1 ปี ประชาธิปัตย์ในรัฐบาล รัชดา : แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจุดยืนของพรรค

สัมภาษณ์พิเศษ
โดย ปิยะ สารสุวรรณ

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2 เป็นการปักหมุด-เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บนความท้าทายปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจหลังโควิด-19

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคการเมือง 1 ใน ลูกเรือแป๊ะ หลังฝ่ามรสุมศึกในพรรค-เกมเขย่าเก้าอี้รัฐมนตรีสีฟ้าไม่สำเร็จและต้อง “เลื่อนออกไปก่อน”

หลังจากการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ผ่านพ้นไป ประชาธิปัตย์พักรบ “ศึกใน” พรรค แต่ต้องผจญกับ “ศึกนอก” คือ กระแสเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไข การเข้าร่วมรัฐบาล

รัฐธรรมนูญ คือ จุดเปลี่ยน

“รัชดา ธนาดิเรก” กรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น “จุดยืน” ของประชาธิปัตย์ตั้งแต่วันแรกที่เข้าร่วมรัฐบาล จนถึงวันที่ 7 รัฐมนตรีของพรรคยังไม่ถูกปรับออก

“ชั่วโมงนี้รัฐบาลเห็นด้วยที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งความเห็นที่มาจากกลุ่มนักเรียน นิสิตและนักศึกษา และกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทาง หลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของสภาผู้แทนราษฎร”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค และเป็นสิ่งที่พรรคได้แสดงออกถึงการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในช่วงการทำประชามติ

จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของการออกแบบระบอบกฎหมายสูงสุด ที่ทุกฝ่ายยอมรับ จุดยืนของพรรค คือ การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 คือ สิ่งที่เราได้เสนอไป เพราะถือเป็นการเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พร้อมรับฟังข้อสรุป กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

ในฐานะพรรค 53 เสียง เป็นพรรคร่วมรัฐบาล อันดับ 3 การลงเรือลำเดียวกันกับรัฐนาวาประยุทธ์ 1 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ ยังเป็นคำถามว่า การร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ เกิดประโยชน์ทางการเมือง-ในทางเศรษฐกิจตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ เป็นความชอบธรรมที่จะได้ไปต่อ ?

“รัชดา” บอกว่า จากผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ประชาชนจำนวนมากอยากให้เรามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศ และเสียงสะท้อนจาก สมาชิก ส.ส. เห็นว่า การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเป็นโอกาสที่พรรคจะได้ขับเคลื่อนนโยบาย

“เรามั่นใจว่า เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองอย่างแท้จริง 1 ปีที่ผ่านมาเราก็ทำได้ตามสัญญา ส่วนเรื่องการตรวจสอบ การให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคให้ ส.ส.ได้แสดงออกได้เต็มที่ในพื้นที่สภา”

สำหรับการชิงผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หนทางรอด-หนทางเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะกอบกู้พื้นที่ กทม. หลังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ส.ส.กทม.ปชป. “สูญพันธุ์” ได้ทาบทาม-เทียบเชิญไว้หลายคน แต่ “อุบไต๋” ไว้ก่อน

“ต้องได้คนที่เจ๋งด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่อยากเปิดตัว การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ขึ้นอยู่กับกระแส เพราะการหาเสียงใน กทม.ไม่ต้องใช้เวลานาน ถ้าได้บิ๊กเนมมาจบเลย”

1 ปีในตำแหน่งโทรโข่งรัฐบาล

ครม.ประยุทธ์ เดินทางมาครบรอบ 1 ปี และเป็น 1 ปีในการทำงานตำแหน่ง “รองโฆษกรัฐบาล” ผ่านเรื่องราวครบรส

เธอยอมรับว่าในระดับปกติย่อมมีปัญหาบ้าง ทัวร์ลงก็เยอะ ต้องเรียนรู้กันไปที่จะอยู่ในสภาวะที่สังคมมีความแตกต่างทางความคิดอย่างมาก และมีการแสดงออกทางคำพูดที่รุนแรง แต่เชื่อมั่นว่า ถ้าเราได้ทบทวนสิ่งที่เราทำมา เราก็จะทำงานได้ดีกว่าเดิม

“รัชดา” ในฐานะตัวแทน กทม. (ส.ส.สอบตก) ยอมรับว่าการบริหารกระแสให้แข็งแรง-ยั่งยืนบนถนนการเมืองหลังจากนี้ยังต้องใช้ฝีมือ-ความจริงใจเป็นหลัก

การเมืองเรื่องการทำพื้นที่ ถ้ามีเงินเนรมิตทุกอย่างได้หมด ง่ายมาก มีเงินก็ทำได้ แต่ถ้าไม่มีก็จบ จึงเป็นความยากลำบากของพรรคประชาธิปัตย์

“ต้องอดทน เหนื่อยนะ ในยุคนี้ ถ้าไม่สร้างภาพสุด ๆ ก็ต้องใช้เงินสุด ๆ หรือไม่ก็ต้องมีพวกหนุนสุด ๆ ถ้าเราไม่สุด ๆ ใน 3 เรื่องนี้ล่ะก็โตยาก”

