“ประยุทธ์” แก้เศรษฐกิจ 1 ปี จ่าย 1.5 ล้านล้าน ถมแพ็กเกจ “ประชารัฐ”

10 กรกฎาคม 2563 ครบ 1 ปี การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขึ้น ๆ ลง ๆ ทั้งการบริหารเศรษฐกิจและการบริหารการเมืองเสียงระฆังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2 ดังขึ้นเข้าใกล้ยกที่ 10 ไฟต์บังคับต้องปรับ-รื้อทีมเศรษฐกิจ “ทีมสมคิด+4 กุมาร” หลังวิกฤติโควิด-19 “ทีมสมคิด” เป็นทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจหน้าหอตึกไทยคู่ฟ้า ของ พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 365 วัน ได้ออกมาตรการลด-แลก-แจก-แถม เยียวยา-ปั๊มชีพจรเศรษฐกิจ 1,478,151 ล้านบาทดังนี้

ประเดิมกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เฟส

ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ก้าวเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาลได้ออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เฟส วันที่ 20 สิงหาคม 2562 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 (ระยะที่ 1) ประกอบด้วย มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”และ “กองทุนหมู่บ้าน” จำนวน 4 โครงการได้แก่

1.มาตรการพยุงการบริโภคจำนวน 14,607,309 คน ให้ได้รับ “เงินเพิ่มเติม” จำนวน 500 บาท/คน/เดือน รวม 2 เดือน (สิงหาคม-กันยายน 2562) งบประมาณ 14,607 ล้านบาท

2.มาตรการมอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ จำนวน 5 ล้านคน ให้ได้ “รับเบี้ยยังชีพเพิ่มเติม” จำนวน 500 บาท/คน/เดือนรวม 2 เดือน งบประมาณ 5,000 ล้านบาท

3.มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร จำนวน 824,652 ราย ให้ได้รับ “เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม” จำนวน 300 บาท/คน/เดือน รวม 2 เดือน งบประมาณ 494 ล้านบาท

4.มาตรการ “พักชำระหนี้เงินต้น” ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่คงค้างกับสถาบันการเงินจำนวน 50,732 แห่ง

ยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 รวม 67,438 ล้านบาท ระยะเวลา 1 ปี “ไม่ใช้งบประมาณ”

มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2562 และเกษตรกรรายย่อยจำนวน3 โครงการ ได้แก่

1.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีต้นเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท เหลือร้อยละ 0.1 ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี งบประมาณ 11,135 ล้านบาท

2.ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ 2 ปี “ไม่ใช้งบประมาณ” และ 3.สนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 4.31 ล้านครัวเรือน “รับเงินช่วยเหลือ” ไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ งบประมาณ 25,482 ล้านบาทเงิน ชิม ช้อป ใช้ 2.1 หมื่นล้าน

มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ได้แก่

1.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิม ช้อป ใช้” รัฐบาล “แจกเงิน” จำนวน 1,000 บาท/คน จำนวน 10 ล้านคน และชดเชยร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าซื้อสินค้าท้องถิ่นไม่เกิน 4,500 บาท/คน งบประมาณ 19,093 ล้านบาท

2.การยกเว้นการตรวจลงตรา (visa) เพื่อการท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย 1 ปี รัฐสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียม 12,133 ล้านบาท

3.โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ร้อยละ 1 งบประมาณ 10,000 ล้านบาท

4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS 8) โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันงบประมาณ 24,000 ล้านบาท

5.มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน-บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักร 1.5 เท่า 5 รอบบัญชี สูญเสียรายได้ 5,000 ล้านบาท

วันที่ 22 ตุลาคม 2562 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 2 จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่

1. “ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2” งบประมาณ 2,000 ล้านบาท

2. มาตรการลดภาระภาษีเพื่อที่อยู่อาศัย (ไม่เกิน 3 ล้านบาท) สนับสนุนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนเหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.01 สูญเสียรายได้ 2,652 ล้านบาท

3. มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยรัฐบาลชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ย 1,182.18 ล้านบาท

4. มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (front load) ระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 ประกอบด้วย โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่1.โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง) วงเงิน 14,491 ล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย รัฐชดเชยดอกเบี้ย 707 ล้านบาท

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้แก่

1.การอนุมัติของบประมาณเพิ่มเติมตามโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63-“เก็บตก” ไร่ละ 500 บาทงบประมาณ 2,667 ล้านบาท

2.โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 งบประมาณ 26,793 ล้านบาท

มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย-บ้านดีมีดาวน์ โดย ธอส.โอนเงิน 50,000 บาทเข้าบัญชีจำนวน 100,000 ราย งบประมาณ 5,000 ล้านบาทซีพีอาร์ 100 วันโควิด

วันที่ 10 มีนาคม 2563 มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 และระยะที่ 2หมวดลดภาระค่าใช้จ่าย ได้แก่ 1.ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ คืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า วงเงิน 30,000 ล้านบาท และตรึงอัตราค่าไฟ (Ft) วงเงิน 4,534 ล้านบาท

หมวดสนับสนุนการจ้างงาน ได้แก่ 1.จัดสรรงบฯ 2,700 ล้านบาท ดำเนินโครงการจ้างงานประชาชนไม่เกิน 6 เดือน
อัตราจ้างต่อเดือนไม่เกิน 9,000 บาท/เดือน

หมวดแจกเงิน-ชดเชยรายได้ที่หายไปได้แก่ 1.รายละ 5,000 บาท/เดือน3 เดือน (เราไม่ทิ้งกัน) จำนวน 16 ล้านคนงบประมาณ 550,000 ล้านบาท (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) และการเยียวยาเกษตรกร 10 ล้านครัวเรือน และกลุ่มเปราะบาง รายละ 3,000 บาท จำนวน 6.7 ล้านคน รวมถึงงบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท และ 2.อบรมมีเงินใช้วันละ 300 บาท งบประมาณ 4,380 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณอีก 2 ก้อนก้อนที่ 1 พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท และก้อนที่ 2 งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาทโดยเฉพาะในส่วนของ “งบฯกลาง” วงเงิน 614,616 ล้านบาทถมประกันรายได้หมื่นล้าน

ขณะที่โครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 จ่ายชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว ณ เดือนเมษายน 2563 วงเงิน 48,788 ล้านบาท

ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณปรับทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ปี ในฐานะรัฐบาลลูกผสมที่มาจากการเลือกตั้ง “พล.อ.ประยุทธ์” อาจจะยังไม่พอใจฟอร์มการเล่น แถมยกเลิกการประชุม ครม.เศรษฐกิจแบบกะทันหัน

เมื่อถูกนักข่าวถามเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ว่าจะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจหรือไม่ นายกรัฐมนตรีตอบว่า “คณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ถ้าปรับก็ต้องปรับ ครม.เศรษฐกิจด้วย เพราะครม.เศรษฐกิจ มีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และในวันที่ 10 ก.ค.นี้ ผมได้เลื่อนการประชุม ครม.เศรษฐกิจออกไปก่อน แต่จะประชุมที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจทั้งหมดทั้งในและนอกระบบ มาพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นของเขา ว่ามีแนวความคิดอย่างไร ผมถึงจะนำเข้าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ นี่คือการบริหารงานแบบนิวนอร์มอล”