ประกาศแล้ว! คำสั่งนายกฯ บังคับใช้มาตรการควบคุมโควิด 10 จังหวัด

ตึกไทยคู่ฟ้า-ทำเนียบนายกฯ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งนายกฯ ออกประกาศ บังคับใช้มาตรการควบคุมโควิด 10 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

วันที่ 27 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผู้อํานวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19

ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 12 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้น

เพื่อให้การบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับ การปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 โดยคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 กระทรวงมหาดไทย

จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนดฯสำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

สั่ง ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บัญชีรายชื่อจังหวัดที่กำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ แนบท้าย คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 6/2564 ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สำหรับสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือปิดสถานที่ก่อสร้าง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ห้ามรวมกลุ่มสังสรรค์ ห้ามจัดงานเลี้ยงรื่นเริง และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ห้ามนั่งรับประทานในร้าน ให้ซื้อกลับได้เท่านั้น

ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด ประกอบ 1. กรุงเทพมหานคร 2. นครปฐม 3. นนทบุรี 4.นราธิวาส 5. ปทุมธานี 6.ปัตตานี 7.ยะลา 8. สงขลา 9. สมุทรปราการ และ 10. จังหวัดสมุทรสาคร

กทม. ออกประกาศสั่งหยุดก่อสร้าง 575 แคมป์-งดนั่งทานในร้าน

ทางพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร( กทม.) ได้ลงนามประกาศ กทม.ฉบับที่ 34 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 โดยมีมาตรการสำคัญ 5 เรื่อง

1.คำสั่งหยุดการก่อสร้างในแคมป์คนงานก่อสร้าง 575 แคมป์ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 30 วัน และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน

2.ห้ามนั่งทานอาหารและเครื่องดื่มในร้าน ให้รับกลับบ้านเท่านั้น

3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดได้ถึง 21.00 น.

4.ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน

5.การปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมตามประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 33

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

นายกส.ภัตตาคารพ้อ เหมือนโดนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังรัฐบาลมีคำสั่งและประกาศผ่านเว็บไซต์ราชกิจจนุเบกษา 10 มาตรการยกระดับคุมเข้มพื้นที่กทม.และ 4 จังหวัดภาคใต้ สั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าปิดเวลา 3 ทุ่ม โดยมีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย.นั้น

ประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยอีกระลอก หลังประกาศผ่อนคลายมาตรการให้สามารถนั่งรับประทานได้ 50% ของร้าน เพียงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ทำให้นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า นี่คือความในใจของผู้ประกอบการร้านอาหาร ไม่ว่ารายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ เจอเหมือนกันหมด เหมือนโดนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ ซ้ำๆกัน 4-5 หน ตายก็ไม่ตาย นอนพะงาบๆ แบบทรมาน ไม่มีหมอ ไม่มีเครื่องมือใดๆมาช่วยรักษา อยู่กลางแดดร้อนระอุ เพื่อรอเวลาตายอย่างเดียว

สภาหอฯชี้คำสั่งหยุดก่อสร้าง 1 เดือน กระทบหนัก

เช่นเดียวนายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการปิดแคมป์ 1 เดือนในเขตกรุงเทพ-ปริมาณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) ตามประกาศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่จะให้มีผลทันทีในวันที่ 28 มิถุนายน2564 สร้างผลกระทบมากกว่าที่คิด เนื่องจากกฎหมายที่ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ตอนตี 1 ของวันที่ 27 มิถุนายน 2564 มีคำสั่งให้หยุดก่อสร้างเป็นเวลา 30 วัน จากเดิมที่เอกชนเข้าใจกันเองว่าปิดแคมป์แต่ยังก่อสร้างได้ตามปกติ

“วันนี้ (27 มิถุนายน 2564) มาตรการไม่นิ่งเลย เพราะฉะนั้นคงต้องขอรอดูวันจันทร์ 28 มิถุนายนว่า ข้อปฏิบัติที่เอกชนจะต้องฟังคำสั่งมีอะไรบ้าง 1 2 3 4 5 จากนั้นจะมีการหารือกับ 3 สมาคมซึ่งประกอบด้วยสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยต่อไป เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นมาตรการที่เป็นยาแรง”

กทม.เจอ 4 คลัสเตอร์ใหม่ ติดเชื้อรวม 515 ราย

ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร รายงานเพิ่มเติมถึงคลัสเตอร์ใหม่ในกทม.ที่พบในวันนี้(27 มิ.ย.) ว่า เขตบางพลัด 1. โรงแรมซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ผู้ติดเชื้อสะสม 26 คน 2. แคมป์ที่พักคนงาน ซ.รุ่งประชา มีผู้ติดเชื้อสะสม 52 คน เขตห้วยขวาง แคมป์ที่พักคนงาน ย่านเทียมร่วมมิตร ผู้ติดเชื้อสะสม 59 คน และเขตลาดกระบัง โรงงานผลิตเบเกอรี่มีผู้ติดเชื้อสะสม 378 คน จากการตรวจพนักงาน 4,849 คน คิดเป็น 7.8%

ส่งทหาร-จนท.รวม 10,000 นาย คุมแคมป์ก่อสร้าง 575 แห่ง

ทางด้าน พล.ต. ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงตำรวจ, กองบัญชาการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงเหล่าทัพ จัดกำลังพล ร่วมสนธิและวางกำลังในการปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกับกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจ้าหน้าที่รวมจำนวน 10,000 นาย

โดยเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร จำนวน 575 แคมป์งานก่อสร้าง

สำหรับกำลังพลที่เข้าปฏิบัติหน้าที่แต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้น จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้โดยเร็ว โดยระหว่างนี้กำลังพลทุกนายจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติภารกิจตลอดเวลา การสวมใส่เฟซชิลด์ และพกสเปรย์แอลกอฮอล์ รวมทั้งการรักษาสุขอนามัยในขณะปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ กำลังพลจะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองโรค และกักตนเองแยกจากครอบครัวเป็นเวลา 14 วัน