แต่เธอยังมั่นใจว่า การทำการเมืองต้องมาจากใจรัก อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ตามแนวทางที่เรายึดมั่น ไม่วอกแวกระหว่างทาง ความพร้อมเรื่องการเงินก็เป็นปัจจัยสำคัญ ไม่งั้นก็จะไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องรับฟังคำสั่งจากคนอื่น จุดยืนก็จะหาย ความท้าทายของการทำงานการเมืองตอนนี้ ดูเหมือนว่าความตั้งใจกับอุดมการณ์มันไม่ค่อยมีผลอะไร

ในยุคสื่อโซเชียลมีเดีย ต้องใช้ให้เป็น ต้องใช้ให้สุด ทำพื้นที่ก็ต้องใช้เงิน ทำให้หมดเวลาไปกับการคิดเรื่องฉาบฉวย มากกว่าสาระจริง ๆ ทำให้ความจริงใจ เนื้อแท้ของเราถูกเจือไปด้วยสิ่งตรงนี้มากขึ้น

“การลงพื้นที่ โพสต์ลงสื่อโซเชียลและมีสื่อกระแสหลักมาขยายผล ถือว่าเวิร์กที่สุด แต่ในความเป็นจริงใช้ไม่ได้กับทุกคน ลงไปก็แป้ก ไม่มีคนสนใจ แต่บางคนแค่ยืนเฉย ๆ ก็มีคนไปขยายต่อ ทั้งที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย นี่คือความยาก”

เราโชคดี ถึงแม้จะไม่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่เหมือนคนอื่น แต่เราได้รับการยอมรับและให้โอกาสเสมอ เพียงแต่เราไม่ได้ทะเยอทะยาน

ไม่มีความทะเยอทะยาน

“รัชดา” ยอมรับว่า ปัญหาของเธอ คือไม่มีความทะเยอทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่มากนัก แต่อยากทำนั่นทำนี่มากกว่า การได้อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า การเมืองคือการสะสมความดีงาม จังหวะ คือ เวลาของเรา เช่น ตอนเข้าไปเป็น ส.ส.สมัยแรกจะเข้าไปเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณเลยไม่ได้นะ

สมัยนี้ เป็น ส.ส.สมัยแรกก็เป็น กมธ.งบฯแล้ว เป็น กมธ.ชุดอื่น ๆ มากมาย ไม่เหมือนยุคที่เราเข้ามา ที่มีผู้ใหญ่ มีผู้อาวุโสจำนวนมาก แต่เราก็ภูมิใจที่เข้ามาในระบบในช่วงนั้น

เราได้เป็นลูกศิษย์ของท่านชวน หลีกภัย และผู้อาวุโสคนอื่น ๆ เพราะท่านจะสอน และไม่ฮึกเหิมจนเกินไปให้เป็นไปตามขั้น รู้ว่าจังหวะใดเหมาะสม

“รัชดา” เล่าประสบการณ์ทางการเมืองยุคฝ่ายค้าน เมื่อครั้งจะลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ขณะเป็น รมว.มหาดไทย

“เราจะอภิปรายปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ท่านสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เรียกเลย ใครจะอภิปรายคุณเฉลิมต้องมาทำการบ้าน จะเขียนอะไรมาให้ดูก่อน”

พอถึงเวลา เราเป็น 4 คนสุดท้ายที่จะขึ้นอภิปราย ผู้ใหญ่ก็มาขอว่า ขอเวลาให้ท่านสุเทพนะ เพราะท่านจะพูดเยอะ เราก็ OK พอเราไม่อภิปราย ท่านพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ก็เดินมา บอกว่า อาดีใจนะที่หนูไม่ขึ้นอภิปราย เพราะหนูจะเจ็บตัว มันไวเกินไปที่จะไปสอยรัฐมนตรีเฉลิม เพราะถึงเวลาเขาจะไม่เอ็นดูหนูหรอก หนูจะช้ำ เราถูกสอนมาว่า ทำตัวให้ดี ประคองตัวไว้ แต่ไม่ใช่ให้เก็บตัว เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์และผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่

พรรคเก่าแก่ถูกดิสรัปชั่น

เธอยอมรับว่า ในสถานการณ์ข้างหน้านักการเมืองจะถูก “ดิสรัปต์” จาก “คนรุ่นใหม่” ถ้าประชาธิปัตย์ไม่มีคนใหม่ไว้พูดกับคนรุ่นใหม่จะขาดข้อต่อ

ถูกต้องค่ะ เป็นสิ่งที่ต้องปรับ ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนก็ตามเติบโตในวิถีการทำงานแบบประชาธิปัตย์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และอยู่จนเก่าแก่ ก็มีโอกาสที่จะต้องเจอปัญหาคล้าย ๆ กับเรา เราต้องปรับนะ ต้องแก้ไขอีกเยอะ

เสียดายครั้งที่แล้ว ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น เราก็จะมีไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) พรหม (พรพรหม วิกิตเศรษฐ์) หมอเอ้ก (นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์) จะมีคนเหล่านี้มากขึ้น บรรยากาศจะเปลี่ยนไป เราจะเป็นพรรคที่มีทุกรุ่น