ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ติดดาบกฎหมายโรคติดต่อฉบับใหม่

(Photo by Romeo GACAD / AFP)

การขยายการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกไปถึง 5 ครั้ง เพื่อป้องกัน-ระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ตลอดจนถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปโดยไม่มีกำหนด

ล่าสุด กรมควบคุมโรคติดต่อได้ “เปิดรับฟังความคิดเห็น” ต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ  พ.ศ.2558 และประเด็นของร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม – 1 กันยายน 2563

@ อุดช่องโหว่พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

ประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นต่อพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ลงนามโดย นายธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงหลักการ-เหตุผลว่า

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีแนวโน้มที่จะดำเนินการต่อไปเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ หากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย่อมส่งผลให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งตามพ.ร.ก.ดังกล่าวถูกยกเลิกตามไปด้วย ซึ่งมาตรการทางกฎหมายตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิ์ภาพ”

ประกาศดังกล่าวยังระบุถึงความจำเป็นของการแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อให้สามารถป้องกัน-ระงับยับยั้ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เมื่อต้องยกเลิกการประกาศบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

1.ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือ กรณีโรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาดได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หรือ กว้างขวาง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มิได้มีบทบัญญัติกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ หรือ มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาดได้อย่างเหมาะสม ทันสถานการณ์ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

2.ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือ กรณีที่โรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาดได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หรือ กว้างขวาง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อต้องดำเนินการสอบสวนโรคก่อนดำเนินการ หรือ ออกคำสั่งตามมาตรา 34 ทำให้การป้องกันและควบคุมโรคเกิดความล่าช้า ไม่ทันการณ์ และไม่มีประสิทธิภาพ

3.พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดระบบ หรือ กลไกในการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือ กรณีที่โรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาดได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หรือ กว้างขวาง

@ บังคับสวมหน้ากาก-ใบรับรองแพทย์-กักตัว

นอกจากนี้ ประกาศกรมควบคุมโรค อีกฉบับหนึ่ง-เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นของร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ระบุประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ควรบัญญัติเป็นกฎหมายเพื่อนำมาใช้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด ดังนี้

1.การให้ราชการบริหารส่วนกลางมีอำนาจในการออกประกาศ หรือ คำสั่งเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาดได้อย่างเหมาะสมและตามความจำเป็น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ของโรค

ทั้งกรณีทั่วราชอาณาจักร หรือ เฉพาะบางพื้นที่ เช่น การกำหนดให้บุคคลที่จะเข้าไปในสถานที่สาธารณะของพื้นที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออย่างกว้างขวางต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า

2.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือ เงื่อนไขของผู้เดินทางในการเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือ ควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาดมิให้มีการแพร่ระบาดในราชอาณาจักร เช่น การกำหนดให้ผู้เดินทางต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่า ผู้เดินทางดังกล่าวไม่มีเชื้อโรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาด

3.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือ เงื่อนไขของสถานที่ ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อใช้สำหรับแยกกัก หรือ กักกันผู้ที่เป็น หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นโรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาด เช่น ประเภทของสถานที่ หรือ ลักษณะ หรือ มาตรฐานของสถานที่สำหรับเป็นที่แยกกัก หรือ กักกันผู้ที่เป็น หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นโรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาด

@ ติดแอปฯตามตัว-เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

4.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือ เงื่อนไขในการกำกับดูแล การได้มา การเข้าถึงการเก็บรักษา การนำไปใช้ หรือ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด เช่น การให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่น หรือ การใช้ระบบติดตามอาการของผู้ที่เป็น หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด

5.กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ หรือ มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาดได้อย่างเหมาะสม ทันสถานการณ์ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

6.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีคำสั่งให้แยกกัก กักกัน หรือ คุมไว้สังเกต เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับบุคคลตามมาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการใช้สถานที่เพื่อใช้แยกกัก หรือ กักกัน ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดสถานที่ หรือ ยานพาหนะ

7.การกำหนดให้บุคคลที่พบว่าตนเป็น หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด มีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เช่นเดียวกับบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

