อั่งอั๊ง อัครสร : ชัยชนะที่ยั่งยืน คือ การออกจากวังวน “รัฐประหาร”

อั่งอั๊ง-อัครสร
สัมภาษณ์พิเศษ
พรธิดา เจดีย์พราหมณ์

 

“อั่งอั๊ง – อัครสร โอปิลันธน์” เด็กหญิงวัย 16 ปี ที่หลงใหลในเรื่องการเมือง ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม 6

ออกมาร่วมชุมนุมกับฝ่ายประชาธิปไตย ท่ามกลางสายตาของอีกฝ่าย ที่เห็นเฉพาะด้านที่เธอเป็นหลานสาวของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า

การปรากฎตัวของ “อั่งอั๊ง” ในโลกโซเชียล เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ทำให้โลกของเธอเปลี่ยนไปจากเดิมชั่วข้ามคืน

เด็กหญิงที่มีความฝันจะเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน แต่สถานการณ์กระบวนการยุติธรรมไทย ทำให้เธอตั้งข้อสงสัย ว่าจะเงยหน้าว่าความให้ฝ่ายประชาธิปไตย ได้รับชัยชนะได้หรือไม่

ทำไมการเมือง และการปฏิรูป ต้องตกอยู่ในมือของเด็ก

ทำอย่างไรฝ่ายประชาธิปไตย ถึงจะได้รับชัยชนะ ทางการเมือง อย่างยั่งยืน 

คำถามใหญ่ ๆ ที่ส่งไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทรงอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองในรอบเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

เหตุใด เธอจึงฟันธงว่า ข้อเรียกร้องของ “ราษฎร” เป็นเพียงการพูดกับกำแพง

“ประชาชาติธุรกิจ” ถาม “อั่งอั๊ง” ตอบด้วยทักษะของนักอ่านและนักโต้วาที ที่ผ่านเวทีระดับสากลมาแล้วนับไม่ถ้วน

ขบวนการนักศึกษาใหม่ สันติและมีวัฒนธรรม

เพราะ “อั่งอั๊ง” เป็นเด็ก Gen Z ที่สนใจและศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมศึกษา ทำให้เธอมองเห็นถึงความต่างที่ค่อนข้างชัดเจน ของขบวนการนักศึกษา 2563 กับขบวนการนักศึกษาในอดีตเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 โดยเฉพาะเรื่องของพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุม

“สิ่งที่ต่างกันคือ การใช้ความรุนแรงของนักศึกษาที่ออกมาประท้วงก็คือยังไม่ค่อยเห็นได้ชัดเจน ตอนนี้เรายังออกมาประท้วงแบบสันติวิธี หลายๆ แบบมากมายอย่างเช่น มี พวกศิลปินต่างๆ ที่ออกมาร้องเพลง มีละครเวที ที่ผ่านมาก็ได้ไปดู งิ้วของของที่ ม. ธรรมศาสตร์ งิ้วล้อเลียนการเมือง”

เมื่อถามว่า จะเห็นด้วยหรือไม่ หากการชุมนุมยกระดับความรุนแรงจนต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อเหมือนในอดีตที่ผ่านมา “อั่งอั๊ง” มองว่า หากสังคมเป็นประชาธิปไตย จะไม่มีการตั้งคำถามเลยว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ พร้อมชี้ให้เห็นว่า หากใช้ความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายใด มันจะเป็นสิ่งยืนยันให้ทั่วโลกเห็นว่า “คนไทยเรายังไม่ไปถึงไหนเลย”

“อั่งอั๊ง” ยังยกตัวอย่าง ประเทศฝรั่งเศส ที่มีการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน เพื่อตอกย้ำความล้าหลังทางการเมืองของไทยว่า การที่ประเทศไทยเพิ่งจะออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกันตอนนี้ มันแสดงให้เห็นถึงความล้าหลัง ความไม่พร้อม ความไม่เท่าเทียมของประเทศไทยเอง

แก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว. ออกจากวิกฤต

“อั่งอั๊ง” เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแก้ปัญหาไปถึงระดับโครงสร้าง และข้อเสนอของกลุ่มแกนนำการชุมนุม คือ การเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะคอยอุ้ม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อได้ โดยเฉพาะมาตรา 272 ที่เปิดโอกาสให้เสนอชื่อ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ซึ่ง สว. 250 คน มีสิทธิในการออกเสียงได้

