โควิดลามเนื้อในรัฐบาล “ประยุทธ์” ศบค.การ์ดตก การข่าวอลหม่าน

ไม่ว่าเป็นการระบาดระลอกสองหรือการระบาดระลอกใหม่

แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านการพิสูจน์ฝีมือในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่ระลอกแรกช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2563

เห็นจุดบกพร่อง ช่องโหว่ โครงสร้างอำนาจการสั่งการ การใช้งบประมาณ กลไกการเมืองที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน

“พล.อ.ประยุทธ์” จึงใช้อำนาจผู้นำสูงสุด กีดวงนักเลือกตั้งอาชีพออกจากศูนย์อำนาจ ใช้คณาจารย์แพทย์-ความมั่นคงลุยปราบโควิด-19

แต่พลันที่โควิดระบาดระลอกใหม่ มาเยือนกลับปรากฏรูรั่วใหญ่ที่ “หน่วยงานความมั่นคง” ปฏิบัติหน้าที่หละหลวมไม่ว่าทหาร-ตำรวจ แม้ว่าฝ่ายความมั่นคง อันเป็น “จุดแข็ง” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตรึงแนวชายแดน สกัดการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางธรรมชาติ

แต่เมื่อย้อนไทม์ไลน์การระบาดรอบใหม่ 17 ธันวาคม 2563 สาธารณสุขมีการตรวจพบการติดเชื้อในหญิงสูงอายุคนไทย ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ แต่มีความเกี่ยวข้องกับแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยที่ตลาดค้ากุ้ง

ในวันต่อ ๆ มามีการตรวจเชิงลึกแรงงานพม่า ที่เข้ามาประกอบอาชีพแรงงานในตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร จากนั้นจึงตรวจเชิงลึก พบว่าแรงงานติดโควิด-19 จำนวนมาก และเป็นแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ทั้งที่ช่วง 3 ธันวาคม 2563 “พล.อ.ประยุทธ์” ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนไทยที่ติดกับพม่า กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ให้เข้มงวด-เฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากมีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบเข้าเมืองจะโดนลงโทษไม่มีละเว้น

22 ธันวาคม 2563 หลังการพบการระบาด “พล.อ.ประยุทธ์” จึงสั่งการซ้ำให้เพิ่มกำลังลาดตระเวน 24 ชั่วโมง ทั้งการเดินเท้า การใช้รถจักรยานยนต์-รถยนต์ เรือ โดรนบินลาดตระเวน เพิ่มตรวจจุดพักพิงแนวชายแดนให้มากขึ้น

แต่ท้ายที่สุดการระบาดระลอกสองกลับหนักกว่าระลอกแรก แถมยังพบขบวนการลักลอบขนแรงงานชาวโรฮีนจา จำนวน 18 คน ซุกซ่อนที่ย่านดอนเมือง ช่วงส่งท้ายปี โดยพบติดโควิด 7 คน

ส่วนฝ่ายตำรวจ ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งกำกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วยตนเอง กลับเกิดเหตุบ่อนพนันที่ จ.ระยอง เป็นบ่อเกิด super spreader ไฟลามทุ่ง จากบ่อน จ.ระยอง ไปโผล่บ่อนพนันตามจังหวัดต่าง ๆ

แม้ว่า กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การดูแลของ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” จะมีคำสั่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศห้ามจัดการพนันทุกประเภท ไม่ว่า ชนไก่ กัดปลา ชนวัว แต่ก็ยังมีคนลักลอบเล่นการพนัน

เป็นเหตุให้กรมการปกครองมีหนังสือตามคำสั่งกรมการปกครองที่ 20/2564 ลงวันที่ 6 ม.ค. 2564 ให้ย้าย น.ส.เบญจวรรณ ฟักแก้ว นายอำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเปิดบ่อนไก่ เข้ากรุ ที่วิทยาลัยการปกครอง

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับลั่นวาจา ปราบบ่อนทั่วประเทศ ตั้ง “คณะกรรมการ” นำทีมโดย สตช. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบถึงต้นตอนายทุน ผู้มีอิทธิพลเบื้องหลัง

ในทางกลับกันการสื่อสารผิดพลาดระดับผู้บริหารรัฐบาล เมื่อ “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข ระบุว่า มติที่ประชุม ศบค. มีมติล็อกดาวน์ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแก้ข่าว ว่าไม่ล็อกดาวน์

เช่นเดียวกับปัญหาวุ่น ๆ แอป “หมอชนะ” ที่เดิมที “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษก ศบค. ได้แถลงว่า ไม่โหลดถือว่ามีความผิด ในเวลาต่อมา “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ออกมาสวนทาง ระบุว่า ไม่โหลด-ไม่มีความผิด

นอกจากนี้ แผนการใช้งบประมาณฉุกเฉิน-แก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ที่นายกฯ-กระทรวงการคลังยืนยันว่า ยังมีเงิน 3 กระเป๋าที่เพียงพอเยียวยาประชาชน 40 ล้านคน วงเงิน 6.9 แสนล้านบาท 1.งบประมารณรายจ่ายประจำปี 2564 ในส่วนของงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น จำนวน 1.39 แสนล้านบาท

2.งบฯจากพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ที่ยังเหลืออยู่ จำนวน 4.7 แสนล้านบาท และ 3.งบฯลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจปี’64 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท

แต่ทั้งทำเนียบรัฐบาล-กระทรวงการคลัง ต่างรู้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก็จองกฐินแย่งงบประมาณก้อนนี้ไปช่วยชาวเกษตร ที่พรรคตนเองกุมบังเหียนอยู่เช่นกัน

สนิมเหล็กแห่งเนื้อในตนกำลังกัดกินรัฐบาล ช่วงที่ฝ่ามรสุมโควิด-19 รอบสอง