จตุพร เผยน้ำจิ้ม ปราศรัยออนไลน์ ไล่ประยุทธ์ 24 เม.ย.

จตุพร เผยรูปแบบการปราศรัยออนไลน์ ไล่ประยุทธ์ ยก 2 ประเดิม 24 เม.ย. “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีต รมว.คลัง สับปัญหาเศรษฐกิจ 25 เม.ย. “ไพศาล พืชมงคล” อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี “บิ๊กป้อม” ถลกโควิด

วันที่ 22 เมษายน 2564 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ Peace Talk ถึงรูปแบบการปราศรัยออนไลน์ เวทีไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย ในหัวข้อ “24 เมษา ยก 2 ประยุทธ์ออกไป”

นายจตุพร กล่าวว่า การจัดรูปแบบชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดีย ในนัยยะหนึ่งเกี่ยวกับมาตรการโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดไปทั่วประเทศนั้นจะต้องมีการวิพากษ์ถึงความล้มเหลว และชี้ให้เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่สมควรที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้แต่เพียงวันเดียว โดยในวันที่ 24 เมษายนนี้ จะเริ่มต้นกิจกรรมปราศรัยในเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

นายจตุพร กล่าวถึงไฮไลท์หลักของวันแรก (24 เม.ย.) จะอยู่ที่ “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจของประเทศ การเงิน การคลัง หรือกรณีเรื่องทุนผูกขาด อยากให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับรู้อย่างเท่าเทียมกันว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ไหน

ขณะที่ไฮไลท์ในวันที่สอง (25 เม.ย.) อยู่ที่ “นายไพศาล พืชมงคล” อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนที่ติดตามในเรื่อง สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รัฐบาลรับมือบกพร่องผิดพลาดกันอย่างไร อยากให้ติดตามกัน

นายจตุพร ระบุ อยากให้พี่น้องประชาชนได้รับฟังว่าอย่างน้อยที่สุดในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันนั้น เราควรมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เป็นความจริงของประเทศไทย หรือแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ควรจะรับฟัง ข้อเสนอแนะใด ๆ ในการหาทางออกให้กับชาติบ้านเมืองทั้งที่ตัวเองก็ไม่มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาชาติ แต่อย่างใด สภาพผู้นำที่ไร้หูนั้นเป็นภาวะวิกฤตของประเทศ ซึ่งในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติ

“ผู้นำที่ไม่ฟังใครนั้นก็คนอาจจะไม่รู้สึกถึงผลกระทบ แต่ความล้มเหลวในทุกมิติโดยเฉพาะการบริหารการจัดการเรื่องวัคซีน ซึ่งต้องโทษคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีว่าเมื่อประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นอำนาจมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและ ศบค.ก็ต้องฟังนายกรัฐมนตรี เพราะตอนนี้เป็นมาตรการเหมือนกับการใช้มาตรา 44 แต่อยู่ในรูปแบบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

ทั้งนี้ ปัญหาหลักวันนี้ ที่อยากให้นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนคือ “สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหรือไม่”