
รายงานพิเศษ
สัญญาณยุบสภา-เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “เพลี่ยงพล้ำ” การ์ดตก
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 กำลังจะกลายเป็น “จุดตาย” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้นำ คสช. ที่เคยเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจเต็มมือ
- กรมอุตุฯ เปิดชื่อพายุลูกใหม่ โซนร้อน “โคอินุ” (KOINU) พายุลูกที่ 14
- เปิดประวัติ “กุลยา ตันติเตมิท” อธิบดีสรรพากรหญิง คนแรกของประเทศไทย
- ธนาคารโลกหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทย เวียดนาม และหลายประเทศในอาเซียน
การจัดการกับโควิด-19 และการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล “ล้มเหลว” ไม่เป็นท่า จากที่เคยได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่จัดการโควิด-19 ได้ “อยู่หมัด”
โควิดระลอก 3 จุดตายประยุทธ์
การระบาดของโควิด-19 สองระลอกล่าสุด ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการ “บริหารจัดการผิดพลาด” ของรัฐบาล ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งพรวดกลายเป็นประเทศใกล้แตะอันดับท็อป 100 ส่วนการจัดหา-ฉีดวัคซีน “รั้งท้าย”
“ระลอกสอง” รัฐบาล “ปล่อยปละละเลย” จนกลายเป็น “ต้นตอ” การแพร่ระบาดมาจาก “แรงงานเถื่อน” ในจังหวัดสมุทรสาคร และ “บ่อนการพนัน” ในจังหวัดระยอง-กรุงเทพฯ
ขณะที่ระลอกสาม “จุดเกิดเหตุ” มาจากVVIP ระดับรัฐบาลที่กลายเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” รัฐมนตรีในรัฐบาล-ข้าราชการระดับสูง ถูกวิจารณ์เรื่อง “ติดโควิด” และ “ปกปิดไทม์ไลน์”
เสมือน “ผีซ้ำด้ำพลอย” การระบาดของโควิด “ระลอกสาม” มีผู้ติดเชื้อหลัก 2 พันคน ทำให้สายด่วน-เบอร์ฉุกเฉินล่ม เตียงขาด-รถพยาบาลที่จะไปรับผู้ป่วยติดโควิดไม่เพียงพอ ปานกับ “ระบบสาธารณสุขล่ม”
ประกอบกับการบริหารจัดการด้านวัคซีน “ไม่มีประสิทธิภาพ” จากการฉีด-จัดหาวัคซีน “ล่าช้า” ส่งผลให้ “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เดียวที่เหลืออยู่ต้อง “ดับวูบ” คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน-อภิสิทธิ์ชนซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ
พรรคร่วมหนีตาย-ลอยแพบิ๊กตู่
ขณะที่ความไม่ลงรอย-กินแหนงแคลงใจระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาล-พลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล อย่างภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ “ตอกลิ่ม” ความขัดแย้ง “ร้าวลึก” อยู่ในรัฐบาลไม่สามารถสมานแผลได้-อยู่เพื่อแชร์ผลประโยชน์เท่านั้น
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกทิ่ม-แทงข้างหลังจากพรรคพลังประชารัฐ ทั้งเรื่องการฉีกมารยาททางการเมือง-ลงสมัครแข่งเลือกตั้งซ่อม การเขียนด้วยมือ-ลบด้วยเท้าในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ล่าสุดการตีท้ายครัวภาคใต้-เจาะไข่แดงฐานที่มั่น
พรรคประชาธิปัตย์จึงทั้งเจ็บแล้วจำ-เจ็บแล้วทน รอจังหวะการเมือง “ถอนตัว” ออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยใช้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นเงื่อนไข
ขณะที่ภูมิใจไทย-พรรคอันดับสองที่มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ “สะดุดขาตัวเอง” และแต่วันนี้กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก”
รวมถึงกรณี “เสี่ยโอ๋” “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม-เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ติดโควิด -19
นอกจากนี้ หน่วยงานในกำกับของกระทรวงสาธารณสุขยังถูก “พล.อ.ประยุทธ์” ถามกลางที่ประชุมระหว่างลงพื้นที่ตรวจโรงพยาบาลสนาม เรื่องโทร.ไปสายด่วน 1668-1669 ไม่มีเสียงปลายสายรับเหตุฉุกเฉิน
