4 นายกฯ กุนซือปรองดอง รอยอดีตกลางสงครามขัดแย้ง

การฟอร์มคณะกรรมการสมานฉันท์ปรองดองยังเดินหน้า เมื่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ต่อสายตรงถึงประธานองคมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์-สมชาย วงศ์สวัสดิ์-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

โปรไฟล์อดีตนายกฯ 4 คน ผ่านร่องรอยความขัดแย้งทางการเมืองมาแล้วนักต่อนัก

เริ่มจาก “พล.อ.สุรยุทธ์” ประธานองคมนตรี หรือ “บิ๊กแอ้ด” อดีตนายกฯคนที่ 24 ที่ชะตาพัดให้ “พล.อ.สุรยุทธ์” ต้องมาเป็น “นายกฯจำเป็น” หลังจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงมือทำรัฐประหาร และขอให้ “บิ๊กแอ้ด” ซึ่งขณะนั้นเป็นองคมนตรีเข้ามารับตำแหน่ง

ชอตสำคัญของ “บิ๊กแอ้ด” ขณะเป็นนายกฯ หนีไม่พ้นภาพจำที่เขาได้เอ่ยปาก “ขอโทษ” ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2549

“ผมขอโทษแทนรัฐบาลชุดที่แล้ว ผมเป็นคนผิด ผมขอโทษ ผมเคยเป็น ผบ.ทบ.มาก่อน และเคยพยายามคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ไม่เป็นผล ถือว่าผมมีส่วนผิดด้วย ที่คัดค้านการยุบ ศอ.บต.ไม่สำเร็จ”

ด้าน “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯคนที่ 27 กลายเป็นนายกฯท่ามกลางความขัดแย้งที่มีมวลชนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมขับไล่ 2 ปีซ้อน จนเกิดเหตุกระชับพื้นที่-สลายการชุมนุมทั้งปี 2552-2553

ชอตที่เป็น “ภาพจำ” คือการที่ “อภิสิทธิ์” พร้อมด้วย “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี “นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์” รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ฝั่ง นปช.มี วีระ มุสิกพงศ์ (ชื่อในขณะนั้น) ในฐานะประธาน นปช. “จตุพร พรหมพันธุ์” และ “นพ.เหวง โตจิราการ” นั่งเจรจากัน เมื่อ 28 มีนาคม 2553

โดยฝ่าย นปช.ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์ แต่รัฐบาลยอมถอยให้มีการเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน ขอให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2554 ไปก่อน แต่ข้อเสนอถูกตีตก มีการเจรจาทางลับในหลายรอบ แต่หาข้อยุติไม่ได้ สุดท้ายก็นำมาสู่การกระชับพื้นที่ ขอพื้นที่คืนในเดือนพฤษภาคม 2553

ทว่าการเลือกตั้งก็ขยับไปไกลถึงกรกฎาคม 2554 แต่ระหว่างทางนำไปสู่การเลือกตั้ง “อภิสิทธิ์” ได้ตั้ง 3 คณะกรรมการ
สำคัญขึ้นมาแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง โดย 2 คณะแรกเชื่อมโยงกัน

คณะกรรมการปฏิรูป มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป มี “นพ.ประเวศ วะสี” เป็นประธาน และอีกหนึ่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ “อภิสิทธิ์” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกฯ ไปเชิญ “คณิต ณ นคร” มาเป็นประธาน เพื่อหาข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 และค้นหาแนวทางสร้างการปรองดอง ซึ่งทำงานต่อเนื่องถึงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ขณะที่ “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกฯคนที่ 18 จากเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกระทรวงการต่างประเทศในตำแหน่งปลัดกระทรวง ในปี 2519 เป็นจังหวะในการเปิดสัมพันธไมตรีทางการทูตกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทว่าภารกิจนั้นกลายเป็นพิษการเมืองเล่นงาน ถูกกล่าวหาจากรัฐบาลในขณะนั้นว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ แต่เมื่อสอบสวนไม่ปรากฏความผิด จึงได้กลับมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธรัฐเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2520 กระทั่งลาออกจากราชการในปี 2522 ผันตัวเป็นนักธุรกิจ ได้รับสมญาว่า “ผู้ดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์”

และกลายเป็น “นายกฯจำเป็น” หลังการรัฐประหาร 2533 จนนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 2 สมัย และหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แม้จะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ แต่ “อานันท์” ยังคงมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540

เป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูป ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกครั้ง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกฯคนที่ 22 ผู้ได้รับสมญาว่า “ขงเบ้งการเมือง” เขาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญหลายครั้ง

ว่ากันว่าเป็นผู้เขียนคำสั่ง 66/2523 ในทีมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เวลานั้น อันเป็นใบปลดชนวนให้นักศึกษาที่เข้าป่าจับปืนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้กลับสู่เมืองอีกครั้งในนาม “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” และเป็นหนึ่งใน 3 ขุนพล ตัวแทนกองทัพบกส่งไปเจรจากับ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ที่กรุงปักกิ่ง ให้ยุติความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ครั้นลงเล่นการเมือง พล.อ.ชวลิตได้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด มาเป็นรองนายกฯและ รมว.กลาโหม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่แล้วก็เกิดปัญหากับ “นักการเมืองอาชีพ” จนต้องลาออกจากตำแหน่ง

แต่หลังจากเหตุพฤษภาทมิฬ “พล.อ.ชวลิต” ก็เดินหน้าการเมืองเต็มตัวพรรคความหวังใหม่ของเขาชนะเลือกตั้ง และได้เป็นนายกฯ ซึ่งในยุคที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศได้สานต่อภารกิจร่างรัฐธรรมนูญ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็เกิดขึ้นในยุคนี้

“สมชาย วงศ์สวัสดิ์” นายกฯคนที่ 26 ในประวัติศาสตร์ เขาเป็นนายกฯคนแรกที่ไม่เคยทำงานในทำเนียบรัฐบาลเพราะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยึดทำเนียบรัฐบาล

แถมหลังจากพ้นตำแหน่งนายกฯ เพราะเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งทำให้ “สมชาย” ในฐานะกรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง ร่วงจากตำแหน่งนายกฯไปด้วย ยังต้องเจอคดีอาญาจากการสลายม็อบพันธมิตรฯล้อมรัฐสภา ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยกคำร้อง พ้นมลทิน

4 นายกฯกุนซือปรองดอง ทุกคนล้วนมีเส้นทางผ่านรอยความขัดแย้งทางการเมืองไทยมาอย่างโชกโชน