จับตา “บิ๊กตู่”ถก”ทรัมป์”ปมการค้ายันปัญหาเกาหลีเหนือ

จับตา “ตู่” พบ “ทรัมป์” ไทยเตรียมสารพัดเรื่องเจรจาตั้งแต่การค้ายันการเมือง มอบกระทรวงพาณิชย์สรุปประเด็นปัญหาอุปสรรคการค้า อาศัยรายงาน NTE เป็นแนวทางแก้ข้อกล่าวหา สะสางสหรัฐขาดดุลการค้าไทย ทรัพย์สินทางปัญญา ไปจนกระทั่งเรื่องหมู หวั่น “ทรัมป์” ดึงไทยเข้าพวกต้านเกาหลีเหนือ ยึดมติยูเอ็นคว่ำบาตรส่งออกน้ำมัน-สิ่งทอ “แลก” สหรัฐผ่อนคลายนำเข้าสินค้าไทย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย จะเข้าพบและหารือกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเดินทางเยือนสหรัฐระหว่าง 2-4 ตุลาคมนี้ ซึ่งถือเป็นการเดิน ทางในฐานะ “แขก” ครั้งแรกของสหรัฐหลังเกิดรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ผู้นำทั้งสองมีกำหนดพบกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ที่ทำเนียบขาว

สำหรับเรื่องที่จะหยิบยกขึ้นมาหารือมีทั้งเรื่องความ มั่นคง การเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และปัญหาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ

กรมเจรจาฯเตรียมเรื่องการค้า

สำหรับ ประเด็นด้านเศรษฐกิจนั้น ฝ่ายไทยเตรียมสรุปความคืบหน้าการเจรจาภายใต้กรอบ ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐ (TIFA) หลังจากสหรัฐเผยแพร่รายงาน National Trade Estimate (NTE) ประจำปี 2560 กล่าวหาอุปสรรคที่เกิดจากรัฐบาลไทยต่อการค้าของสหรัฐใน 9 ประเด็น รวมไปถึงกรณีที่สหรัฐ “ขาดดุล”

การค้าไทยถึง 18,920 ล้านเหรียญ ซึ่งประเด็นนี้ฝ่ายไทยได้ส่งรายงานชี้แจงไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงความเป็นคู่ค้าสำคัญที่มีต่อกันอย่างยาวนาน ขณะที่นักลงทุนสหรัฐก็เข้ามาลงทุนในไทยสูงมากในแต่ละปี ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องการสร้างความร่วมมือในรูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ (Strategic Partnership)

ทั้งนี้ การได้ดุลการค้าสหรัฐ ถือเป็นเรื่องที่ทรัมป์ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ หลังเข้ารับตำแหน่ง ในรายละเอียดพบว่าเป็นการขาดดุลจากการนำเข้าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ประมาณ4,000-5,000 ล้านเหรียญ ที่เหลืออีก14,000 ล้านเหรียญ เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกจากการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนสหรัฐ(FDI)คิดเป็น สัดส่วน 60% ที่เหลือเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยรับจ้างผลิต (OEM) 30-40%

ส่วน ข้อกล่าวหาของสหรัฐที่ปรากฏอยู่ในรายงาน NTE ใน 9 ประเด็น ประกอบด้วย 1) อุปสรรคด้านเทคนิค/อุปสรรคด้านสุขอนามัย เช่น ฉลากเหล้า ความพยายามในการแก้ปัญหาที่ไทยห้ามนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง, เนื้อวัวและผลิตภัณฑ์นม ปัญหากฎหมายห้ามโฆษณาผลิตนมทารก 2) การนำเข้า สหรัฐเป็นห่วงอัตราภาษีที่สูง ปัญหาใบอนุญาตนำเข้า การคุมราคา ภาษีสรรพสามิต และปัญหาการใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ข้าวสาลี

3) การจัดซื้อจัดจ้าง โดยสหรัฐพูดถึงกฎหมายใหม่ที่ออกบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2559 4) ประเด็นการอุดหนุน 4 โครงการตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ได้แก่ รถยนต์ประหยัด พลังงาน, นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการ “ยกเว้น” ภาษี, โครงการรับจำนำข้าวและจำนำยุ้งฉาง และสัมปทานปิโตรเลียม 5) การแก้ไขการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) ที่ยังมีการละเมิดทางออนไลน์และในมือถือเพิ่มขึ้น รวมถึงการจดสิทธิบัตรค้าง