@ ประชาพิจารณ์ 13 ปม 

สำหรับผลการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นต่อกฎหมายพ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 13 ประเด็น ประเด็นที่ 1 การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการกำกับดูแล การได้มา การเข้าถึง การเก็บรักษา การนำไปใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด เช่น การให้ติดตั้งแอปพลิเคชันหรือการใช้ระบบติดตามอาการของผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือการให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด เห็นด้วย 31 คิดเป็นร้อยละ 86 ไม่เห็นด้วย 1 คิดเป็นร้อยละ 3 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 4 คิดเป็นร้อยละ 11

ประเด็นที่ 2 การกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจ ดังนี้ 1 สั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้อย่างเหมาะสม ทันสถานการณ์ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

  1. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขของสถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ใช้สำหรับแยกกักหรือกักกันผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด เช่น ประเภทของสถานที่ หรือลักษณะหรือมาตรฐานของสถานที่สำหรับเป็นที่แยกกักหรือกักกันผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด
  2. กำหนดนโยบาย ระบบ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อการควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด เช่น การบริหารจัดการวัคซีนที่ใช้สำหรับป้องกันโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด

เห็นด้วย 31 คิดเป็นร้อยละ 86 ไม่เห็นด้วย 3 คิดเป็นร้อยละ 8 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ความคิดเห็น 1.ในประเด็นเรื่องการสั่งการ จังหวัดหรือ กทม ต้องทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว สิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องการน่าจะเป็นเรื่องการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามามีส่วนร่วมตามกฎหมายอย่างไร และ 2. น่าจะมีคณะกรรมการระดับอำเภอด้วย

ประเด็นที่ 3 การกำหนดให้บุคคลที่พบว่าตนเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด มีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เช่นเดียวกับบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เห็นด้วย 32 คิดเป็นร้อยละ 89 ไม่เห็นด้วย 1 คิดเป็นร้อยละ 3 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 3 คิดเป็นร้อยละ 8

@ คนไทยรัฐจ่าย-ต่างชาติจ่ายเอง 

ประเด็นที่ 4 การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีคำสั่งให้แยกกัก กันกัน หรือคุมไว้สังเกตเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับบุคคลตามมาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการใช้สถานที่เพื่อใช้แยกกักหรือกักกัน ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดสถานที่หรือยานพาหนะ

เห็นด้วย 30 คิดเป็นร้อยละ 83 ไม่เห็นด้วย 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 4 คิดเป็นร้อยละ 11 ความคิดเห็น  1.คนไทยให้รัฐบาลดูแล แต่คนต่างชาติให้เค้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง 2.ควรเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 42 ด้วย เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3.ถ้ามีคำสั่งรัฐควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และ 4.ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ควรเบิกตามสิทธิของบุคคลดังกล่าว

ประเด็นที่ 5 การแยกเรื่องสอบสวนโรคกับเรื่องดำเนินการหรือออกคำสั่งออกจากกัน โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถดำเนินการหรือออกคำสั่งได้ เมื่อเกิดหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดขึ้น โดยบางกรณีไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนโรคก่อน

เห็นด้วย 32 คิดเป็นร้อยละ 89 ไม่เห็นด้วย 1 คิดเป็นร้อยละ 3 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 3 คิดเป็นร้อยละ 8 ความเห็น 1.ควรมีอำนาจในการออกคำสั่งบุคคลเป็นกลุ่ม ๆ 2.แต่ให้เพิ่มโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังที่มีอุบัติการณ์สูงเกิน 2 เท่าของค่ามัธยฐาน

@ ติดดาบผวจ.ห้ามกิจกรรมเสี่ยง

ประเด็นที่ 6 การกำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจ ดังนี้ 1. สั่งห้ามทำกิจกรรมหรือกิจการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น การจัดคอนเสิร์ต การจัดกิจกรรม ในสถานที่แออัด

  1. สั่งให้มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคเมื่อสถานที่ใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคหรือถูกสั่งปิดกิจการหรือสั่งห้ามจัดกิจกรรม เช่น การให้ทำความสะอาดสถานที่ การให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

เห็นด้วย 32 คิดเป็นร้อยละ 89 ไม่เห็นด้วย 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ความคิดเห็น 1.ควรมีคณะกรรมการระดับอำเภอด้วย 2.เมื่อการชุมนุมห้ามไม่ได้ก็ไม่ควรห้ามกิจกรรมที่ดีต่อเศรษฐกิจ

