“ประชารัฐ” สมัยใหม่เบียดไหล่ “ประชานิยม” ประยุทธ์ แจกสะบัด 47 รายการ

โครงการประชานิยมทุกรัฐบาล ถูกค่อนขอดว่า ดีแต่กู้-ลด แลก แจกแถม ทั้งไม่มีข้อยกเว้น แม้กระทั่งโครงการประชารัฐของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งโครงการช็อปช่วยชาติ-ชิมช็อปใช้ 3 เฟส

ไฉนเลยโครงการประชารัฐ-ประชานิยมในยุค “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจจึงดังเปรี้ยงปร้าง-เป็นพลุแตก ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน-กำลังใจ ช้อปดีมีคืน โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง”

และที่เพิ่งจะชะลอไว้ก่อน หลังออกมาผิดจังหวะ-เวลา คือ โครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่”

อย่างไรก็ตาม มาตรการประชารัฐ-ประชานิยมดังกล่าว เป็นเพียง “น้ำจิ้ม” เพราะที่ผ่านตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในยุค คสช.ได้เก็บข้อมูลเพื่อบูรณาการการให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกประเภทกว่า 44-47 สวัสดิการ

จัดทำเป็น “บิ๊กดาต้า” ผ่าน “บัตรเพียงใบเดียว” ต่อยอดจาก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อไม่ให้เป็นเพียง “บัตรแจกเงิน” และตรวจ-รับ สิทธิ์และสวัสดิการสังคมของประชาชนตลอดชีวิตตั้งแต่เกิด-ตาย

สำหรับ “สวัสดิการรัฐ” ทั้งหมดขณะนี้ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้จัดเก็บข้อมูล เพื่อทำเป็น “บัตรใบเดียว” มีทั้งหมด 44-47 สวัสดิการ ดังนี้ สวัสดิการเด็กและนักเรียน 7 สวัสดิการ

1.เงินครอบครัวอุปถัมภ์ ช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเดือนละ 2,000 บาท/เด็ก 1 คน เกิน 1 คน เดือนละ 4,000 บาท ช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภค เดือนละ 500 บาทต่อเด็ก 1 คน เกิน 1 คน เดือนละ 1,000 บาท

2.สถานรับเลี้ยงเด็ก ข้าว อาหารเสริม วงเงินคราวละ 300 บาท/เด็ก 1 คน/ปี เครื่องเล่นพัฒนาเด็ก 300 บาท/เด็ก 1 คน/ปี

3.ค่าเลี้ยงดูเป็นเงิน ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท/1 คน 3 ครั้ง เด็กเกิน 1 คน 3,000 บาท เป็นสิ่งของ ครั้งละ 1,000 บาท/1 คน 3 ครั้ง เด็กเกิน 1 คน 3,000 บาท

4.การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 5.กู้ยืมค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา ค่าใช้จ่ายจำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา

5.สิทธิกองทุนคุ้มครองเด็ก การศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา ประถมศึกษา 2,000 บาท/ปี มัธยมศึกษา 3,000 บาท/ปี และอาชีวศึกษา 4,000 บาท/ปี

6.สิทธิช่วยเหลือในภาวะวิกฤต-ภัยพิบัติ ค่าอุปกรณ์การเรียน การศึกษา คนละ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าเดินทาง คนละ 500 บาทต่อ 1 ภัย หรือ 1 เหตุการณ์

และ 7.ยกเว้นค่าเข้าชมโบราณสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

สวัสดิการผู้สูงอายุ 5 สวัสดิการ ได้แก่ 1.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือน 60-69 ปี 600 บาท 70-79 ปี 700 บาท 80-89 ปี 800 บาท และ 90 ปีขึ้นไป 1,000 บาท

2.ลดหย่อนค่าโดยสาร “ครึ่งราคา” และ “ยกเว้น” ในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายนของทุกปี สำหรับเครื่องบิน “การบินไทย” ร้อยละ 15 ชั้นธุรกิจ ร้อยละ 35 ชั้นประหยัด (จันทร์-พฤหัสบดี) และร้อยละ 30 สำหรับเดินทางวันศุกร์-อาทิตย์

3.ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์

4.การช่วยเหลือที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มตามความจำเป็น

และ 5.การสงเคราะห์จัดการศพตามประเพณี รายละ 2,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงดูบิดา-มารดา ลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท และบริจาคทรัพย์สิน-เงินแก่กองทุนผู้สูงอายุ นำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังได้รับการให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ ระยะเวลา 3 ปี ไม่มีดอกเบี้ย

สวัสดิการผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกรและไม่ใช่เกษตรกร 14 สวัสดิการ (ชดเชย-อุดหนุน) อาทิ 1.บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ได้เงิน 300 บาท/เดือนรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้เงิน 200 บาท/เดือน ลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน ค่าเดินทาง รถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาท/เดือน บขส. 500 บาท/เดือน รถไฟ 500 บาท/เดือน และ 2.ประกันรายได้เกษตรกร

สวัสดิการอื่น ๆ 19 สวัสดิการ อาทิ 1.ผู้พิการ อาทิ เบี้ยยังชีพ การศึกษา การจัดหางานให้ทำ การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ การสงเคราะห์ครอบครัวคนพิการ 2.คนไร้ที่พึ่ง สิ่งของหรือเงิน เพื่อเป็นค่าอุปโภคบริโภค ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ทุนประกอบอาชีพ ครั้งละ 1,000 บาท 3 ครั้ง

3.ผู้ตกทุกข์ได้ยากในประเทศให้กลับภูมิลำเนาเดิม ค่าอาหาร ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พักและรักษาพยาบาลระหว่างรอการเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนา 4.ผู้อัตคัดขาดแคลนทั่วไป-ยากจน ช่วยตนเองไม่ได้ ช่วยเป็นเงินครั้งละ 5,000 บาท

ประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1 สวัสดิการ และประกันสังคม 1 สวัสดิการ

ความเหมือน-ความต่างเมื่อเทียบกับนโยบายประชานิยมของ 3 รัฐบาลที่ผ่านมา ได้แก่ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาทิ 1.โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ (เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท) 2.โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร

3.โครงการไทยเข้มแข็ง โครงการนี้กลายเป็น “รอยด่าง” รัฐบาลอภิสิทธิ์ จนทำให้ “วิทยา แก้วภราดัย” รมว.สาธารณสุขขณะนั้น ต้องตัดสินใจลาออก หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข พบพฤติกรรมอันเชื่อได้ว่ามีการทุจริต

4.โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน หรือ “โครงการชุมชนพอเพียง” เพื่อส่งเงินลงในชุมชนโดยตรง แบ่งออกเป็น 7 ขนาด ขนาดเล็กที่สุด ชุมชน 1-50 คน ได้เงิน 100,000 บาท ขนาดใหญ่สุด 1,500 คนขึ้นไป 700,000 บาท

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์-นายกฯผู้น้องทักษิณ ชินวัตร อาทิ 1.โครงการรับจำนำข้าว “ทุกเมล็ด” ซึ่งเป็นคดีทุจริตครั้งประวัติศาสตร์ที่มีมูลค่าความเสียหายมโหฬารกว่า 2 แสนล้าน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจำคุกนักการเมือง-ข้าราชการ เป็นสาเหตุที่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

และ 2.โครงการรถคันแรก ที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์-กลไกตลาดชะงักงัน

เมื่อประชานิยมพ่นพิษ-ประชารัฐออกฤทธิ์ รัฐสวัสดิการจึงเบ่งบาน