“เรื่องรัฐธรรมนูญ 250 สว. อันเนี้เราเห็นได้ชัดเลย เชื่อว่าหลายๆ คน ไม่ว่าจะอยู่จุดยืนไหนทางการเมือง หนูเชื่อว่าถ้าเราหันมาดูหลักการประชาธิปไตย ความเท่าเทียม สภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ที่ถูกขึ้นไปเป็นเหมือนแบบ represent คนที่เราเลือกมา 500 ส.ส. ก็คือถูกเลือกตั้งมาใช่ไหมคะ เท่าที่เราเห็นกันมาระดับนึง แต่อีก 250 สว. ไม่ได้ถูกเลือกตั้งมา แต่ถูกเลือกมาอย่างเดียว ไม่ได้ถูกเลือกมาโดยประชาชน”

คิด-พูดให้ถึงหู “พลเอกประยุทธ์”

“อั่งอั๊ง-อัครสร” ฝากถึง “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้ออกมารับฟังข้อเสนอ ทั้ง 3 ข้อ แบบตั้งใจฟังจริง ๆ โดยเปรียบเทียบให้เห็นอย่างข้อเสนอ ที่ได้ถูกเสนอเรื่องเข้าไปจนถึงขั้นตอนการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งใช้เวลาในการอภิปรายร่วม 2 วัน รวมเป็นเวลากว่า 15 ชั่วโมงโดยประมาณ แต่ท้ายที่สุดมติได้โหวตให้ ตั้งกรรมาธิการ เพื่อเลื่อนโหวตแก้รัฐธรรมนูญออกไป

“อย่างแรกคืออยากจะ ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมารับฟังข้อเสนอ 3 ข้อ เพราะที่ผ่านมา ที่นักเรียนออกมาชุนนุมกันเนี่ย หลายๆ ครั้งที่ได้เห็น หลายๆ คนในสภา รัฐมนตรีออกมา แถลงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้แตะต้องถึงข้อเสนอต่างๆ อย่างเช่น เรื่องการแก้รัฐธรรมนุญ ท้ายที่สุดก็เป็นการถ่วงเวลา”

“ที่เราได้ไปประท้วงหน้ารัฐสภา ก่อนอื่นก็คงยังไม่มีอะไรจะเจาะจง ที่อยากจะบอก พลเอกประยุทธ์ ถ้าอยากจะอ่านอะไรก็ไปอ่านจดหมายที่หนูเขียนถึงพลเอกประยุทธ์ได้ แต่ว่าถ้าโดยรวมแล้ว แค่อยากให้ พลเอกประยุทธ์เริ่มหันมาฟังแค่นี้ก่อน ฟังแบบตั้งใจฟังจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อรอที่จะพูด”

สุดทางคือชนะขาดลอย แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เธอตีความ “ชัยชนะ” ของแฟลชม็อบ ว่า “แสงสว่างปลายอุโมงค์ของการชุมนุม คือการที่ผู้มีอำนาจจะรับฟัง 3 ข้อเรียกร้อง แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

“การที่ทำให้คนรุ่นใหม่หลายๆ คน ตระหนักได้แล้วว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ มันเป็นเรื่องของเขาที่ส่งผลกระทบต่อตัวเขาจริงๆ อันนี้ก็ถือว่าเป็นชัยชนะอย่างหนึ่งแล้ว ที่เราสามารถเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคม ให้มาตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองได้มากขึ้น”

“หากปลายทางของการชุมนุมในครั้งนี้ เป็นไปตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อ และ 3 ข้อ ได้ มันจะเป็นอะไรที่ถือว่าเป็นการ ชนะขาดลอย”

“จำนวน” คือนัยสำคัญ

ทฤษฎี 3 Percent Theory (เป็นทฤษฎีที่ถูกคิดค้นโดย Michael Brian Vanderboegh และได้ถูกนำไปใช้โดยกลุ่มทหารแคนาดา) ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา หลังจาก “อั่งอั๊ง” ถูกถามถึง จำนวนคนมาก หรือ น้อย มีผลอย่างไรต่อการชุมนุม เธออธิบายว่า “ทฤษฎีดังกล่าว เคยถูกพิสูจน์แล้ว หากอยากให้ประเทศหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น จะต้องมีประชากรในประเทศที่ออกมาร่วมแสดงพลังอย่างน้อย 3 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมดของประเทศ”

