8 ทศวรรษการเมืองเฉพาะกิจ วัฏจักรพรรคปกป้องสถาบัน-ทหาร

“พรรคไทยภักดี” ประกาศต่อสู้-ท้ารบ เพื่อ “ปกป้องสถาบัน” เป็นเป้าประสงค์ในการก่อตั้งพรรค กลายเป็น “พรรคพสกนิกร” พรรคที่สองต่อจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

“จุดยืนเราชัดเจน เราจะต่อสู้กับ 3 กลุ่มนี้ หนึ่ง เราจะสู้กับพรรคก้าวไกล สอง เราจะสู้กับกลุ่มก้าวหน้า สาม เราจะสู้กับม็อบสามนิ้ว เป็นจุดยืนในการจัดตั้งพรรคไทยภักดี” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้ก่อตั้ง และว่าที่หัวหน้าพรรคไทยภักดีประกาศ

ไม่ผิดนัก ที่ “พรรคไทยภักดี” เป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่ต่างจากสังเวียนการเมืองตลอด 88 ปี ที่มีพรรคเฉพาะกิจ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปตลอดเวลา

ย้อนตำนานพรรคเฉพาะกิจ ก่อนปี 2500 “พรรคเสรีมนังคศิลา” จดทะเบียนวันที่ 29 กันยายน 2498 มี “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เป็น “หัวหน้าพรรค” และ “พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์” เป็นเลขาธิการพรรค และ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เป็นรองหัวหน้าพรรค

หลังปี 2500 หลังการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ “รัฐบาลจอมพล ป.” พรรคเสรีมนังคศิลา ได้ “ยุบพรรค” รวมกับ “พรรคชาติสังคม” ที่มี “จอมพลสฤษดิ์” เป็นหัวหน้าพรรค “พล.ท.ประภาส จารุเสถียร” เป็นเลขาธิการพรรค

ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ “รัฐประหารซ้ำ” วันที่ 20 ตุลาคม 2501 “จอมพลสฤษดิ์” ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ-ยุบสภา ยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมด “ยุติบทบาท” ทางการเมืองของพรรคชาติสังคม

“พรรคสหภูมิ” จดทะเบียนวันที่ 21 มิถุนายน 2500 มี “สุกิจ นิมมานเหมินท์” อดีต ส.ส.พรรคเสรีมนังคศิลา เป็นหัวหน้าพรรค สงวน จันทรสาขา เป็นเลขาธิการพรรค “จดทะเบียนเลิกพรรค” วันที่ 21 กรกฎาคม 2501 เพื่อ “ยุบรวม” กับ “พรรคชาติสังคม” ของ “จอมพลสฤษดิ์”

“พรรคสหประชาไทย” จดทะเบียนวันที่ 24 ตุลาคม 2511 มี “จอมพลถนอม กิตติขจร” เป็นหัวหน้าพรรค พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค จอมพลประภาส จารุเสถียร และพจน์ สารสิน เป็นรองหัวหน้าพรรค

พรรคสหประชาไทย “ต้องมีอันเป็นไป” เพราะจอมพลถนอม “รัฐประหารตัวเอง” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514

พรรคการเมืองหลังเหตุการณ์การชุมนุม 14 ตุลาคม 2516

หลังเหตุการณ์นองเลือดเป็นยุค “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” เกิดพรรคการเมือง “ลูกใหม่” มากกว่า 39 พรรค อาทิ “พรรคชาติไทย” ที่มี “ประมาณ อดิเรกสาร” เป็นหัวหน้าพรรค “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” เป็นเลขาธิการพรรค “พรรคกิจสังคม” ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” หัวหน้าพรรค และ “บุญชู โรจนเสถียร” เลขาธิการพรรค

“พรรคพลังใหม่” จดทะเบียนวันที่ 21 พฤศจิกายน 2517 มี “นพ.กระแส ชนะวงศ์” เป็นหัวหน้าพรรค “ปราโมทย์ นาครทรรพ” เป็นเลขาธิการพรรค แต่เมื่อ “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ยึดอำนาจ “รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช” พรรคการเมืองต้องมีอันต้อง “ยกเลิก” ไปซ้ำรอยเดิม

พรรคการเมืองหลังเกิดการรัฐประหาร-เหตุการณ์การสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 การเลือกตั้งภายใต้รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผ่านบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2521 เปิดทางให้ “กลุ่มการเมือง” ลงสมัครรับเลือกตั้งได้

พรรคชาติประชาชน-พรรคสยามปฏิรูป-พรรคสนับสนุนนนโยบายเกรียงศักดิ์ 3 กลุ่มการเมือง “ยุบรวม” กับ “พรรคสยามประชาธิปไตย” ที่มี “พล.อ.เกรียงศักดิ์” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็น “หัวหน้าพรรค” นักการเมืองเด่น-ดัง อาทิ วัฒนา อัศวเหม , มั่น พัธโนทัย