ประเด็นที่ 7 การกำหนดให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศสามารถดำเนินการกับพาหนะหรือผู้เดินทางที่มาจากท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักรที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โดยไม่ต้องประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่านั้นเป็นเขตติดโรคก่อน เห็นด้วย 34 คิดเป็นร้อยละ 94 ไม่มีไม่เห็นด้วย ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 2 คิดเป็นร้อยละ 6

ประเด็นที่ 8 การให้ราชการบริหารส่วนกลางมีอำนาจในการออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้อย่างเหมาะสมและตามความจำเป็น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ของโรค ทั้งกรณีทั่วราชอาณาจักรหรือเฉพาะบางพื้นที่ เช่น การกำหนดให้บุคคลที่จะเข้าไปในสถานที่สาธารณะของพื้นที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออย่างกว้างขวางต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

เห็นด้วย 33 คิดเป็นร้อยละ 92 ไม่เห็นด้วย 1 คิดเป็นร้อยละ 3 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ความคิดเห็น เพิ่มเติม ให้อำนาจราชการบริหารส่วนภูมิภาค ด้วย

ประเด็นที่ 9 การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขของผู้เดินทางในการเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการ เฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาดมิให้มีการแพร่ระบาดในราชอาณาจักร เช่น การกำหนดให้ผู้เดินทางต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางดังกล่าวไม่มีเชื้อโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด

เห็นด้วย 32 คิดเป็นร้อยละ 89 ไม่เห็นด้วย 1 คิดเป็นร้อยละ 3 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 3 คิดเป็นร้อยละ 8 ความคิดเห็น ถึงทีใบรับรองแต่ก็ต้องเข้ามา SQ /มีหลายรายที่มีใบรับรองแต่ก็มีเชื้อ

ประเด็นที่ 10 การกำหนดให้มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center) ในแต่ละระดับ เห็นด้วย 34 คิดเป็นร้อยละ 94 ไม่มีเห็นด้วย ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 2 คิดเป็นร้อยละ 6

@ เพิ่มโทษปรับ-จำคุก ปกปิดข้อมูล

ประเด็นที่ 11 การกำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่พบว่าตนเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ที่ไม่แจ้งหรือปกปิดข้อมูล หรือแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

เห็นด้วย 33 คิดเป็นร้อยละ 92 ไม่มีไม่เห็นด้วย ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 3 คิดเป็นร้อยละ 8 ความคิดเห็น อยากให้มีบทลงโทษให้หลากหลายและมีระดับความรุนแรงให้มากขึ้น เช่น ปรับให้มาก จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ประมาณนี้

ประเด็นที่ 12 การกำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามมาตรา 42

เห็นด้วย 34 คิดเป็นร้อยละ 94 ไม่มีไม่เห็นด้วย ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ความคิดเห็น อยากให้มีบทลงโทษให้หลากหลายและมีระดับความรุนแรงให้มากขึ้น เช่น ปรับให้มาก จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ประมาณนี้

ประเด็นที่ 13 เพิ่มอัตราโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (4) เห็นด้วย 32 คิดเป็นร้อยละ 89 ไม่มีไม่เห็นด้วย ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 4 คิดเป็นร้อยละ 11 ความคิดเห็น เพิ่มเท่าไร ให้ระบุ

เสนอประเด็นเพิ่ม 1.การที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคแจ้งการเจ็บป่วยไปที่สถานประกอบการต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ชีวิตในสถานที่ทำงาน ควรระมัดระวังในการแจ้งการเจ็บป่วยไปที่สถานประกอบการ 2.ใช้ควบคู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

@ ลดอำนาจรมว.สาธารณสุข-เพิ่มอำนาจอธิบดีกรมควบคุมโรค

ส่วนผลการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นต่อกฎหมายพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นรายมาตรา อาทิ มาตรา 2 พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เห็นด้วย 29 คิดเป็นร้อยละ 81 ไม่เห็นด้วย 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 5 คิดเป็นร้อยละ 14

