ปรับ ครม. หัวหน้าพลังประชารัฐ โยนให้ ‘ประยุทธ์’ เลือก ย้ำไม่มีโควต้า กปปส.

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม
FILE. Lillian SUWANRUMPHA / AFP

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ระบุปรับ ครม.ไม่มีระบบโควต้า กปปส.

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี​ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ​ (พปชร.)​ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี​ 2​ รัฐมนตรีของพรรคพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี​จากคำพิพากษาจำคุก ได้หารือเรื่องการปรับ​คณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือ​ยัง ว่า​ ไม่มี​ ยังไม่ได้คุย​ ยังไม่ได้พบนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องปรับ​ โดยขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า​ โควต้าของ นายณัฏฐพล​ ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส เป็นโควตาของกปปส.​ โควต้านี้​ ยังจะเป็นโควต้าของ​ กปปส.อยู่หรือไม่​ พล.อ.ประวิตร​ ย้อนถามเสียงดังว่า “ของกปปส.ที่ไหนของพรรค​ พปชร.​ ทั้งสองคนเขาอยู่พรรค​ พปชร. ก็แล้วแต่พล.อ.ประยุทธ์พิจารณา”

วิษณุ ยันมีรักษาการแทน รมต. “ศึกษา-ดีอีเอส”

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผู้กรณีตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อว่างลงว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้คุยอะไรกับตน แต่เมื่อตำแหน่วว่างลง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติไปแล้วว่า หากรัฐมนตรีว่าการไม่อยู่ให้รัฐมนตรีช่วยขึ้นมารักษาการตามลำดับ ซึ่งกรณีนี้ คือคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขึ้นมารักษาการ

ส่วนกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครม. เคยมีมติในเมื่อกระทรวงนี้ หากไม่มีรัฐมนตรีช่วย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการแทนเป็นอันดับแรก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรักษาการเป็นอันดับสอง ซึ่งในกรณีนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นผู้รักษาการ จนกว่าเมื่อมีการประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วนายกรัฐมนตรีอาจจะสั่งการเป็นอย่างอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงาน ข่าวการปรับคณะมนตรีเกิดขึ้นภายหลังจากศาลอาญา ได้มีคำพิพากษาคดีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นจำเลยความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกรวม 39 คน เป็นจำเลยความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

จำคุกแกนนำกลุ่ม กปปส ซึ่งมี 3 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/3 คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำคุก 7 ปี, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำคุก 6 ปี 16 เดือน และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จำคุก 5 ปี

คำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้ว อาจส่งผลให้ 3 จำเลย ซึ่งเป็นรัฐมนตรี ต้องหลุดจากความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยมาตรา 170 (4) ความเป็นระบุว่าความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงตามเป็นการเฉพาะตัว เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (7) ที่ระบุถึง การต้องคำพิพากษาให้จำคุก ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้จำคุก ไม่ว่าจะถึงที่สุดหรือไม่แต่รัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง อย่างชัดเจน