เปิดคำค้าน “ไพบูลย์ นิติตะวัน” 4 ญัตติฝ่ายค้านชื่อซ้ำซ้อน

ไพบูลย์ นิติตะวัน

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” ยื่นหนังสือ เรื่องขอคัดค้านการบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เรื่อง ขอคัดค้านการบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา พร้อมแนบสำเนาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ลงวันที่ 29 มกราคม 2563 เนื่องจากตรวจพบว่ามีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

หนังสือคัดค้านระบุว่า ด้วยเหตุว่าเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 1 ฉบับต่อประธานรัฐสภา ซึ่งประธานรัฐสภาได้สั่งบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาแล้ว และปรากฎต่อมาในวันที่ 10 กันยายน 2563 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เสนอตามมาตรา 256 (1) ของรัฐธรรมนูญอีก 4 ฉบับต่อประธานรัฐสภา

“ข้าพเจ้าทราบว่ามีลายมือชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม อีก 4 ฉบับดังกล่าวซ้ำกันเองและซ้ำกันกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นไว้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า การที่มีผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 256 (1) ของรัฐธรรมนูญ ได้ลงลายมือชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซ้ำกันดังกล่าวนั้นกระทำมิได้”

นายไพบูลย์กล่าวว่า เหตุผลของข้าพเจ้าที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2563 เรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแก่รัฐธรรมนูญซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งหน้าที่ 4 ว่า

“เมื่อตรวจสอบคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องพิจารณาที่ 3/2563 ซึ่งมีลายมือชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอความเห็นซ้ำกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 30 คน จึงทำให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องนี้มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (จำนวน 75 คน) กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 รรคหนึ่ง (1)”

นายไพบูลย์กล่าวว่า ย่อมหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการลงลายมือชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอความเห็นลงลายมือชื่อได้คำร้องเดียวเท่านั้น จะมีลายมือชื่อเป็นผู้เสนอความเห็นซํ้ากันในคำร้องอื่นไม่ได้