บันได 3 ขั้น ฝ่ายค้าน ยืมดาบ ป.ป.ช.ปิดสวิตช์ “บิ๊กตู่”

อาการอักเสบในรัฐบาลประยุทธ์ สะท้อนภาวะรัฐนาวาประยุทธ์ไม่เป็นขบวนท่ามกลางมรสุมโควิด-19

ในจังหวะที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด แก้มหาวิกฤตโควิด-19 ระลอกที่ 3 ไม่ตก เสียงบ่นจากประชาชน-นักธุรกิจ-มนุษย์การเมือง ดังขึ้นทั่วทุกอณู เตียงไม่พอ วัคซีนฉีดได้ล่าช้า เศรษฐกิจดิ่งเหว

ฝ่ายค้าน 6 พรรค นำโดย เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ เพื่อชาติ เสรีรวมไทย พลังปวงชนไทย ขอใช้โอกาสไม่เปลือง ให้หัวหน้าพรรค นั่งเรียงหน้ากระดาน ออกแถลงการณ์-เปิดอภิปรายรัฐบาลนอกสภาขนาดย่อม ๆ รวมกว่า 1 ชั่วโมง

อัดภาพล้มเหลวในการบริหารจัดการโควิด-19 ของ พล.อ.ประยุทธ์ นำมาสู่ข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก-มีรัฐบาลเฉพาะกิจ แล้วค่อยยุบสภา

ฝ่ายค้านกางบันได 3 ขั้น หวังสูง เลื่อยเก้าอี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ลงจากตำแหน่ง

บันไดขั้นที่ 1 ยื่นร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ความผิดของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ฝ่ายค้านให้ฝ่ายกฎหมายร่างคำฟ้องอยู่นั้น ประกอบด้วย

ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 53 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

โยงมาถึงฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยได้ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้เชื้อโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดใหญ่ ประชาชนต้องล้มป่วยและเสียชีวิตไปจำนวนมากต่อไป

“ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการด้านสาธารณสุขได้ ทั้งที่เวลาผ่านมาพอสมควรแล้ว และยังมีผู้เสียชีวิต ดังนั้น นายกฯไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ” ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว

“รัฐบาลล้มเหลวเรื่องการบริหารสถานการณ์โควิด-19 วัคซีน การเยียวยา การดูแลผู้ป่วย ผลจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของโควิดก็มากระทบต่อเศรษฐกิจนักธุรกิจถึงขั้นมาเรียกร้องคอยวัคซีนจากรัฐบาลไม่ได้ กระทั่งยื่นมือเข้าช่วยเหลือแต่ติดข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง เพราะต้องผ่านรัฐบาล”

“สุดท้ายต้นตอของปัญหา เกิดจากตัวนายกฯ และรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์บริหารงานล้มเหลว แต่รัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้เป็นนายกฯต่อได้อีก”

นำมาสู่ บันไดขั้นสอง เร่งกฎหมายประชามติ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อสอบถามประชาชนว่าจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

บันไดขั้นสาม แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยหลักจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ยังต้องปิดสวิตช์ ส.ว. มาตรา 272 ตัดอำนาจการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ถอนรากถอนโคน-พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ต้นตอ

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดสูตร extra ทางลงให้ผู้นำคนที่ 29 เพิ่มขึ้นอีกสเต็ป ผ่าน 3 ข้อเรียกร้อง

1.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องยุติบทบาทการบริหารประเทศด้วยการลาออกทันที

2.จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 2 เรื่อง คือ การแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดข้ออำนาจของ คสช.

และ 3.ยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ล้อตาม “ข้อเสนอ” คณะก้าวหน้า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานกลุ่มการเมืองคู่ขนาน “พรรคก้าวไกล” ก็ออกมาเรียกร้อง “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ “ลาออกจากตำแหน่ง” แทนการ “ยุบสภา”

“ต่อให้มีการยุบสภาเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม หากยุบสภาเวลานี้ กว่าที่จะได้รัฐบาลใหม่ขึ้นมาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ และเหมาะสมมากกว่า ก็คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งแทน ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นี้ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า

มีเพียง 2 ภารกิจเท่านั้น คือ 1.จัดการวิกฤตโควิด-19 ไม่ว่าจะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนเพิ่มและการบริหารจัดการการฉีดวัคซีน และ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

“ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าคุณประยุทธ์ลาออกแล้วมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีภารกิจที่ชัดเจน 2 ภารกิจ คือ จัดการโควิดแล้วก็แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ สร้างการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงได้ น่าจะดีที่สุด”

แม้ว่า 6 พรรคฝ่ายค้าน กางบันได 3 ขั้น เลื่อยขา “พล.อ.ประยุทธ์” แต่แกนนำฝ่ายค้านก็แทงหวยว่า นายกฯไม่มีวันลาออก

ทางที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ “ยุบสภา” ส่วนจะเร็ว หรือช้า ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมือง-เศรษฐกิจ และวิกฤตโรคระบาดคู่ขนานกับเกมแก้รัฐธรรมนูญที่ยังต้องลุ้นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยื่นต่อสภา จะเป็นไปตามแผน เพิ่มอำนาจให้กับรัฐบาลสืบทอดอำนาจหรือไม่

รวมถึงการรอโยกย้ายข้าราชการตามวงรอบในเดือนกันยายน คู่กับงบประมาณรายจ่ายที่จะสำแดงผลในปฏิทินงบประมาณใหม่ 1 ตุลาคม 2564 นายกฯประยุทธ์จึงจะยุบสภา

ตามที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เชื่อว่า ในข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์หมดเวลามานานแล้ว

“หาก พล.อ.ประยุทธ์ดื้อรั้นหรือทำมึน ๆ ไป วันหนึ่งจะต้องถึงจุดที่จะต้องเลือกตั้ง”

“ประชาชนจะได้ตัดสินใจเลือกทีมของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่”