สุพัฒนพงษ์ ลั่นปีครึ่งเศรษฐกิจไทยฟื้น 2564 ปีแห่งการลงทุน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์-รองนายกฯ เศรษฐกิจ ประกาศ 12 เดือน 18 เดือน เศรษฐกิจไทยฟื้น ลั่นผ่านจุดต่ำสุด ไม่ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง ดีเดย์ 2564 เป็นปีแห่งการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ปฏิบัติการเชิงรุก-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เลิกพึ่งพาการท่องเที่ยว-การส่งออก

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “COVID-19 ปฏิวัติเศรษฐกิจโลก พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย” ว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ โครงการคนละครึ่ง เงินเติมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช้อปดีมีคืน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในยามยากลำบาก เพราะไม่ใช่เป็นการให้เงิน ประชาชนครึ่งหนึ่ง รัฐจ่ายครึ่งหนึ่ง

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เป็นเหตุผลว่าทำไมเศรษฐกิจประเทศไทยถึงไม่ติดลบเหมือนอย่างที่คนคาดคะเนกันไว้ว่า จีดีพีจะติดลบเยอะมาก หรือติดลบ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ มากกว่า เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว 10 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี และการส่งออก 70 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี มิหน้ำซ้ำต้องล็อกดาวน์ประเทศอีก 3 เดือน

“แต่วันนี้สภาพัฒน์แถลงตัวเลขจีดีพีติดลบ – 6 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าติดลบมากกว่า -10 เปอร์เซ็นต์ เราจะใช้เวลาในการฟื้นตัว 3 ปี หรือมากกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย เพราะจะมีการว่างงานจำนวนมาก แต่ถ้าเราติดลบ -6 เปอร์เซ็นต์ หรือ ต่ำกว่าติดลบ – 6 ถ้าติดลบน้อย ๆ ปีหน้าเศรษฐกิจจะโต 3-4 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 12 เดือน 18 เดือน ประเทศไทยจะฟื้น ที่คิดว่า 2 ปี ผมคิดว่าจะเร็วกว่านั้น รวมทั้งเสถียรภาพทางการเงินของประเทศยังดีมาก ล้มแล้วไม่ได้เจ็บ ล้มแล้วยังแข็งแรงขั้นมาได้ กระดูกยังดี”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า พวกเราต้องช่วยกันประคับประคองให้ประเทศลุกขึ้นมา และปีหน้าเราจะเดิน เราจะวิ่ง แล้วเราจะดีกว่าเดิม นอกจากนี้ การเตรียมตัวที่จะลุกขึ้นยืนอย่างมีความพร้อม รัฐบาลคำนึงถึงความจำเป็นการได้รับวัคซีนเป็นความสำคัญอันดับแรก

“เราผ่านพ้นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจมาแล้ว อัตราการถดถอยไม่ได้ต่ำกว่าที่คาดคิดไว้ การดูแลเศรษฐกิจฐานราก คนตัวเล็ก เราพร้อมแล้ว หลายคนที่ห่วงว่าจะมีความเสียหาย ความน่ากลัวกว่าจะฟื้นตัวได้ 3 – 4 ปี เหมือนเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งคงไม่เกิดขึ้น”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า สำหรับปีหน้า ยังมีความท้าทาย เพราะเศรษฐกิจไม่ฟื้นเร็ว กว่าวัคซีนจะใช้ได้ไตรมาสสอง หรือ ไตรมาสสามของปี 64 ต้องประคับประคองและช่วยกันต่อไป เพื่อเดินหน้าและเติบโตให้ได้ ตั้งเป้าไว้ 12 เดือน 18 เดือน จะต้องกลับมาเหมือนเดิม

“แต่สิ่งที่อยากเห็นจริง ๆ และรัฐบาลตั้งใจเป็นอย่างมาก คือ ปีหน้าจะเป็นปีแห่งการเตรียมตัว เตรียมทุกอย่างเพื่อจะเปลี่ยนประเทศไทย เพราะเราไม่ต้องการกลับมาแล้วเท่าเดิม กลับมาแล้วเหมือนเดิม กลับมาแล้วพึ่งพิงการท่องเที่ยวและการส่งออก

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ปีหน้าจะเป็นปีของการปฏิบัติการเชิงรุก กรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์สำนักงานภูมิภาคเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา หรือเป็นศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล ดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วยมาตรการที่ได้เตรียมไว้ รถไฟฟ้า 13 สายจะเกิดขึ้น สถานีรถไฟกลางบางซื่อจะเปลี่ยนเป็นสถานีรถไฟกลายขนาดใหญ่ จะมีเมือง มีสิ่งปลูกสร้างที่ทันสมัยเกิดขึ้น สถานีหัวลำโพงจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เป็นห้องสมุดสำคัญ สำหรับ EEC โครงการต่าง ๆ เช่น ท่าเรือ สนามบิน จะเริ่มได้ในปีใหม่ เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น อุตสาหกรรมยา การแพทย์และสุขภาพ

นายสุพัฒนพงษ์ปีหน้ายากลำบาก ต้องประคับประคองเศรษฐกิจ และต้องปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดประเทศไทยโดยอุตสาหกรรมใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ใช้คนให้น้อย

“หลังโควิด-19 เราจะไม่กลับมาเหมือนเดิม เราร่วมมือกันอีกครั้งทั้งภาคเอกชน รัฐบาล ทำให้ประเทศไทยกลับมาแข็งแรงมากกว่าเดิม เราประคับประคองประเทศไทยมาจนถึงวันนี้ เสถียรภาพความมั่นคงทางการเงินที่ดี ไม่ได้ทุ่มเทจนทำให้เสียหลัก หรือ วินัยทางการเงินใด ๆ ทั้งสิ้น เรามีความพร้อมที่จะเติบโต

ปีหน้ารัฐบาลจะปฏิบัติการเชิงรุก สร้างอนาคตให้กับประเทศไทย โดยใช้ความพยายามทุกอย่างในการดึงดูดและส่งเสริมภาคเอกชนไทยมาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมสร้างประเทศไทยให้ทันสมัย สอดคล้องกับบุคลากรที่จะมีในอนาคตต่อไป”