กาง 4 ขั้นตอน โหวต 7 ญัตติแก้รัฐธรรมนูญ 5 ผบ. เหล่าทัพ ชวดโหวต

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรัฐสภาพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 ญัตติ เริ่มต้นขึ้นในช่วงบ่าย อย่างไรก็ตาม การพิจารณาในวันนี้ เป็นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….(ยกเลิกมาตรา 65 มาตรา 88 มาตรา 203 มาตรา 217 มาตรา 270 มาตรา 272 มาตรา 275 และมาตรา 279 ยกเลิกหมวด 16 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 มาตรา 159 วรรคแรก มาตรา 162 วรรคแรก มาตรา ๒๕๒ วรรคสอง มาตรา 256 และมาตรา 269 และเพิ่มหมวด 17) ซึ่งเป็นร่างของไอลอว์ โดยมีนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน เป็นผู้เสนอ

ส่วนอีก 6 ญัตติ ประกอบด้วย 1.ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของรัฐบาล 2.ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของฝ่ายค้าน 3. ญัตติแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ พ่วงมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก 4.ญัตติแก้ไข มาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูปประเทศ

5.ญัตติแก้ไข มาตรา 279 ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 6. ญัตติแก้ไขมาตรา 91- 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสามเรื่องระบบเลือกตั้งโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้กลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาไปแล้วในวันที่ 24 กันยายน 2563 เหลือเพียงการลงมติ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลังจากนี้

1.พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ วุฒิสภาได้เวลาอภิปราย 5 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนฝ่ายค้านได้เวลา 5 ชั่วโมง ส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้ 4 ชั่วโมง ส่วนภาคประชาชนที่เสนอร่างกฎหมายได้เวลาชี้แจงร่างกฎหมายครึ่งชั่วโมง รวม 14 ชั่วโมงครึ่ง โดยในส่วนการนำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ นั้น มีนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ และ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะผู้เสนอร่าง เป็นผู้ชี้แจงและตอบข้อซัถามสมาชิกรัฐสภา

Advertisment

ทั้งนี้ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาว่า กังวลว่า หากจะตั้งเป้าลงมติได้ไม่เกินพรุ่งนี้ (18 พฤศจิกายน) วันนี้น่าจะต้องอภิปรายจบหลังเที่ยงคืน แล้วอภิปรายวันพรุ่งนี้ต่อนิดหน่อยไม่เกิน 14.00 น. และลงมติจบไม่เกิน 18.00 น.

2. จากนั้นให้ลงมติโดยการเรียกชื่อตามตัวอักษร และลงคะแนนโดยการขานชื่อ เปิดเผยในคราวเดียวกันทีละฉบับ จนครบ 7 ฉบับ

3. การนับคะแนน จะต้องได้เสียง “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (3) โดยต้องได้เสียง 366 เสียงขึ้นไป ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (732 คน แบ่ง แบ่งเป็น ส.ส. 487 คน และ ส.ว. 245 คน)

4.ในจํานวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 82 คน หรือ 1 ใน 3 ของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ซึ่งจำนวน ส.ว.ขณะนี้มี 245 คน

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ส.ว.5 คนที่ขาดไป คือผู้บัญชาการเหล่าทัพ 5 คน ซึ่งเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ประกอบด้วย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ. ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งนั้น ยังอยู่ขั้นตอนระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ จึงไม่สามารถมาลงมติได้ ยกเว้น พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ได้เป็น ส.ว.ตั้งแต่ต้น