ย้อนรอยม็อบเสื้อแดง-เหลือง บุกยึดทำเนียบ ก่อนถึงคิว คณะราษฎร 2563

คณะราษฎร 2563 เลื่อนเวลายึดพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเร็วขึ้นกว่ากำหนด จาก 14.00 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มาเป็นเวลา 08.00 น. เป้าหมายเพื่อ “ช่วงชิงพื้นที่”

ตามแผน “คณะราษฎร 2563” เตรียมเคลื่อนพลไปยังทำเนียบรัฐบาล ปักหลักพักค้างทำเนียบรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ วันที่ 11 ตุลาคม 2563 คณะราษฎร 2563 ประกาศไว้ในเฟซบุ๊กทั้งหมดในเครือข่ายเป็นข้อความเดียวกันว่า

ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ป. จากคณะราษฎร มีใจความสำคัญว่า 1. ประยุทธ์ต้องออกไปจากการเป็นนายกรัฐมนตรี 2. จะต้องเปิดประชุมวิสามัญเพื่อรับร่างแก้ไขจากภาคประชาชนในทันที 3. ปฏิรูปสถาบันฯ

“นี่ไม่ใช่การร้องขอ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง ชนชั้นนำไม่อาจปฏิเสธสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อีกต่อไป จงรับข้อเสนอดังกล่าวและนำประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่ปวงประชาทั้งผอง”

ขณะที่ นายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร ก็โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า 14 ตุลาคม หลังส่งเสด็จฯ ขบวนประชาชนทั้งหมดจะเคลื่อนไปตั้งเวทีปราศรัยไล่ประยุทธ์และพักค้างรอบทำเนียบรัฐบาล
เดินตามรอยม็อบรุ่นพี่อีก 3 ม็อบการเมืองรุ่นพี่

Advertisment

หนึ่ง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
สอง กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
สาม กลุ่ม กปปส. หรือในชื่อเต็ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เจาะเป็นรายกลุ่ม กลุ่มพันธมิตรฯ มีทั้งล้อม ทั้งยึดทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ตอนท้ายช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และ เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเป็นฐานที่มั่นในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่อง รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ทำให้ “สมชาย” กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติศาสตร์ไทย ที่เป็นนายกฯ แต่ไม่เคยได้เข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาล

ผลที่ตามมาคือ ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 8 เดือน 6 เเกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำ พธม. และนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นอดีตผู้ประสานงานพันธมิตร

กระทั่งได้รับการปล่อยตัว หลังจากติดคุกอยู่นาน 87 วัน คือ นายพิภพ นายสมเกียรติ นายสมศักดิ์ นายจำลอง และนายสุริยะใส เว้นนายสนธิ ที่ยังมีคดีที่ถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 20 ปี กรณีทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ ค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทยกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการพักโทษ

Advertisment

ส่วนการชุมนุมของ นปช.ไม่บุกยึดทำเนียบฯ เหมือนกลุ่มพันธมิตรฯ แต่มาในลักษณะล้อมทำเนียบ เพื่อประกาศชัยชนะทางการเมืองแล้วสลายการชุมนุมหลายครั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งนี้ การชุมนุมล้อมทำเนียบยาวนานที่สุดคือปลายเดือนกุมพาพันธ์ 2552 ชุมนุมต่อเนื่องนานที่สุด ตั้งแต่ 26 มีนาคม-14 เมษายน 2552 นานกว่า 19 วัน ก่อนจะยุติการชุมนุม

มาถึงยุค กปปส. ที่ประกาศชัตดาวน์ กทม.ยึดสถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ภายหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินหมากนิรโทษกรรมสุดซอยพลาด ทำให้พังทั้งกระดาน ตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 นำโดยนายสุชาติ ศรีสังข์ แกนนำ กปปส. ได้นำมวลชนจำนวน 10 คันรถบัส พร้อมการ์ด กปปส. เดินทางจากเวทีสวนลุมพินี ถึงสะพานชมัยมรุเชฐ ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ เข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาล

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้นประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบ (กอ.รส.) เรียกคู่ขัดแย้ง 7 ฝ่ายมาหย่าศึก ทั้ง ตัวแทนรัฐบาล แกนนำเพื่อไทย แกนนำประชาธิปัตย์ กปปส. นปช. ส.ว. กกต. ก่อนจะยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557