6 ดาวฤกษ์ สู่ ดาวเคราะห์ ประกาศิต “บิ๊กป้อม” แช่แข็งเก้าอี้การเมือง

จากกลุ่มดาวฤกษ์ กลายเป็นดาวเคราะห์ในบัดดล เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 76/2564

เรื่องปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (ปสส.) เพื่อดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาให้เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผนตามระบบของรัฐสภา

ตลอดจนเพื่อให้การประสานงานกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกรัฐสภาและพรรคการเมืองในปัญหาต่าง ๆ ด้านนิติบัญญัติดำเนินการให้เป็นไปอย่างราบรื่น

ADVERTISMENT

2 ชื่อที่ถูกปรับออกจากวิปรัฐบาล ในส่วนพรรคพลังประชารัฐ คือ “วทันยา วงษ์โอภาสี” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ “มาดามเดียร์” หัวหน้ากลุ่มดาวฤกษ์ และ “ศิริพงษ์ รัสมี” ส.ส.เขตหนองจอก กทม.สมาชิกกลุ่ม

สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันลงมติโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ซึ่ง 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ได้ปฏิบัติการ “งดออกเสียง” ไว้วางใจ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
กลายเป็นเรื่องใหญ่ในวงการเมือง เมื่อ “ภูมิใจไทย” เรียกร้องให้ “พลังประชารัฐ” ต้นสังกัดกลุ่มดาวฤกษ์ แสดงสปีริตรับผิดชอบ

“พลังประชารัฐ” ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน

ADVERTISMENT

วินาทีที่ 2 ชื่อ กลุ่มดาวฤกษ์ “ถูกปลด” ออกจากวิปรัฐบาล “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมายืนยันว่านี่คือการลงโทษ

“ได้ลงโทษไปหมดแล้วและได้ขอโทษไปกับพรรคภูมิใจไทยไปบ้างแล้ว และให้ออกทุกตำแหน่งที่เกี่ยวกับการเมือง เป็นเวลา 3 เดือน อีกทั้งดำเนินการลงโทษทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง”

ADVERTISMENT

หลังจาก “ลุงป้อม” ให้สัมภาษณ์ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ก็ให้สัมภาษณ์เหตุผลของการปรับตำแหน่งในวิปรัฐบาลว่า

มีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ต้องทำหน้าที่ในกมธ. ทำให้ไม่มีเวลามาร่วมประชุมกับวิปรัฐบาล

อาทิ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. ที่เป็นประธาน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี ประธาน กมธ.ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ประธานกมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ได้ลาออกจากวิป รัฐบาลเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีก็มีผู้ลาออก ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรมว.ดีอีเอส

อย่างไรก็ตาม มีกรณีของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่จะขอลาออกจากวิปรัฐบาลแม้เพิ่งถูกตั้งขึ้นมา เนื่องจากมีภารกิจงานอื่น ๆ ใน กมธ.ค่อนข้างมาก จึงจะสลับให้นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม. กลับเข้ามาเป็นวิปรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการขอเปลี่ยนตัววิปด้วย

ถูกแบน หมดลุ้นเก้าอี้การเมือง

ขณะเดียวกัน เรื่องราวเบื้องหลัง ยังปรากฏความปั่นป่วนไม่ลงตัวอยู่เล็กน้อยใน “พลังประชารัฐ” เมื่อ

“ไพบูลย์” ถูกวางให้เป็นวิปรัฐบาลแทน “สุชาติ ชมกลิ่น” ที่ออกไปเป็น รมว.แรงงาน แต่ได้ถอนตัวไม่รับงานดังกล่าว จึงทำให้ตำแหน่งว่างลง และเป็นเหตุผลที่ “ศิริพงษ์” ได้คัมแบ็กกลับเข้ามาเพื่อให้เป็น “ตัวเชื่อม” ระหว่างวิปรัฐบาล กับ “กลุ่มดาวฤกษ์”

ทั้งที่โดนตัดชื่อทิ้งเพื่อเป็นการ “ทำโทษ” ดังนั้น กลุ่มดาวฤกษ์ที่ถูก “ทำโทษ” ตัดออกจากวิปรัฐบาล จึงมีแค่ “มาดามเดียร์” ที่เป็นหัวขบวน

เปิดชื่อ – สถานะทางการเมือง ของ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ ที่ “พล.อ.ประวิตร” สั่งแบนทุกตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 3 เดือน

1. น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน

2. นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.เขตหนองจอก ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

3. นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.เขตคลองเตย-วัฒนา ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ การพัฒนาเศรษฐกิจ

4. น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจักร โฆษกคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

5. น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ การสวัสดิการสังคม

6. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.เขตดุสิต-บางซื่อ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