ทว่าเรื่องที่คอขาด-บาดตายมากที่สุดคือ ระบบสาธารณสุขล้มเหลว ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ ทำให้อนุทินถูก “ล่าลายชื่อ” ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
พร้อม ๆ กับเสียงวิจารณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ หมอ-พยาบาลที่ไม่พอใจคำพูดของ “คนในรัฐบาล” ที่คอยจะโยนความผิด-ปัดความรับผิดชอบ
ความไม่เป็นเอกภาพในการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ไม่ได้อยู่ “ใต้ร่มเงา” ของ ศบค.เบ็ดเสร็จอีกต่อไป หลังจากพรรคการเมือง อาทิ ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ ออกมาตั้งศูนย์ประสานงานโควิด-19 “นอกทำเนียบ”
กระทบ “บารมี” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” และ “ศูนย์รวมอำนาจเบ็ดเสร็จ” อย่าง ศบค.ยังใช้เป็นกลไกการแก้ปัญหาโควิดได้อยู่หรือไม่
สัญญาณยุบสภา
เมื่อวัคซีนที่ดูเหมือนจะเป็น “แสงนำทาง” และ “ร่มชูชีพ” ในการอยู่-การไป ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
แต่กลายเป็นว่า แผนการกระจายวัคซีน – ยาสำคัญที่ใช้ในการรักษา และระบบโรงพยาบาลล่ม
เพราะ “มีแต่แผน แต่ไม่มีการจัดการ” ระบบสาธารณสุขที่เคยเป็นจุดแข็งและติดอันดับโลกของรัฐบาลก็กำลังถูกท้าทายจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงเป็นหลักพัน-ตัวเลขผู้เสียชีวิต-โคม่าจำนวนมาก
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มองไป 6 เดือนข้างหน้าจึงมองไม่เห็น “จุดเปลี่ยน” ที่จะกลับมา “พลิกเกม” และ “กุมความได้เปรียบ” เพื่อประคองรัฐบาลให้อยู่รอดปลอดภัย จนครบเทอมวาระ 4 ปี
เสียงลือ-เสียงเล่าอ้างใต้ถุนตึกสัปปายะสถานถึงการ “ยุบสภา” หลังผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จึงต้องเพิ่มน้ำหนัก
กู้เพิ่มฟื้นเศรษฐกิจ-คะแนนนิยม
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาโควิด-บริหารวัคซีนแบบไม่มีทิศทาง จนภาคเอกชน-40 บิ๊กธุรกิจ ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์”
วิสัยทัศน์ของภาคเอกชน-ภาคธุรกิจ “จมูกไว” กับทุกวิกฤต-มองเห็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมหาศาล
หากปล่อยให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เผชิญ “สงครามโรค” แต่เพียงลำพัง-หัวเดียว
อาวุธทางการเงิน-ทางการเมืองที่เหลืออยู่ขณะนี้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงเหลือเพียงเครื่องมือเดียว คือ “เงินกู้” 3.8 แสนล้านบาทที่ยังเหลืออยู่ ที่จะใช้กอบกู้เศรษฐกิจ-ความศรัทธาของรัฐบาลและความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์
ทว่า 3.8 แสนล้านในมือ พล.อ.ประยุทธ์คง “ถมไม่ลง” ต้อง “กู้เพิ่ม” อีกอย่างน้อย 1 ล้านล้าน
เพื่อเยียวยาโควิด-กระตุ้นเศรษฐกิจ และต่อลมหายใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
ที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต “ความเป็นความตายเท่ากัน”
ยึดอำนาจฉีดวัคซีน “อนุทิน”
ไม้ตายสุดท้ายของ “พล.อ.ประยุทธ์” คือ การตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ single command
“นั่งหัวโต๊ะ” บัญชาการเอง โดยจับมือภาคเอกชน ระดมฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 3 แสนคน เป้า 30 ล้านคนภายใน 3 เดือน
“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า
พล.อ.ประยุทธ์จะนั่งเป็นประธานศูนย์บริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ (single command) เอง
“เนื่องจาก Line of command ยังไม่เป็น single command มากนัก ดังนั้น เพื่อให้เกิดการสั่งการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ”เสนาธิการเศรษฐกิจระบุ
ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาด้วยรูปแบบ single command
ทว่าการแก้ปัญหาโรคระบาดระลอกที่หนักที่สุด และความแตกร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล เปราะบาง – อ่อนไหว ต่อเรื่อง “ยุบสภา” อย่างยิ่ง