ความคิดเห็น 3 อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด 19 ช่วงนี้ ควรให้กฎหมายมีผลใช้บังคับได้ทันที หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 เห็นด้วย 32 คิดเป็นร้อยละ 89 ไม่เห็นด้วย 0 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 4 คิดเป็นร้อยละ 11

ความคิดเห็น อาทิ การที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคแจ้งการเจ็บป่วยไปที่สถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ชีวิตในสถานที่ทำงาน ควรระมัดระวังในการแจ้งการเจ็บป่วยไปที่สถานประกอบการ

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพ.ร.บ.นี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่น ตลอดจนออกระเบียบหรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพ.ร.บ.นี้ กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

เห็นด้วย 32 คิดเป็นร้อยละ 89 ไม่เห็นด้วย 1 คิดเป็นร้อยละ 3 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 3 คิดเป็นร้อยละ 8 ความคิดเห็น ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคดำเนินการ

มาตรา 6 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (2) ช่องทางเข้าออกแห่งใดในราชอาณาจักรให้เป็นด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและยกเลิกด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (3) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

เห็นด้วย 31 คิดเป็นร้อยละ 86 ไม่เห็นด้วย 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 3 คิดเป็นร้อยละ 8 ความคิดเห็น ควรเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด

มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น (2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการหรือออกคำสั่ง และการสอบสวนโรค

(3) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ (4) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

เห็นด้วย 28 คิดเป็นร้อยละ 78 ไม่เห็นด้วย 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 6 คิดเป็นร้อยละ 17 ความคิดเห็น ให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินการตามความเชี่ยวชาญ

มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดที่อาจจะเข้ามาภายในราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการมีอำนาจประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรค และยกเลิกประกาศเมื่อสภาวการณ์ของโรคนั้นสงบลงหรือกรณีมีเหตุอันสมควร

เห็นด้วย 30 คิดเป็นร้อยละ 83 ไม่เห็นด้วย 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 4 คิดเป็นร้อยละ 11 ความคิดเห็น ควรเป็นอำนาจของอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว

@ ปิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นความลับ

มาตรา 10 ในกรณีที่ข้อมูลจากการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค หรือการแจ้งหรือรายงานตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมีการพาดพิงถึงตัวบุคคลทั้งที่ระบุตัวได้หรือไม่สามารถระบุตัวได้ จะต้องเก็บเป็นความลับและประมวลผลโดยไม่เปิดเผยชื่อ ทั้งนี้ การประมวลผลดังกล่าวจะต้องเหมาะสมและตรงกับวัตถุประสงค์ในการป้องกันและควบคุมโรค เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่ออาจเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่งบางส่วนที่เกี่ยวกับการรักษา การป้องกัน การควบคุมโรคติดต่ออันตราย หรือการเกิดโรคระบาด ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เห็นด้วย 29 คิดเป็นร้อยละ 81 ไม่เห็นด้วย 5 คิดเป็นร้อยละ 14 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 2 คิดเป็นร้อยละ 6

ความคิดเห็น 1.การที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคแจ้งการเจ็บป่วยไปที่สถานประกอบการต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ชีวิตในสถานที่ทำงาน ควรระมัดระวังในการแจ้งการเจ็บป่วยไปที่สถานประกอบการ

2.ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ เพื่อนะวังภัย และ 3.ควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าการเปิดเผยข้อมูลทั่วไปด้านอื่นๆ เนื่องจากการป้องกันและควบคุมโรคต้องกระทำการแข่งกับเวลา

มาตรา 49 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการด้านวิชาการ หรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 18หรือคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามมาตรา 22 (6) หรือคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครตามมาตรา 28 (6) หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 45 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เห็นด้วย 31 คิดเป็นร้อยละ 86 ไม่เห็นด้วย 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 3 คิดเป็นร้อยละ 8 ความคิดเห็น 1.น้อยไป 2.ควรเพิ่มค่าปรับ ไม่เกินสามหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 50 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท เห็นด้วย 30 คิดเป็นร้อยละ 83 ไม่เห็นด้วย 2 คิดเป็นร้อยละ 6 ไม่ออกความเห็น/ไม่แน่ใจ 11 ความคิดเห็น 1.น้อยไป 2. โทษปรับ ไม่เกินสามหมื่นบาท