ระทึก! ศาลเตรียมพิพากษา คดีไม่เก็บภาษี “คุณหญิงพจมาน” โอนหุ้นชินคอร์ป

ศาลปกครอง

ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดี “ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์” อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ฟ้องปลัดคลัง – ป.ป.ช. กรณีถูกปลดออกจากราชการ ปมยกเว้นไม่เก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป “บรรณพจน์-คุณพจมาน” วันที่ 14 ตุลาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ 1073/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 1051/2555 ระหว่าง นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ (ผู้ฟ้องคดี) กับ ปลัดกระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องคดี) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ผู้ร้อง) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับคดีดังกล่าว นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ (อดีตอธิบดีกรมสรรพากร) ฟ้องว่า ปลัดกระทรวงการคลัง มีคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 658/2551 ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการตามคำสั่ง ที่ 1214/2549 เป็นปลดออกจากราชการ กรณีร่วมกันพิจารณาว่าการรับโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จากนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทน คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นการได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยาและจากการให้โดยเสน่ห์เนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย

คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลว 12 พ.ค. 2551 ในส่วนที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2549 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับ

โดยศาลฯ มีคำวินิจฉัยสรุปได้ว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงในขณะเกิดข้อพิพาท ไม่ปรากฏว่า กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเรื่องเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือเงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากรไว้อย่างชัดเจน หรือมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตรงกับกรณีการโอนหุ้นระหว่าง คุณหญิงพจมาน กับนายบรรณพจน์ ที่เจ้าหน้าที่ต้องยึดถือปฏิบัติโดยไม่อาจมีดุลพินิจแตกต่างได้

การที่ผู้ฟ้องคดีพิจารณาสั่งการ หรือให้ความเห็นทางกฎหมายในการตอบข้อหารือต่างๆ โดยได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลอื่นๆ ประกอบ ตามที่ปรากฏในรายงานความเห็นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมถึงพิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณารายงานความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสังเกตของนายชาญยุทธ ปทุมารักษ์ ตลอดจนผู้ฟ้องคดีได้เรียกให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายมาให้รายละเอียดก่อนสั่งการในหนังสือที่เกี่ยวข้อง ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบแล้ว

ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ที่แสดงว่า นายบรรณพจน์หรือคุณหญิงพจมานมีความเชื่อมโยงหรือสายสัมพันธ์หรือมีการให้ผลประโยชน์เกื้อกูลตอบแทนใดแก่ผู้ฟ้องคดี อันจะถือเป็นมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีความเห็นไปเช่นนั้น หรือมีพฤติการณ์ใดๆ ที่บ่งชี้ว่าผู้ฟ้องคดีมีเจตนาที่จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ หรือมีการกระทำอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด

กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ที่ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง หรือฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 กรณีจึงไม่อาจลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีตามฐานความผิดดังกล่าวได้

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลว 12 พ.ค. 2551 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ดี โดยที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีมีอายุเกิน 60 ปีแล้ว ไม่สามารถกลับเข้ารับราชการได้อีก ศาลฯจึงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามมาตรา 69
วรรคหนึ่ง (8) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีพึงได้รับ หากมิได้ถูกลงโทษทางวินัยตามคำสั่งดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีวินิจฉัยความเห็นในข้อกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลของหลักกฎหมายและผลประโยชน์ของราชการ และการกระทำของผู้ฟ้องคดีมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง)

ทั้งนี้ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา  ณ ห้องพิจารณาคดี 9 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร วันที่ 14 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น.