ทวนความจำแก้รัฐธรรมนูญ : ฝ่ายค้าน กวาดล้าง ส.ว.-รื้อระบบเลือกตั้ง

รัฐสภาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เกมแก้รัฐธรรมนูญจะกลับมาคิกออฟในที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง

เป็นภาคใหม่ ต่อจากเกมคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในรัฐสภา โดยมีพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.เป็นตัวละครเอก

ในวันจันทร์นี้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค นัดถกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน

เพื่อไทย พรรคใหญ่ที่สุดในหมู่ฝ่ายค้าน พกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีในใจแล้ว 5 ร่าง 5 ประเด็น ได้แก่ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ร่าง 2 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ กรณี กมธ.ห้ามเรียกองค์กรอิสระ หรือศาลมาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่

ร่างที่ 3 ระบบการเลือกตั้งให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ร่างที่ 4 ที่มาของนายกรัฐมนตรี แก้ไขมาตรา 159 และ 272 ที่ตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ร่างที่ 5 มาตรา 279 ยกเลิกอำนาจ คสช.

ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลแยกเป็น 2 ข้าง ข้างแรก พรรคพลังประชารัฐ นำโดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรค ได้ยื่นร่างแก้ไขเพิมเติมรัฐธรรมนูญไว้ก่อนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน โดยเป็นการแก้ไขรายมาตรา อาทิ แก้ระบบเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียว เป็นบัตรสองใบ แก้ให้พรรคการเมืองไม่ต้องทำไพรมารี่โหวต

อีกข้าง เป็นพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ – พรรคภูมิใจไทย – พรรคชาติไทยพัฒนา จับมือกัน 3 พรรค โดยจะหารือกันในวันพุธที่ 16 มิถุนายนนี้ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็น “เจ้าภาพ” ในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็น

อาทิ แก้ไขระบบเลือกตั้ง ปิดสวิตช์ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ แก้ไขขั้นตอนการที่ ส.ส.ยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปศาลยัง ป.ป.ช. โดยเปลี่ยนให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม หากย้อนความเดิมตอนที่แล้ว เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในรัฐสภา กลายเป็น “ละคร 6 ฉาก” ที่มีตัวละครหลักคือพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย เป็นตัวประกอบ

“วาระแก้รัฐธรรมนูญ” เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามข้อเสนอแนบท้ายในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์

แต่จนแล้วจนรอด วาระแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่คืบหน้าแม้รัฐบาลทำหน้าที่ผ่านมาปีกว่าๆ กลางปี 2563 กระทั่งกลุ่มเยาวชนปลดแอก เปิดฉากจัดม็อบท้าทายอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าข้อเรียกร้องกดดันให้รัฐบาล ยุบสภา – แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน

พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรคที่พยายามจุดกระแสแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่ก็เข็นกระแสไม่ขึ้น ได้หยิบวาระรัฐธรรมนูญในม็อบไปฟอลโล่ต่อ มีม็อบและภาคประชาชนร่วมสนับสนุน วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นประเด็นหลัก

หากฝ่ายพลังประชารัฐ พรรคลมใต้ปีกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่สวมบทตัวเอกในละครแก้รัฐธรรมนูญ กลับแสดงบทสลับไปสลับมา ด้านหนึ่งเหมือนจะสนับสนุน แต่พอถึงคิวโหวตในสภากลับงัดแท็กติก “ดึงเกม” แก้รัฐธรรมนูญออกไป

24 กันยายน 2563 ในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน 6 ฉบับ ท่ามกลางแรงกดดันจากม็อบราษฎรที่ชุมนุมอยู่ด้านนอกสภา

จู่ๆ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล จากพรรคพลังประชารัฐ และ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ก็ “งัดแท็กติก” ให้ที่ประชุมเลื่อนการลงมติพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ออกไป แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญรัฐสภาจำนวน 45 คน ขึ้นมาศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เวลา 30 วัน โดยพรรคฝ่ายค้าน “บอยคอต”

เวลาผ่านไป การชุมนุมขับไล่รัฐบาลเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ มีการสลายม็อบ จนรัฐสภาต้องเปิดเวทีถกหาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้ง 26 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลางห้องประชุมรัฐสภา เคียงข้าง “วิษณุ เครืองาม” มือกฎหมายรัฐบาล วางไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญเดือนธันวาคม ต้องเป็นรูปเป็นร่าง

18 พฤศจิกายน 2563 ประเด็นพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ของพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชนนำโดยไอลอว์ ก็เข้าสู่การพิจารณารับหลักการ ปรากฏกว่าที่ประชุมรัฐสภาได้รับร่างแก้ไขของพรรคฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน แต่ “ตีตก” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์

ถึงเดือนธันวาคม 2563 ตัวจี๊ดพลังประชารัฐอย่าง “ไพบูลย์” ร่วมกับ “สมชาย แสวงการ” ส.ว. ชงแผนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าที่ประชุมรัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ทั้งฉบับ” โดยให้มี ส.ส.ร.ได้หรือไม่ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ในชั้นกรรมาธิการ

แต่ปฏิบัติการของ “ไพบูลย์-ส.ว.” เกิดขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อพรรคพลังประชารัฐ แท็กทีม ส.ว. โหวตให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภา ด้วยเสียง 366 ต่อ 315 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 696 เสียง
กระทั่ง 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วลงประชามติอีกครั้ง

จึงมีการถกเถียงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นำไปสู่การมี ส.ส.ร. ร่างใหม่ทั้งฉบับต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน 1 รอบหรือไม่ แต่ด้วยปมที่ถกเถียงกันฝุ่นตลบ

17 มีนาคม 2564 ขณะที่รัฐสภากำลังพิจารณาลงมติวาระ 3 กันวุ่นวาย ว่าจะลงมติอย่างไร จะเดินหน้าลงมติผ่านวาระ 3 แล้วค่อยทำประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ต้องถอยหลังกลับไปทำประชามติก่อน แล้วค่อยกลับมาโหวตวาระ 3 กันอีกครั้ง

หลังที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลา 9 ชั่วโมงถกเถียงกันวุ่นวาย ปรากฏว่า “ไพบูลย์” เจ้าเก่า พลิกเกมเหนือเมฆอีกครั้ง ด้วยการ เสนอญัตติให้ที่ประชุมยกวาระ “เรื่องด่วน” ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งหมายถึงการเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ก่อนที่รัฐสภาเสียงข้างมากจะมีมติ “เห็นด้วย” กับญัตติของไพบูลย์ ด้วยคะแนนเสียง 473 ต่อ 127 งดออกเสียง 39 และไม่ลงคะแนน 5

ที่ประชุมรัฐสภา เดินหน้าลงมติวาระ 3 ทันที ผลปรากฏว่ามีคะแนน “เห็นชอบ” 208 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 94 และไม่ลงคะแนน 136 คะแนน คะแนนเสียงได้ไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 375 เสียงขึ้นไป ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงถูกตีตก โดยที่พรรคภูมิใจไทยวอล์กเอาท์ไม่ขอร่วมสังฆกรรม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความซ้ำอีกครั้ง…แต่ก็ไม่เกิดขึ้น

แล้ว 2 เมษายน 2564 “ไพบูลย์” ก็เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ 5 ประเด็น 13 มาตราอีกครั้ง โดยมีข่าวว่ารัฐสภานัดพิจารณา 22 มิถุนายนนี้