“รู้สึกว่า เห็นภาพมุมสูงที่เขาถ่ายออกมา รู้สึกปลื้มมาก ประทับใจมาก ที่เราออกมากัน เราไปประท้วงครั้งแรกที่มีแค่หมื่นกว่าคน แต่ตอนนี้มาแตะถึงตัวเลขแสนแล้ว เราก็รู้สึกปลื้มใจ แต่ว่าในเชิงความเป็นจริง แสนคนก็ยังไม่พอ”

สร้างบ้านทีละเสา-กินข้าวทีละคำ

เมื่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นพี่ ออกมาเสนอให้ “ม็อบเยาวชน” เดินแนวทาง “กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” เพื่อไปสู่เส้นชัย

“อั่งอั๊ง” ตอบว่า “รู้สึกว่า ถ้าเราจะทำทีละนิดๆ เนี่ย ท้ายที่สุดมันก็เห็นผลมากกว่าไหม ถ้าเราจะแตะไปที่จุดใหญ่ทีเดียวเลยว่า โอเค เรามาทำให้สังคมเรามันมีความเท่าเทียมมากขึ้นไปเลยไหม เพราะที่ผ่านมาถ้าเราแตะไปทีละนิด ๆ สมมติว่าข้อเรียกร้องข้อเดียว มีความเป็นไปได้ว่า มันจะเกิดขึ้น 99 เปอร์เซ็นต์ แต่ท้ายที่สุดไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในสภา ไม่รู้ว่า เขาจะตัดสินกันยังไง ไม่รู้ว่า พวกคนด้านบนเขาจะตัดสินกันยังไง”

“ถ้าตอนนี้ผ่านไปแล้วข้อนึง กลายเป็นว่า ข้อนั้นก็ถูกปัดตกทิ้งอีก ก็เลยรู้สึกว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมด ถ้ามันมาเป็นเซ็ตด้วยกัน มันคือการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงอยู่แล้ว ถ้าเรามาสร้างทีละเสา ท้ายที่สุดมันก็คงไม่ได้เป็นบ้านหลังหนึ่งสักที”

ต้นทุนสังคม และไมน์เซ็ตใหม่

“ต้นทุนของสังคมทุกคนไม่เท่าเทียมกัน แต่เราก็ต้องออกมาพูดเลยว่า คนเราก็เลือกเกิดไม่ได้ถูกไหมคะ แต่ว่าสิ่งที่เราทำได้คือ สำหรับคนที่มีต้นทุนทางสังคม เขาคงออกมาพูด ออกมาใช้ต้นทุนของตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม”

ควรมีการปลูกฝังว่า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เราควรสอนว่า ไม่ว่าเราจะมีต้นทุนทางสังคมมากน้อยขนาดไหน คุณมีสิทธิเท่าเทียมกันหมดเลย เพราะคุณคือมนุษย์ คุณเกิดมาแล้วศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ถ้าเกิดกลุ่มที่เกิดมาแล้วต้นทุนทางสังคมน้อยกว่า เขามีสิทธิที่จะมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของเขา ถ้าเกิดว่า สิทธินั้นถูกริดรอนไป”

การเมืองใหม่ ในมือของเยาวชน

คำถามที่ว่าประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น ทำไมการแก้ปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ต้องตกอยู่ในมือเยาวชน “อั่งอั๊ง” ตอบทันทีว่า  “เอาง่ายๆ เลย เพราะการเมืองมันแย่ การเมืองมันแย่จนกระทั่งเด็ก ม.ต้น ม.ปลาย เป็นห่วงอนาคตของตัวเอง การเมืองมันแย่จนหนูรู้สึกว่า หนูในฐานะเด็กมอปลายเนี่ย ไม่มั่นใจว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า หนูจะอยู่ในสังคมที่มีความเท่าเทียมหรือเปล่า หนูจะสามารถอยู่ในสังคมที่ ถ้าหนูเลือกในอาชีพที่หนูทำ รัฐจะสนับสนุนหรือเปล่า”

ความฝันไฝ่ในอาชีพทนายความด้านสิทธิมนุษยชน

“ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน” เป็นอาชีพที่ “อั่งอั๊ง” ไฝ่ฝัน และเคยเดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายช่วงซัมเมอร์ในต่างประเทศ แต่เมื่อเห็นกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทย ทำให้เธอลดทอนความเชื่อมันต่อระบบตุลาการลง

