“อนุทิน” ตอบ “ธนาธร” ไม่ผูกขาดวัคซีน หยุดพาดพิงสถาบัน

อนุทิน ชาญวีรกูล

“อนุทิน” ขอบคุณ “ธนาธร” หยุดกล่าวถึง “วัคซีนพระราชทาน” พาดพิงสถาบัน ชี้ สธ.ไม่ทำงานล่าช้า ไม่ผูกขาดวัคซีน แต่แอสตร้าเซนเนก้า เหมาะสมกับคนไทยที่สุด แถมกฎหมายห้ามไม่ให้ซื้อของโดยที่ยังไม่มีการผลิต โต้กลับปมเปิดสัญญา เป็นนักธุรกิจย่อมรู้ดีการจะเปิดเผยข้อความในสัญญา ทำได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตอบข้อสงสัยของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ถึงกรณีวัคซีน โดยระบุว่า

เรียน คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผมขอบคุณคุณธนาธร ติดตามการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และไม่ละเลยที่จะกล่าวคำขอบคุณ ให้กำลังใจกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 จนถึงขณะนี้ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อความปลอดภัย และลดการสูญเสียของคนไทยให้ได้มากที่สุด

ผมดีใจที่คุณธนาธร ไม่กล่าวถึง “วัคซีนพระราชทาน” และ ไม่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ อีก ซึ่งผมเข้าใจว่าคุณธนาธร ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นความจริงแล้วการจัดหาวัคซีน ที่คุณธนาธร ตั้งข้อสังเกต และข้อสงสัยหลายประเด็น ผมขอตอบในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่า

เราไม่ได้ทำงานล่าช้าตามที่คุณธนาธรกล่าวหา เราประชุมเตรียมการจัดหาวัคซีนมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แต่ในช่วงเวลานั้น การให้ความสนใจติดตามข่าวสารเรื่องวัคซีน อาจจะน้อยกว่าการติดตามสถานการณ์การระบาดและการเยียวยา ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลการเจรจา ในขณะที่ยังไม่บรรลุผล ไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และจะทำให้ประชาชนสับสน ซึ่งคุณธนาธร เป็นนักธุรกิจ มีประสบการณ์การเจรจาทางธุรกิจกับบริษัทต่างชาติมาแล้ว น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ดี

กว่าที่เราจะเจรจาบรรลุข้อตกลงที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย และคนไทย ต้องใช้เวลามากพอสมควร เมื่อมีความชัดเจนเกิดขึ้น เราได้แถลงให้ประชาชนทราบอย่างเปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีส่วนร่วมในการทำงานนี้เพื่อการจัดหาวัคซีน มาให้คนไทยทุกคน ด้วยความปลอดภัย และยังสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้แก่ประเทศไทย ในฐานะผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไวรัสโคโรนา 2019 เพียงประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน

เราเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนทุกราย ที่ผลิตวัคซีนออกมาจำหน่ายในขณะนี้ การเจรจาจัดหาวัคซีน มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งจากเงื่อนไขของผู้ผลิต และจากระบบกฎหมายไทย และงบประมาณของประเทศไทยเอง

1.ผู้ผลิตทุกราย ต้องการให้เราจ่ายเงินจองซื้อวัคซีน ในขณะที่เขาเพิ่งเริ่มต้นการทดลอง ยังไม่มีการผลิตวัคซีนจริง หากเขาผลิตไม่สำเร็จ เงินที่เราจองซื้อ จะไม่ได้รับคืน ถือว่าเป็นการลงทุนร่วมกัน รับความเสี่ยงร่วมกัน

กฎหมายไทย ไม่อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินจองซื้อสินค้าที่ยังไม่มีการผลิต และการมีเงื่อนไขว่า หากไม่สำเร็จ จะไม่ได้รับเงินคืน ก็ไม่สามารถทำได้

แม้จะมีเงื่อนไขว่า ถ้าเราจ่ายเงินจองซื้อล่วงหน้า หากเขาผลิตวัคซีนได้สำเร็จ เราจะมีโอกาสซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาที่เราซื้อเมื่อเขาผลิตได้แล้วก็ตาม หน่วยงานของรัฐ ไม่สามารถทำสัญญาเช่นนั้นได้

2.เมื่อพิจารณาข้อมูลด้านเทคนิคการผลิตและการจัดการวัคซีนจากแหล่งผลิตไปจนถึงประชาชนแล้ว เราต้องเลือกวัคซีนที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนสูงสุด รวมถึงการใช้เงินงบประมาณ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่าที่สุด จึงเป็นที่มาของการเลือกซื้อวัคซีนจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าวัคซีนของผู้ผลิตรายอื่น และเหมาะสมกับการจัดการฉีดในประเทศไทย มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนอื่น ๆ

3.การได้รับข้อเสนอจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ใช้โรงงานในประเทศไทย ซึ่งบริษัทเลือกเอง เป็นฐานการผลิตวัคซีน ของบริษัท เพื่อจำหน่ายให้แก่ภูมิภาคอาเซียน อีกด้านหนึ่งต้องนับเป็นความมั่นคงทางด้านวัคซีนของประเทศไทย เป็นสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในฐานะผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อศักยภาพของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่รัฐบาลให้การสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนในประเทศไทยหลายราย ทั้งสถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาวัคซีนของคนไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ

4.การจัดหาวัคซีน ในระยะแรก จำนวน 26 ล้านโดส จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และจำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัทซิโนแวค เพื่อฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง เป็นจำนวนที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้วิเคราะห์แล้วว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีการระบาดรุนแรง และไม่มีผู้ป่วย หรือมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เช่นในบางประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนโดยด่วน แม้ว่าจะเกิดผลข้างเคียงที่ยังไม่รู้แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้จองซื้อวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส สำหรับประชากร 31.5 ล้านคน คิดเป็น 63% ของประชากรที่ควรรับวัคซีนได้ ซึ่งมีประมาณ 50 ล้านคน (ตัดกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์ออก) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทย

ประกอบกับจำนวนวัคซีนที่จะทยอยส่งมอบต้องดำเนินการให้เกิดคุณภาพการจัดการ และการเก็บข้อมูลด้านความปลอดภัย การวางแผนจัดหาและฉีดวัคซีน จึงต้องคำนึงปริมาณที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสูญเสียและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น อีกทั้ง UNICEF คาดการณ์ปริมาณวัคซีนที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จนเพียงพอต่อความต้องการ และมีแนวโน้มที่วัคซีนจะราคาถูกลงกว่าในขณะนี้ เราจะประหยัดงบประมาณไปได้อีกมาก

โดยสรุป การจัดหาวัคซีน เป็นไปตามหลักการคำนวณของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดในประเทศ และความปลอดภัยของประชาชน เป็นสำคัญ และไม่ได้วางแผนดำเนินการล่าช้าตามที่กล่าวหากัน ตามที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หนึ่งในคณะอนุกรรมการอำนวยการบริการจัดการให้วัคซีนไวรัสโคโรนา 2019 ได้ตอบคำถามของประชาชน ที่ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกับคุณธนาธรแล้ว

5.ทุกท่านที่วิจารณ์และตำหนิการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ต่อการบริหารสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ต้องให้ความเป็นธรรมต่อคนทำงานด้วย เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ไม่มีใครรู้จัก และไม่มีประสบการณ์ ทุกประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทย ต่างใช้ประสบการณ์ในอดีตที่ใกล้เคียงที่สุด มาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำงาน คนทำงานอาจจะมีถูกบ้างผิดบ้าง และต้องติดตาม ปรับปรุงแผนการทำงานกันทุกวัน ตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมา การนำข้อมูล และตัวเลขต่าง ๆ มากล่าวอ้าง จึงขอให้พิจารณาตรวจสอบข้อมูล และแหล่งที่มา ณ วันที่นำมาอ้างอิง ด้วย

กระทรวงสาธารณสุข พยายามทำงานเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยให้ดีที่สุด ทั้งในช่วงเวลาที่ไม่มีวัคซีน และมีวัคซีนแล้ว ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการทางการแพทย์ทุกประการ และการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทุกคนด้วยความสมัครใจ จะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2565 เป็นอย่างช้า

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการฉีดวัคซีน ไม่ใช่การปลดล็อกทุกอย่าง และจะทำให้เรากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ได้โดยเร็ว ในระยะแรกของการฉีด วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือควบคุมโรค และ ป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ทุกคนยังต้องใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ไปที่แออัด เพื่อลดการติดและการแพร่เชื้อ อีกสักระยะ เราต้องติดตามผลการศึกษาวัคซีน ว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานแค่ไหน กันต่อไป

6.กรณีที่ประเทศไทยไม่รวมโครงการวัคซีนของ COVAX นั้น เราได้เจรจากับ COVAX มาตลอด แต่เราไม่อยู่เกณฑ์ที่เขาจะให้ฟรี COVAX ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่ WHO และ GAVI ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีฐานะปานกลาง หากเราจะร่วมกับ COVAX เราต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ มีความไม่แน่นอนทั้ง ชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้วัคซีนเมื่อไร การที่เราจัดหาเอง และได้วัคซีนที่เหมาะสมกับการใช้ มีเงื่อนไขด้านราคาและเวลาที่ชัดเจนกว่า จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า

7. รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะผูกขาดการจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตรายหนึ่งรายใด แต่เราต้องเลือกวัคซีนที่มีความเหมาะสมกับใช้กับประเทศไทยมากที่สุด ขอยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 61 ล้านโดส และจากริษัทซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส เป็นการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่คนไทย และประเทศไทย ซึ่งมีการตอบรับข้อเสนอของประเทศไทย และเสนอเงื่อนไขการขายวัคซีนให้แก่ประเทศไทย ดีกว่าผู้ผลิตรายอื่น

หากในอนาคตมีผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น ๆ มาขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าที่จัดซื้ออยู่ในขณะนี้ ก็เป็นไปได้ที่รัฐบาลจะพิจารณาจัดซื้อ และสนับสนุนให้เอกชนจัดซื้อไปให้บริการประชาชน

ส่วนกรณีสัญญาต่าง ๆ นั้น ในส่วนของสัญญาภาคเอกชน หรือสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนก็ตาม คุณธนาธร เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจภาคเอกชน น่าจะทราบดีว่า การจะเปิดเผยข้อความในสัญญา ทำได้หรือไม่ อย่างไร จะต้องได้รับการยอมรับจากคู่สัญญาด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ผมได้ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับไปพิจารณาดำเนินการตามกรอบกฎหมายแล้ว

ผมตอบคำถามคุณธนาธรตามนี้ และขอเรียนว่ารัฐบาลพร้อมที่จะปรับแผนการบริหารสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการจัดหาวัคซีน หากมีผลการศึกษา และการผลิตวัคซีนที่ดีกว่า เหมาะสมกว่า เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ลดการสูญเสีย และใช้เงินงบประมาณคุ้มค่ามากที่สุด

ขอให้คุณธนาธร เชื่อมั่นว่ารัฐบาล มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกคน และปรารถนาที่จะนำประเทศไทยกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม โดยเร็วที่สุด ขอให้เชื่อมั่นว่า กระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งผม ที่ทำงานกันเป็นทีมอยู่ในขณะนี้ ไม่มีเป้าหมายทางการเมือง และไม่ประสงค์จะนำความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชน มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เป้าหมายเดียวที่เรามี คือ ประชาชนคนไทยต้องปลอดภัย