ไฟเขียว 6 ยุทธศาสตร์ งบประมาณปี 2565

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง จัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 2565 ขึ้นมา โดยมีกรอบที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 และนโยบายรัฐบาล

“สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 นี้ได้มุ่งให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 4 ประเด็นคือ 1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ 2.การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 3.การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และ 4.การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ”

โดยต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ด้านนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวว่า เนื่องจากในแต่ละแผนมีตัวชี้วัดจำนวนมาก ดังนั้น ยุทธศาสตร์จัดสรรจะพยายามนำตัวชี้วัดหลักมารวมไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์จัดสรร โดยสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อนำหลักสำคัญในแต่ละตัวชี้วัดมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์จัดสรรเพื่อข้ามแผนแม่บท และกระโดดไปถึงยุทธศาสตร์ชาติได้

“ยุทธศาสตร์จัดสรรเมื่อทำแล้ว ถ้าทำหมดทุกอย่างเงินจะเกิน จึงต้องพยายามให้เห็นว่า ภายใต้หลักสำคัญในงบประมาณปี 65 สมมุติ ว่า 3.285 ล้านล้าน หรือ 3 ล้านล้าน จะไปไหนอย่างไรบ้าง เชื่อมโยงได้ ส่วนราชการทำโครงการมาเยอะแยะ เราก็ต้องถามว่า อันไหนสำคัญที่สุดก็มาทำต่อ”