ชงพักต้น-พักดอกหนี้ SME 6-12 เดือน ปล่อยสินเชื่อ 6.8 แสนล้าน

“แสงชัย” ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ชง พล.อ.ประยุทธ์ พักต้น-พักดอก เอสเอ็มอี 6-12 เดือน ถกตั้งกองทุน NPL อุ้มเอสเอ็มอี 6.8 แสนล้าน สุชาติ-รมว.แรงงาน รับลูกปรับเกณฑ์กองทุนประกันสังคม 3 หมื่นล้าน-เสริมสภาพคล่อง

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เกี่ยวกับการมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีจากผลกระทบโควิด-19 ว่า สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขันรับมาตรการต่าง ๆ ที่เอกชนนำเสนอนายกรัฐมนตรี เช่น การพักต้น พักดอกเบี้ย การตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนตามช่องทางปกติของธนาคารพาณิชย์ กองทุนฟื้นฟู NPL

“ภาครัฐกำลังปรับปรุงแก้ไขกองทุนประกันสังคม 3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง รมว.แรงงาน รับดำเนินการปรับแก้กฎระเบียบเพื่อให้กองทุนประสังคม 3 หมื่นล้านบาท ให้เอสเอ็มอีและผู้ประกอบการในระบบเข้าถึงกองทุนฯได้ เพื่อเสริมสภาพคล่องรักษาการจ้างงงาน”

นายแสงชัยกล่าวว่า เสนอปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ) เสนอการปรับซอฟต์โลน 2.5 แสนล้านบาท โดยขอให้แก้ไข 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับนิยามคำว่า เอสเอ็มอี ขอให้ใช้นิยามตาม สสว. เพื่อเป็นมาตรฐานในการขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ 2.การแบ่งวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เช่น ช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยกี่ล้านบาท วงเงินเอสเอ็มอีรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่จำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้วงเงิน

3.การตั้งเป้าจำนวนผู้ประกอบการที่จะเข้าถึง เนื่องจากปัจจุบันที่ผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อในแต่ละวงเงิน และ 4.การใช้เกณฑ์ผ่อนปรน สำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล และเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องได้รับความช่วยเหลือก่อนเป็นอันดับแรก

“มาตรการพักต้น พักดอกเบี๋ย จะต้องมาช่วยเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ อย่างน้อย 6-12 เดือน เพื่อชะลอการเป็นเอ็นพีแอลและมีเวลาให้เอสเอ็มอีฟื้นตัวเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น เหมือนกับที่ท่านนายกฯ ประกาศว่า ภายใน 120 วันจะพาประเทศก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสมาพันธ์เอสเอ็มอีสนับสนุน”

นายแสงชัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับเรื่องกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ (ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ. ….) ซึ่งวันนี้มาหารือกันในเรื่องเกณฑ์ผ่อนปรนของธนาคารพาณิชย์และเสถียรภาพการเงินมาเป็นตัวตั้ง ควรนำกองทุนฯมาสนับสนุนในการเปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน หรือเอสเอ็มอีดิวิชั่น C เพื่อเข้าถึงเงินทุนได้ ซึ่งกองทุนฯควรสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มากกว่ากระทรวงอุตสาหกรรม

“ที่สำคัญกองทุนฟื้นฟูเอ็นพีแอล ซึ่งท่านนายกฯรับไว้พิจารณาเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งวันนีมีเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลในระบบ 2.4 แสนล้านบาท และเอสเอ็มอีที่เป็นไฟเหลือง จวนเจียนที่เป็นเอ็นพีแอล 4.4 แสนล้านบาท รวมกันคิดเป็นร้อยละ 20 ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งหมดในระบบ 3.5 ล้านล้านบาท จากเดิมก่อนโควิดเอสเอ็มอีที่เป็นไฟเหลืองอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท จึงต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเหลืองเป็นตัวแดง”

ด้านนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังความคิดเห็นจาก 3 สถาบัน ซึ่งวันนี้หลักคือ การเสริมสภาพคล่องของเอสเอ็มอี และการแก้ไขหลักเกณฑ์ NPL การขอให้ธนาคารพาณิชย์ลดหลักเกณฑ์ได้หรือไม่ เพราะหากเป็นกลไกเดิมกู้ไม่ผ่าน ถ้าไม่แก้กลไก NLP เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ และบริษัทใหญ่เข้าไปช่วยบริษัทเล็กเพิ่มขึ้น โดยจะประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

“นายกรัฐมนตรีวางกรอบ 120 วันเปิดประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น อย่างน้อยภายใน 120 วันต้องมีมาตรการช่วยเหลือออกมาเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจรับกับการเปิดประเทศ”

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยและสนับสนุนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ของนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนต่างชาติ เพราะจำเป็นต้องมีเงินใหม่จากชาวต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย ขณะนี้เรายังกินบุญเก่า เอาเงินของเรามาเยียวยาและหามาตรการในการกระตุ้นจากรัฐบาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

“ผมได้คุยกับหอการค้าทุกจังหวัดว่าเราจะต้องเตรียมความพร้อม เช่น โรงแรม และร้านอาหารต่าง ๆ เพื่อรับลูกค้า โดยการปรับปรุง ซ่อมแซม รีโนเว9 เตรียมพนักงานให้เพียงพอ และหอการค้าจะเป็นตัวกลางช่วยเจรจากับสถาบันการเงิน ธนาคารต่าง ๆ เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่ยังลำบากอยู่และมีโอกาสที่จะคืนเงินให้กับธนาคารได้ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว”

นายสนั่นกล่าวว่า หอการค้าเสนอให้พิจารณาเรื่องเครดิตบูโร และ NPL ต้องผ่อนกฎเกณฑ์ ไม่ให้เป็นข้อจำกัดของสถาบันการเงินในการปล่อยเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนและจะมีการนัดหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในเรื่องนี้ต่อไป

“ธนาคารพาณิชย์เข้มแข็งมาก ต้องปล่อยให้พิจารณาเอง อยากจะปล่อย แต่ถูกควบคุมโดยแบงก์ชาติ อย่างเครดิตบูโรตั้งแต่ต้มยำกุ้ง เพราะสถาบันการเงินอ่อนแอ แต่ตอนนี้เข้มแข็ง สามารถพิจารณาสินเชื่อดีอยู่แล้ว ไม่ต้องมีข้อนี้มาเป็นข้อจำกัด ซึ่งรัฐบาลเห็นด้วย ทั้งนี้อยู่ที่ดุลพินิจของแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง ทำได้ ไม่ต้องแก้กฎหมาย”