“พอเรามาสนใจการเมืองไทย ความเชื่อมั่นของเราในระบบตุลาการ มันลดน้อยลงทุกที ๆ จนเราก็ถามตัวเองว่า เป็นทนายที่ช่วยเรื่องสิทธิมนุษยชนในอนาคตอ่ะ จะชนะคดีอะไรได้บ้างหรือ ถ้าเกิดว่าเรายังไม่เห็นความสำคัญของความเที่ยงธรรม และไปเห็นความสำคัญของเงินมากกว่า ซึ่งมันเป็นระบบตุลาการตอนนี้ที่เห็นได้ชัดเลย”

ต้องออกวังวน “รัฐประหาร”

การชุมนุมทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 14 ตุลาคม 2516 มีผู้เข้าร่วมกว่า 5 แสนคน และการชุมนุมหลังจากนั้น 2-3 ครั้ง ก็จะจบด้วยการ “รัฐประหาร” การชุมนุมรอบนี้ จะจบแบบไหน เพราะอะไร

คำถามนี้ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เคยประเมินไว้ ว่า “ยากที่จะคาดเดา แต่ต้องออกจากระบบการไล่ผู้นำ แบบถนอม ประภาส สุจินดา” เพื่อได้ “นายกรัฐมนตรี พระราชทาน”

คำตอบ ของ “อั่งอั๊ง” คือ “หากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง จะต้องออกจาก วงจรการรัฐประหารให้ได้ก่อน คำถามนี้…เป็นคำถามที่ยากที่จะตอบอยู่เหมือนกัน”

“เราก็ได้แต่หวังว่า หลังจากรัฐประหารครั้งนี้ จะไม่มีรัฐประหารครั้งต่อไป แต่เนื่องด้วยสังคมการเมืองไทย มันเป็นวงจรอย่างนี้ไปแล้ว คำถามที่ต้องตั้ง เพื่อให้ไปสู่ชัยชนะที่ยั่งยืนได้ คือ จะทำอย่างไรให้เราหลุดพ้นจากวงจรรัฐประหารครั้งนี้ได้”

“ซึ่งมันเป็นคำถามที่ใหญ่มาก มันไม่ใช่แค่การเมืองดีอย่างเดียว มันต้องการเมืองดี จนเข้าถึงระดับในปัจเจกบุคคลเข้าไป ถึงแก่นของทุกคนเลยว่า การเมืองที่ดีมันคือการที่ศักดิ์ศรีของทุกคนเท่าเทียมกัน อำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร แล้วก็ไม่ใช่กลับไปในวงจร ให้ใครสักคนพูดว่า เขาจะต้องกลับมาเป็นนายก เพราะว่าการเมืองมันแย่มาก ทางเดียวที่จะทำได้คือ รัฐประหาร เราต้องออกจากวงจรนี้ได้ก่อน แล้วเราค่อยมาคิดกันว่าชัยชนะมันจะได้ในช่วงเวลาไหน”

“พูดกับกำแพง”

“อั่งอั๊ง” วิเคราะห์ว่า การเสนอข้อเรียกร้องสำคัญ ของผู้ชุมนุม และการปราศรัย เรื่องสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ทะลุเพดาน ความฝัน เพราะไม่มีคนฟัง ไม่มีคนได้ยิน เหมือนเป็นการ “พูดกับกำแพง”

“ผู้ใดที่จับไมค์ปราศรัย ก็เหมือนพูดกับกำแพง ในหลายครั้งที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านกล้อง ถึงความฝันทางการเมือง ว่า อยากได้สังคมที่เท่าเทียม สังคมที่ดีกว่านี้ ท้ายที่สุดก็อยากให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจมารับฟัง”

“จุดประสงค์ท้ายที่สุดแล้ว ของผู้ปราศรัยหรือผู้ไปชุมนุม คือการที่จะหวังว่า คนที่อยู่ในสภาผู้แทน คนที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี จะหันมาฟังเรา เพราะเขาคือผู้ที่มีอำนาจในตอนนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เหมือนเราพูดกับกำแพง”

เมื่อถามว่า ทุกครั้งที่มีแกนนำมาปราศรัย เหมือนนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งหรือไม่ “อั่งอั๊ง” ตอบพูดชัดเจนว่า หากพูดว่ากลับมาจุดเริ่มต้นเลย ก็อาจจะพูดไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะเรานับ 0 ไป 1 แล้ว ก็กลับมาที่เดิม ไม่ได้ไปถึง 2 ด้วยซ้ำ