จับสัญญาณพรรคทหาร ตุนเสบียงการเมือง รอปลดล็อก ?

เพราะการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีแนวโน้มเสียของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า คสช. จึงต้องวางยุทธศาสตร์ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ทั้งก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง

2 ยุทธศาสตร์ ที่เป็นเค้าโครงบันไดไต่อำนาจอยู่ยาวของ คสช.

หนึ่ง แผนชิงมวลชน ผ่านโครงการประชานิยม ฉบับประชารัฐ สอง แผนชิง ส.ส. มีการตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคพลังชาติไทย” เป็นตัวล่อดึงอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ให้มาเข้าร่วม

ใกล้เคียงกับพรรคเสรีธรรมที่เคยเกิดขึ้น หลังยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

2 ยุทธศาสตร์ ออกมาจาก “วีระ สมความคิด” เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น

สอดคล้องกับข่าวของระดับแกนนำพรรคเพื่อไทยว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีอดีต ส.ส.ของพรรค จำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก ไปซบกับพรรคทหารผนวกกับก่อนหน้า ช่วงที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ใกล้หมดวาระ มี สปท.กว่า 26 คน ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหนีล็อกทางการเมือง

การลาออกของ สปท. อยู่บนสมมติฐานว่าจะเล่นการเมือง ด้วยการตั้งพรรคการเมือง และจะวกกลับมาหนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ

รวมถึงกลุ่มอดีต 50 ส.ส. ที่นำโดย นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ พร้อมหนุน “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ เหมือนกัน

ดังนั้น ยิ่งใกล้เข้าโค้งสุดท้ายก่อนรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้า จึงไม่แปลกที่จะมีการ “ปล่อยข่าว” ความเคลื่อนไหวของพรรค “พลังชาติไทย” ที่มี “พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์” เป็นหัวหน้าพรรค นโยบายชัดเจนที่สุด คือ “หนุน พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ

แต่อดีตตัวจี๊ดการเมืองที่เคยอยู่ในแม่น้ำ 5 สาย ระบุว่า “พรรคพลังชาติไทย” ยังไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็นเพียงพรรคที่ใช้ชื่อบิ๊ก คสช.ไปอ้างทำกิจกรรม แต่จริง ๆ แล้วมีกลุ่มอื่นรวบรวมเงิน รวบรวมคนอย่างลับ ๆ

อย่างไรก็ตาม พรรคที่ชัดเจนก่อนใครเพื่อน คือ “พรรคประชาชนปฏิรูป” ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนโยบายสนับสนุนคนดีอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ก็เริ่มมีการขยับ ได้ติดต่อเครือข่าย เพื่อตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดไว้บ้างแล้ว

ยังไม่นับพรรคการเมืองที่มีตัวตนอยู่บนกระดาน ที่ยังอ่านทิศทางลมกันอย่างต่อเนื่อง

หากยังจำกันได้ เหตุเกิดเมื่อกลางเดือนกันยายน ตอนที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เยือนเมืองสุพรรณบุรี นักการเมืองค่ายชาติไทยพัฒนา ยกยอให้ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ต่อ 8-10 ปี

เมื่อขุดลึกลงในอดีต ตำนานของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ในอดีตกาลยังเป็น “พรรคชาติไทย” อยู่ร่วมขบวนการสนับสนุนพรรคทหารมาแล้ว

ช่วงรัฐบาล รสช.ที่มีการแบ่งขั้วกันสองข้าง ระหว่างฝ่ายที่ไม่เอาทหาร คือ “พรรคเทพ” ส่วนพรรคที่สนับสนุนท็อปบูตได้รับสมญาว่า “พรรคมาร” ซึ่งพรรคชาติไทยอยู่ในค่ายหลัง

ขณะที่ “พรรคชาติพัฒนา” ที่มี สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ไม่เคยตกเป็น “ฝ่ายค้าน” ไม่ว่ากระดานการเมืองจะพลิกกลับไปกลับมากี่ตลบ ไม่ว่ายุครัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร

อีกทั้งยังรวมถึง “พรรคภูมิใจไทย” ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นหัวหน้าพรรค ประกาศทุกเวทีว่าพร้อมเลือกตั้ง

เป็นพรรคขนาดกลางที่สปอตไลต์การเมือง ว่าจะเป็นพันธมิตรอันดีกับ คสช. หลังเลือกตั้ง

ยิ่งกติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เอื้อให้พรรคขนาดกลาง ไปจนถึงพรรคเล็ก ได้เสียงเพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกที่มีการพูดถึงสูตรการเมืองว่า พรรคการเมืองขนาดกลาง-เล็ก จะจับมือกับ ส.ว.ลากตั้ง 250 คน จาก คสช.เลือกนายกฯคนนอก คือ พล.อ.ประยุทธ์

และยิ่งน่าแปลก เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ระบุว่า ไม่ต้องไปห่วง

“แต่ต้องนึกถึงคนเก่า คนใหม่ พรรคใหม่ พรรคเก่า พรรคเล็ก พรรคใหญ่ พรรคกลาง ก็ต้องมีมาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม”

เป็นไปได้หรือไม่ เหตุที่ยังไม่ปลดล็อก เพราะรอให้มีการเซตตัวของพรรคทหาร ทั้งเงิน และคน ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะปล่อยผีการเมือง ?