อนุชา กราบม็อบราษฎร “ขออย่าข่มขู่ บังคับ ขู่เข็ญ”

อนุชา นาคาศัย
อนุชา นาคาศัย

“อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กราบม็อบราษฎร “ขออย่าข่มขู่ บังคับ ขู่เข็ญ”

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ประกอบมาตรา 165 ว่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีความเห็นตรงกัน ว่า เห็นสมควรให้เปิดประชุมร่วมของสภาสมัยวิสามัญฯ เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดย ครม. เป็นผู้ออก พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเพื่อให้การแก้ปัญหาของประชาชน สภาจะช่วยกันหาทางออก ซึ่งปัญหาทุกปัญหาจะนำเสนอในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

“ส่วนตัวคิดระยะเวลาในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ 2-3 วัน จะสะเด็ดน้ำและทิศทางจะเป็นไปอย่างไร ซึ่งเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงมีค่าที่จะพูดคุย เจรจากันเพื่อหาทางออกร่วมกัน จึงต้องเร่งเปิดสมัยวิสามัญ เพื่อมีโอกาสหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธี ให้เกิดความสงบสุขในประเทศได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรา นักการเมืองอยากเห็น เมื่อสังคมเกิดความแตกแยกต้องหาบทสรุปที่ดี สันติวิธี ถ้าคิดว่าการเรียกร้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งสองฝ่าย สามฝ่าย สี่ฝ่าย หรือความคิดเห็นที่หลากหลายในแผ่นดิน ใช่ว่าเรามีความเห็นแบบนี้และต้องทำ 1 2 3 4 5 ต้องทำแบบนี้ถึงจะจบ ต้องมีช่วยกันคิด ขอให้มีจุดที่สามารถจบลงด้วยการพูดคุยเจรจาได้”

นายอนุชากล่าวว่า ส่วนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของผู้ชุมนุมที่เป็นความเห็นที่แตกต่าง ต้องมาสู่การพิจารณา โดยเฉพาะในส่วนของสภาผู้แทนฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง คือ เรื่องของรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องอื่น ๆ เป็นข้อคิดเห็นและเสนอแนะเพื่อสะท้อนถึงปัญหา เช่น การบริหารราชการแผ่นดิน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ส่วนการเรียกร้อง ผมคิดว่า ถ้าหากสังคมประชาธิปไตย การเรียกร้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าการบังคับ ขู่เข็ญ ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง และบางเรื่องจุดยืนของพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีอยู่แล้ว เช่น ต้องไม่เกี่ยวกับสถาบัน หมวด 1 และหมวด 2 ต้องไม่แก้ เพราะจุดยืนของแต่ละฝ่ายมี จะข่มขู่ บังคับ ขู่เข็ญ ก็คงจะกระไรอยู่”

นายอนุชากล่าวว่า อยากฝากถึงน้อง ๆ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนว่า สิ่งที่เราทำก็ทำเพื่อประเทศชาติของเรา และทุกส่วนก็มีจุดยืนของแต่ละบุคคล ความเห็นที่แตกต่างของคนในชาติก็มีอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกความเห็นต้องไปในทิศทางเดียวกัน คงต้องหาทางออกด้วยกัน พูดคุยกัน อะลุ้มอล่วยซึ่งกันและกัน ผมขอกราบวิงวอน ความเห็นต่างไม่ได้ผิด

“ทุกคนอยากเห็นเวทีสภาสามารถแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้เลือกเราเข้ามาเป็นตัวแทน ในฐานะนักการเมือง ซึ่งจะเป็นอย่างไรก็ต้องไปว่าในที่ประชุมของรัฐสภาอีกคน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จะมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญในสัปดาห์หน้า จำนวน 2 วัน เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ส่วนการพิจารณารับร่างหรือไม่รับรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติในวาระแรกจะต้องไปเกินเวลาในสมัยสามัญที่จะเปิดประชุมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 คาดว่าจะสามารถลงมติรับหลักการวาระแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เนื่องจากต้องรอกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่จะเสร็จในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563