6) อุปสรรคด้านธุรกิจบริการ ในสาขาต่าง ๆ เช่น การเงินการขนส่งสินค้า บัญชี 7) อุปสรรคด้านการลงทุน กฎหมายต่างด้าวและสนธิสัญญาไมตรี

8) อุปสรรคด้านการค้าดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่เพิ่งพูดถึง 9) อุปสรรคด้านอื่น ๆ เช่น การปรับปรุงกฎหมายและการคอร์รัปชั่น กังวลมากและเรื่องการตั้งศาลอาญาทุจริตใหม่ของไทยเมื่อปลาย 2559

“ประเด็นการค้าทั้งหมดได้มอบหมายให้กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบ” แหล่งข่าวกล่าว

สหรัฐพอใจทรัพย์สินปัญญา

ปัญหาอุปสรรคทางการค้า 9 ประเด็นที่สหรัฐกล่าวหาประเทศไทย ตามที่ปรากฏในรายงาน NTE โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไทยถูกจัดสถานะให้เป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในขั้นที่ต้อง จับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List หรือ PWL) ติดต่อกันเป็นปีที่ 11 ปรากฏสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศให้มีการทบทวนสถานะนอกรอบ (Out of Cycle Review : OCR) กับไทยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาด้วย

นาย ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การทบทวนสถานะนอกรอบ OCR ของ USTR ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนของสหรัฐ (ภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2560) หลังจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะจัดทำรายงานความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามการ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อสำนักงาน USTR เกี่ยวกับความเห็นของเอกชนสหรัฐรวมถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการป้องกัน และปราบปราม โดยเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มี กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพ

“บรรยากาศโดยรวมด้าน IP ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขการจับกุมที่เพิ่มขึ้น แต่มองถึงแหล่งจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาลดลงด้วย ส่งผลให้เอกชนสหรัฐ เช่น MPA ซอฟต์แวร์ พอใจการดำเนินงานของไทย ส่วนการแก้ไขปัญหาการจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ค้าง ขณะนี้แก้ไขให้เร็วขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2560 สามารถรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเพิ่มจาก 2,000 คำขอต่อปี เป็น 6,400 คำขอต่อปี”

จุดพลุห้ามหมูสหรัฐเข้า ปท.

ส่วน ประเด็นข้อเรียกร้องของสหรัฐให้ฝ่ายไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมู ซึ่งปรากฏอยู่ในหัวข้ออุปสรรคทางด้านเทคนิคและสุขอนามัยในรายงาน NTE นั้น “ไม่ใช่ข้อเรียกร้องใหม่” เพียงแต่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงนี้ โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกังวลว่า สหรัฐอาจจะผลักดันให้มีการเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูในไทย ช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนสหรัฐ ซึ่งประเด็นนี้จะต้องมีการพิจารณาใน 3 มิติ คือ 1) ไทยเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งมีเจตนารมณ์เปิดเสรี ลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างสมาชิก จึงไม่สามารถให้เหตุผลเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของประเทศหรือ กีดกันสินค้าจากประเทศอื่นได้

2) ไทยสามารถกำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศได้ หากพิจารณาแล้วพบว่า สินค้าดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่การตัดสินใจกรณีการเปิดเสรีนำเข้าเนื้อหมู ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์เพียงหน่วยงานเดียว ต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) หากสหรัฐยืนยันว่าเนื้อหมูส่งออกได้มาตรฐานอาหารสากล (CODEX) ซึ่งระบุว่า อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะให้ประโยชน์กับประชาชน ได้เช่นกัน

“การเปิดเสรีนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐขณะนี้ยังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการจากกระทรวงเกษตรฯว่าจะดำเนินการอย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว

ทรัมป์หารือเรื่องเกาหลีเหนือ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวถึงประเด็นทางด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศว่า ฝ่ายไทยได้เตรียมท่าทีเกี่ยวกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะหารือแน่ ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายกำลังจับตามองว่า ประเทศในเอเชียจะมีท่าทีอย่างไร

ในส่วนของไทยเป็นประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแนวทางมติสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560ที่มีการคว่ำบาตรการค้ากับเกาหลีเหนือ โดยการจำกัดการส่งออกน้ำมันและห้ามนำเข้า-ส่งออกสิ่งทอกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแนวทางที่สหรัฐเป็นผู้ผลักดันมาตรการนี้