านการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในระดับมาตรฐานโลกให้กับทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศละ 10,000 ชุด”

ประการที่สอง อาเซียนควรจะต้องมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และร่วมมือกันในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การผ่านพิธีการศุลกากร และการค้าชายแดนระหว่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคของเราได้เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และสินค้าที่จำเป็นในช่วงวิกฤติอย่างเพียงพอและทันท่วงที

ประการที่สาม วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่จะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนมุมมองในการดำเนินชีวิตของคน และเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางธุรกิจ อีกทั้งยังเปิดมิติใหม่ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาซึ่งควรได้รับการต่อยอด เราจึงควรสนับสนุนการใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ ๆ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนภาคธุรกิจ MSME ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีการจ้างงานจำนวนมาก ให้สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์

โดยปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ให้คำแนะนำและ ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในด้านการผลิตและการค้าผ่านระบบออนไลน์ มีการจัดการเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้า ในต่างประเทศผ่านระบบเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ และการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง ตลอดจนสนับสนุนระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ผมจึงขอเสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งรัดการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และการใช้มาตรฐานรหัสคิวอาร์ที่เชื่อมโยงกันได้ เพื่อช่วยให้การค้าภายในภูมิภาคของเรามีความคล่องตัวมากขึ้น

ชู ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แก้วิกฤต

ประการที่สี่ ผมขอเสนอให้อาเซียนถอดบทเรียนและประสบการณ์จากการต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อหาแนวทางที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข หรือวิกฤตการณ์ ด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ประเทศไทยได้ใช้มาและแสดงให้เห็นว่า สามารถส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน เสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน และมีการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ซึ่งอาเซียนอาจนำมาพิจารณาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจคุกคามต่อประเทศและประชาชนในอนาคต

ประการที่ห้า เราควรเสริมสร้างบทบาทของท่านเลขาธิการอาเซียนในการเป็นผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมถึงสถานการณ์วิกฤตอื่น ๆ เช่น โรคระบาดด้วย/ เพื่อให้อาเซียนสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคตได้อย่างมีระบบ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และเป็นองค์รวม เราควรร่วมกันพิจารณาด้วยว่า ศูนย์ต่าง ๆ ของอาเซียนที่มีอยู่ เช่น ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน และอาฮาร์เซ็นเตอร์ รวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม จะสามารถมีบทบาทร่วมแรง ร่วมใจกันเพื่อเสริมสร้าง “พลังประชารัฐอาเซียน” ในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตได้อย่างไร

“ผมขอย้ำว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 ไม่ควรนำไปสู่ความถดถอยของโลกาภิวัฒน์หรือบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่อาเซียนควรใช้โอกาสนี้มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม โดยเน้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภายในอาเซียนและกับภาคีภายนอกในการแก้ไขปัญหาระดับโลก ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของ ‘ทีมอาเซียน’ วันนี้เราต้องรอด วันหน้าเราต้องเข้มแข็ง”

ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านเลขาธิการอาเซียนที่ได้ช่วยจัดการหารือระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน ผมหวังว่า อาเซียนจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือในเรื่องนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างแท้จริงร่วมกัน
ขอบคุณครับ