“วิษณุ” เรียก ประธานยุทธศาตร์ชาติ 6 คณะ ชี้ “ชัชชาติ” ร่วมแจม ไม่ใช่ปรองดอง

เมื่อวันที่ 30 กันยายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ 6 ด้าน ว่า กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะจะยึดตามประกาศล่าสุดของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อ 29 กันยายน เพราะบางรายชื่อได้ขอถอนตัวเนื่องจากติดภารกิจบางอย่าง ทั้งนี้ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าตนจะได้เชิญประธานและเลขานุการแต่ละคณะมาประชุมวางแผนก่อนการทำงาน จากนั้นแต่ละคณะจะเริ่มทำยุทธศาสตร์ชาติด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้วกลับมาเขียนแผนให้แล้วเสร็จใน 120 วัน คาดว่าจะเสร็จในเดือนมกราคม 2561 ก่อนนำแผนดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และเสนอสภาฯเพื่อพิจารณาเห็นขอบ แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ดังนั้น ประมาณกลางปีหน้า แผนยุทธศาสตร์ชาติจึงจะประกาศใช้ เพื่อนับหนึ่งให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม ทั้งนี้ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี เพื่อติดตาม ดูแล ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อถามถึงรายชื่อในกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมอยู่ด้วยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า นายชัชชาติได้ตอบรับจะเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาตร์ชาติ โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เสนอ แต่นายกฯเป็นผู้พิจารณารายชื่อทั้งหมด โดยทุกคนที่มีรายชื่อในคณะนั้นได้ตอบรับไปหมดแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณการปรองดองแต่อย่างใด หากดูรายชื่อทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หรือคณะกรรมการยุทธศาตร์ชาติก็จะพบว่ามีหลายคนที่เราคาดไม่ถึง

“เราไม่ได้มองในแง่ว่าอยู่ฝ่ายไหน มีความคิดและอุดมการณ์อย่างไร แต่คิดเพียงว่า เขามีเวลาและสามารถจะเข้ามาทำงานได้หรือไม่ ความจริงเราทาบทามมากกว่านี้ บางคนก็รับบางคนก็ไม่รับ เนื่องจากติดภารกิจอื่น การเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสามารถไปดำรงตำแหน่งอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี กรรมการชุดนี้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่หากในอนาคตได้เป็น ส.ส. ส.ว. จริง ก็ควรลาออกจากการเป็นยุทธศาสตร์ชาติ แม้กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่มีความเสี่ยงบางอย่างอยู่” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า เมื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้แล้ว กรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะต้องติดตามการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่อยากจะพูดว่าเป็นการไล่จี้หรือตามบี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามยุทธศาตร์ชาติ กฎหมายระบุว่าให้บอกกล่าวตักเตือนเพื่อให้ทราบว่าทำไม่ถูกต้อง แต่หากยังไม่ฟังก็ต้องร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา ได้แก่ ครม. แต่หากครม.รู้เห็นเป็นใจ ยุยงส่งเสริมไม่ให้ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ก็ต้องเสนอต่อสภา หากสภาเห็นว่าผิดก็จะส่งเรื่องไปยังป.ป.ช.

“การที่มีภาคเอกชนรวมอยู่ด้วย เราไม่ได้ตั้งใจจะระดมทุนหรือเข้าหากลุ่มทุน แต่เราต้องการความหลากหลาย จะเห็นว่ามีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โดยคนเหล่านี้มียุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ในการทำงาน จึงควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่หากสุดท้าย หน้าตาของยุทธศาสตร์ชาติออกมาไม่ดี ก็ยังมีครม.และสภา ช่วยสกรีนปรับแก้ ย้ำว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แก้ไขได้ แต่กระบวนการแก้ไขจะต้องทำเช่นเดียวกันกับที่ร่างมา” นายวิษณุ กล่าว

 

ที่มา  มติชนออนไลน์