พรรคเอกภาพ หรือชื่อเดิม “ประชาไทย” ของ “ทวี ไกรคุปต์” ที่เป็นการ “ยุบพรรค” รวมกับ 3 พรรค พรรคกิจประชาคม พรรคก้าวหน้า และ พรรคประชาชน ของ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลชาติชาย 2

พรรคเฉพาะกิจที่เป็น “พรรคทหาร” เกิดขึ้นเป็นพรรคที่สาม ต่อจากพรรคเสรีมนังคศิลา-สหประชาไทย คือ “พรรคสามัคคีธรรม” ที่มี “ณรงค์ วงศ์วรรณ” เป็นหัวหน้าพรรค และสมาชิก รสช.ร่วมตั้งพรรค เช่น พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก

“พรรคชาติพัฒนา” หรือ “พรรคปวงชนชาวไทยเดิม” จดทะเบียนวันที่ 20 เมษายน 2525 “เปลี่ยนชื่อ” เป็นพรรคชาติพัฒนา วันที่ 21 กรกฎาคม 2535 โดยมี “พล.อ.ชาติชาย” อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นหัวหน้าพรรค มี “ประจวบ ไชยสาส์น” เป็นเลขาธิการพรรค “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” เป็นรองหัวหน้า

มีนักการเมืองที่ยังคงโลดแล่นอยู่ในยุทธจักรมากมาย อาทิ “สุวัจน์-เทวัญ ลิปตพัลลภ” รองเลขาธิการพรรค-กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) สนธยา คุณปลื้ม-จำลอง ครุฑขุนทด กก.บห.

พรรคชาติพัฒนาในยุคที่มี “สุวัจน์” เป็นหัวหน้าพรรค ไปรวมกับ “พรรคไทยรักไทย” เป็นรัฐบาล “ทักษิณ 2” หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” เพราะหาสมาชิกไม่ครบ 5,000 คนขึ้นไป และตั้งสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขาไม่ทันภายใน 180 วัน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ปิดตำนานทายาทพรรค “น้าชาติ”  เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้าโดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามที่จะฟื้น “พรรคน้าชาติ” ขึ้นมาอีกครั้ง โดยการนำของสุวัจน์ อาทิ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และพรรคชาติพัฒนา ที่มี “เทวัญ” เป็นหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน

พรรคการเมืองยุคหลังปี 40 ตั้งแต่ปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” ของพรรคไทยรักไทย ตลอด 2 ทศวรรษหลัง ที่มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง คือ 19 กันยาฯ 49 และ 22 พฤษภาฯ 57 เกิดพรรคการเมืองเฉพาะกิจ-เฉพาะกาลตั้งขึ้น-ควบรวม จำนวนมาก

อาทิ พรรคมหาชน ของ “อเนก เหล่าธรรมทัศน์” พรรคประชาราช ของ “เสนาะ เทียนทอง” พรรคนอมินีทักษิณ-พรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย-พรรคไทยรักษาชาติ พรรคมัชฌิมา-มัชฌิมา ของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”

พรรคเพื่อแผ่นดิน ของ สุวิทย์ คุณกิตติ-ประชา พรหมนอก พรรคมาตุภูมิ ของ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช. พรรคภูมิใจไทย ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” พรรคพลังชล ของ “สนธยา คุณปลื้ม”

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 “ตอกฝาโลง” ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” จนเกิดการตั้ง “พรรคเฉพาะกิจ” จำนวนมาก

นับเฉพาะพรรคการเมืองที่ “ได้ไปต่อ” เข้าร่วมสมการอำนาจในรัฐบาล-ฝ่ายค้าน จำนวน 21 พรรค จากทั้งหมด 70 พรรคการเมืองที่ “ยังดำเนินการอยู่” ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563

ได้แก่ 1.พลังธรรมใหม่ 2.ประชาธิปไตยใหม่ 3.พลเมืองไทย 4.ประชาชนปฏิรูป (ยุบพรรคตัวเอง) 5.ประชาธรรมไทย 6.ประชานิยม 7.ครูไทยเพื่อประชาชน 8.ไทยศรีวิไลย์ 9.พลังไทยรักไทย 10.ประชาภิวัฒน์ 11.พลังชาติไทย

12.พลังปวงชนไทย 13.รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 14.พลังท้องถิ่นไท 15.รวมพลังประชาชาติไทย 16.เพื่อชาติ 17.เศรษฐกิจใหม่ 18.ประชาชาติ 19.เสรีรวมไทย 20.อนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน) 21.พรรคพลังประชารัฐ

พรรคประชาชนปฏิรูป ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ได้ “น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า” เดินตามรอยสัจธรรมเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ยุบรวมกับพรรคพลังประชารัฐ กลายเป็น “พรรคเฉพาะกิจ”

สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง หลังจากครองสมณะ “พรรคจิ๋ว” 10 เดือน 34 วัน