ทหารข้ามห้วยสู่ “เลขาสภาความมั่นคง” ผู้บัญชาการตึกแดงค้ำยัน “ประยุทธ์”

ตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กลายเป็นตำแหน่งความมั่นคงที่มีกองทัพ-นายพล “ผูกขาด” ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในยุครัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งบัญชาการรุก-รับ

เป็นไปได้ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “เวอร์ชั่นนักเลือกตั้ง” เก้าอี้เลขาธิการ สมช. จะ “ไม่ว่างเว้น” ไปจากแม่ทัพ-นายกองในกองทัพ ภายใต้ออปชั่น “นายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล” ยาวนานไปอีก 8 ปี

ฤดูกาลโยกย้ายนายทหารระดับสูง ประจำปี 2563 จึงไม่ใช่เพียงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการฝ่ายทหาร” 4 เหล่าทัพเท่านั้น แต่รวมถึงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการความมั่นคงฝ่ายพลเรือน” หลังจาก “พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา” เตรียมโบกมือลาหลังเกษียณ

การสลับกำลัง-สับเปลี่ยนขุนพล4 กองทัพ จึงไม่ใช่เพียงตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตอำนาจ-กินความไปถึงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ที่มีนายพลเอก-นายพลโท “ข้ามห้วย” ผลัดเปลี่ยน-หมุนเวียนในตำแหน่งนี้

โดยคาดว่าการโยก “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” รอง ผบ.ทบ. (ตท.20) มานั่งเก้าอี้ “ผู้บัญชาการตึกแดง” เพราะบทบาทสำคัญในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ “ศบค.ชุดเล็ก”

“พล.อ.ณัฐพล” เริ่ม “ทดลองงาน” ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มี “พล.อ.สมศักดิ์” เป็นประธาน-พี่เลี้ยง

นอกจากความรู้-ความสามารถของ “พล.อ.ณัฐพล” แล้ว ทำให้การแต่งตั้ง-โยกย้าย ผบ.เหล่าทัพ ลงล็อก-ลงตัว “เปิดทาง” ให้ “พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้” ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ตท.22) ซึ่งมี “อาวุโสน้อยกว่า” ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.-ทายาทบิ๊กแดง

ทั้งนี้ “พล.อ.ณัฐพล” จะเกษียณอายุราชการในปี”64 ส่วน “พล.อ.ณรงค์พันธ์” จะเกษียณอายุราชการในปี”66 ขณะที่ “รองเลขาธิการ สมช.” ที่เป็นลูกหม้อ-พลเรือน ต่อคิว-รอเก้อ ได้แก่ นางศิริวรรณ สุคนธมาน และนายฉัตรชัย บางชวด

นับนิ้วในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1-คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 มีเลขาธิการ สมช. “ข้ามห้วย” จากกระทรวงกลาโหมมาแล้ว 3 คน ได้แก่ 1.พล.อ.ทวีป เนตรนิยม 2.พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และ 3.พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา

ขณะที่ก่อนหน้านี้ที่ลมการเมืองเชี่ยวกราก-นักการเมืองกุมอำนาจ ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. สลับหน้าพลเรือน-นายทหาร ที่มีคอนเน็กชั่นคนการเมือง-เครือญาติ และนักปฏิวัติ

ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การแต่งตั้ง-โยกย้ายเลขาธิการ สมช. เป็นคดีประวัติศาสตร์-คลาสสิกตลอดกาล คือ คดีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” เลขาธิการ สมช. ไป “เข้ากรุ” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ

การโยกย้ายนายถวิล ส่งผลต่อเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และเก้าอี้เลขาธิการ สมช.ในคราวเดียวกัน เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ “สวมหมวกสองใบ” นายกรัฐมนตรี-ประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)

โดยโยก “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” ผบ.ตร.ขณะนั้น ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการ สมช. แทนนายถวิลที่ว่างลง เพื่อสนอง-เสนอชื่อ “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” รอง ผบ.ตร.ขณะนั้น ให้เป็น ผบ.ตร.

“ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียรให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และในวันที่ 19 ต.ค. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธาน ก.ต.ช. ได้เสนอชื่อพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ รอง ผบ.ตร.ที่จะเกษียณอายุราชการ วันที่ 30 ก.ย. 2555 และเป็นเครือญาติของตนเองให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.แทนตำแหน่งที่ว่างลง” ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัย-มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

คดีโยกย้ายถวิลเป็นจุดเปลี่ยน-จุดแตกหักทางการเมืองครั้งสำคัญ รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ในสถานะ “ตกที่นั่งลำบาก” เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ “พ้นทั้งคณะ” และ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดโยกย้ายนายถวิล “โดยมิชอบ”

ในยุค “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ถูกเชื่อมโยงมี “ซูเปอร์คอนเน็กชั่น” กับ “คนแดนไกล” สมัย “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายตำรวจติดตาม-เลขานุการ “ปรีดา พัฒนถาบุตร” อดีต ส.ส.เชียงใหม่-รัฐมนตรีหลายสมัย “ผู้มีศักดิ์เป็นอา”

แต่ในความเป็นจริงแล้วสายสัมพันธ์ “พัฒนถาบุตร-ชินวัตร” แนบแน่นลึกล้ำ ตั้งแต่ “รุ่นพ่อ” พล.ท.กอบกุล พัฒนถาบุตร-นายเลิศ ชินวัตร

ขณะที่ในยุคนักปฏิวัติ-คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) “พล.อ.วินัย ภัททิยกุล” ควบทั้งเลขาธิการ สมช.-เลขาธิการ คมช. สายสัมพันธ์กับแผงอำนาจคณะปฏิวัติ-เตรียมทหารรุ่นที่ 6 ยกแผง

เป็นคอหอยกับลูกกระเดือกกองทัพ-รัฐบาลขิงแก่