แหล่งข่าวแกนนำพลังประชารัฐ ระบุว่า “แม้ว่า พล.อ.ประวิตรจะสั่งให้ออกจากทุกตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 3 เดือน แต่เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในพรรคที่หนักไปกว่านี้ ตำแหน่งในกรรมาธิการสามัญ ของทั้ง 6 คนยังคงอยู่ แต่จะหมดสิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ นับจากนี้ หรือ หากจะเป็นก็ยากหน่อย”

“มาดามเดียร์” ส.ส.ปัดเศษ สู่หัวหน้าดาวฤกษ์

“กลุ่มดาวฤกษ์” ในค่าย “พลังประชารัฐ” ปรากฏตัวตน ในช่วงมิถุนายน 2563 ที่กลุ่ม 4 กุมาร นำโดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล กำลังถูกทุกก๊วนการเมืองในพลังประชารัฐ “รุมกินโต๊ะ” เลื่อยขาให้พ้นตำแหน่ง – พ้นพรรค

ทันใดนั้น 12 ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ภายใต้ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ – พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” แกนนำ กปปส.ในพลังประชารัฐ ก็เกิดอาการกบฏขอแยกตัวออกมา 5 คน เพื่อมาสนับสนุน “มาดามเดียร์” เป็น number one ของกลุ่ม ชิงเก้าอี้รัฐมนตรี

ทั้งที่หลังเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 “มาดามเดียร์ – วทันยา” ยังมีสถานะเป็น ส.ส.ส้มหล่น เกือบไม่ได้ติด 1 ใน 19 ส.ส.บัญชีรายชื่อของพลังประชารัฐ

เพราะหลังปิดหีบเลือกตั้ง มีการถกเถียงถึงสูตรการนับคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามสูตร “จัดสรรปันส่วนผสม” ของ กกต.ถึงขั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยตัดสิน

รวมถึงผลพวงการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่ง กกต.ต้องนำคะแนนเลือกตั้งซ่อมมารวมกับคะแนนดิบเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ใหม่

ที่แต่เดิม พลังประชารัฐได้ 18 ที่นั่ง เมื่อทำการ “ปัดเศษคะแนน” พลังประชารัฐจึงได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมา 1 ที่นั่ง เป็น 19 ที่นั่ง พอดีกับลำดับของ “มาดามเดียร์” และเธอได้กลายเป็นหัวหน้ากลุ่มดาวฤกษ์ในที่สุด

เส้นทางสู่ดาวเคราะห์

วีรกรรม มาดามเดียร์ – กลุ่มดาวฤกษ์ เป็นที่ได้ยินทั่วยุทธจักรการเมือง ก่อนที่มีการโหวต “งดออกเสียง” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

ว่ากันว่า มาจากความขัดแย้ง ฝังลึกมานานตั้งแต่ช่วงปี 2562 ถึงขั้น “มาดามเดียร์” ฟ้องหมิ่นประมาท “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ขณะที่ “ภูมิใจไทย” ก็ฟ้องหมิ่นประมาทธุรกิจสื่อที่อยู่เบื้องหลัง “มาดามเดียร์” ในข้อหาหมิ่นประมาทเช่นเดียวกัน เรื่องอีรุงตุงนังข้ามศักราช

นอกจากนี้ ระหว่างที่กลุ่ม 4 กุมาร ถูกรุมกินโต๊ะ เลื่อยขาเก้าอี้ นอกจากมีข่าวว่า “กลุ่มดาวฤกษ์” ขอเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง ตามโควตา 7 ส.ส. ต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรีแล้ว

หากพลาดหวังไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีขึ้นมา ก็ขอจองตำแหน่งโฆษกรัฐบาลไว้กันเหนียว ให้ “มาดามเดียร์” เสียบแทน “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ซึ่งขณะนั้นเป็นโฆษกรัฐบาล และเป็นแคนดิเดต รมช.แรงงาน

แต่กลุ่มดาวฤกษ์ก็ชวดทั้งสองเก้าอี้ โฆษกรัฐบาลกลายเป็นของ “คนนอก” อย่าง “อนุชา บูรพชัยศรี” อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่เกาะกลุ่ม กปปส.

“หัวขบวนดาวฤกษ์” เก็บความคาดหวังไว้ก้นหีบ ลงทำพื้นที่ จัดอีเวนต์ใน กทม.อย่างต่อเนื่อง เผื่อวันหนึ่งโอกาสมาถึง

ทว่า เกมดันพลิก เพราะ 6 ส.ส. “งดออกเสียง” ไว้วางใจ “ศักดิ์สยาม” เป็นปฐมเหตุ

“มาดามเดียร์” ถูกกดดันให้ “ขอโทษ” ภูมิใจไทย ในวันที่มีแต้มต่อทางการเมืองเป็นเสียง ส.ส.สูงลิบลิ่วถึง 61 เสียง

ยังไม่นับเสียงที่นับไม่ได้อีก 4 เสียง เพราะฝังตัวเป็นงูเห่าในพรรคก้าวไกล จากดาวฤกษ์ จึงกลายเป็น ดาวเคราะห์