Re-Solution ยื่นแก้ รธน. ปิดสวิตช์ ส.ว. ดำเนินคดีคณะรัฐประหารไม่มีอายุความ

ปิยบุตร-ไอติม พริษฐ์-ยิ่งชีพ ในนามกลุ่ม Re-Solution ยื่นแก้รัฐธรรมนูญ เปิดประตูตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ รื้อองค์กรอิสระ ตัดวงจรรัฐประหาร ดำเนินคดีปราศจากอายุความ

วันที่ 30 มิถุนายน ที่รัฐสภา กลุ่ม Re-Solution นำโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และ น.ส.ชญาธนุส ศรทัตต์ นำรายชื่อประชาชนกว่า 150,921 ชื่อ ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานการเมืองประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายพริษฐ์กล่าวว่า ไม่มีช่วงเวลาใดที่จะชัดเจนกว่านี้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะมีผลต่อชีวิตประชาชนเท่านี้ สัปดาห์ที่แล้วจะเห็นว่ารัฐสภามีโอกาสที่ดีในการลุกขึ้นมาเป็นความหวังผ่านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สมาชิกรัฐสภา นำโดยวุฒิสภาก็ปิดประตูใส่หน้าประชาชน โดยการปัดตกทุกข้อเสนอในการตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

การยื่นข้อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution ครั้งนี้ จะเป็นการเปิดประตูแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว. 250 คน ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ปฏิรูปที่มาศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และล้มล้างผลพวงมรดกรัฐประหาร ตนขอเรียกร้องให้สภาเร่งตรวจสอบเอกสารและบรรจุระเบียบวาระเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาอย่างรวดเร็วที่สุด

นายปิยบุตรกล่าวว่า ตนหวังว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้โดยประชาชนเข้าชื่อกันมากกว่า 150,000 รายชื่อ จะกระตุกจิตสำนึกของสมาชิกรัฐสภาว่าอย่างน้อย ๆ จะต้องนำเข้าไปพิจารณา ไม่ใช่ตีตกอย่างง่ายดายเหมือนครั้งที่แล้ว

เราไม่อยากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะกลายเป็นการแก้ไขเฉพาะบัตรเลือกตั้ง เราจึงได้เสนอ 4 ประเด็นดังกล่าวที่สำคัญเข้ามา เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ให้ทุกพรรคการเมืองแข่งขันกันอย่างเสรี เป็นธรรม และตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังการตรวจสอบเอกสารตามกฎหมายแล้วจะได้บรรจุญัตติโดยเร็วและนำไปสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ขอให้ประชาชนช่วยกันติดตามว่าวุฒิสภาจะดำเนินการอย่างไรกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน” นายปิยบุตรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการตัดอำนาจ ส.ว. จะถูก ส.ว.คว่ำเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่
นายปิยบุตรกล่าวว่า เราทราบดีว่าการแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 256 เป็นเรื่องยาก เพราะมีอุปสรรคสำคัญคือ ส.ว. ซึ่งจะหาเสียง 1ใน 3 ของ ส.ว.ได้อย่างไร

ที่ผ่านมา ส.ว.ใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แสดงว่าถ้าร่างนี้ถูกคว่ำอีกก็ใกล้ถึงเวลาสุดท้ายของ ส.ว.แล้ว หากไม่รับร่างนี้อีก ส.ว.ต้องตอบคำถามว่ามีเหตุผลอะไรถึงขัดขวางเจตจำนงของประชาชน ทั้งนี้ ยืนยันว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกคว่ำอีก พวกเราก็จะรณรงค์ต่ออย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า ส.ว.อ้างว่ามีที่มาจากการทำประชามติของประชาชน นายปิยบุตรกล่าวว่า การทำประชามติครั้งล่าสุดเป็นการทำประชามติที่มีปัญหา คำถามที่พ่วงมามีความกำกวม ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ผู้ที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นก็ถูกจับกุม มีการดำเนินคดีและติดคุก ดังนั้น อย่าปล่อยให้ ส.ว.ยึดกุมวาระสำคัญของประเทศชาติในการแก้รัฐธรรมนูญ

ด้านนายสมบูรณ์กล่าวว่า ประธานรัฐสภาจะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งรายชื่อและบัญชีผู้แทนตามกฎหมายไปตรวจสอบ โดยจะตรวจสอบพร้อมกับกรมการปกครองของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหลังจากตรวจสอบรายชื่อแล้ว ตามกฎหมายหากเกินห้าหมื่นรายชื่อจะต้องจัดส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูฐเผยแพร่และให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น รวมถึงสอบถามผลกระทบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ…. ของกลุ่ม Re-Solution มีหลักการ

เพื่อยกเลิก มาตรา 65 เพื่อยกเลิกบทบัญญัติในหมวด 7 รัฐสภา (มาตรา 79 ถึง มาตรา 157) และเพิ่มบทบัญญัติใหม่เป็นหมวด 7 สภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 70 ถึง มาตรา 141) แทน โดยแก้ให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเขต 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 เพื่อเพิ่มเติมมาตรา 193/1 มาตรา 193/2

(ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ไม่เกิน 3 ชื่อ โดยต้องลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายกฯ ต้องมาจากการเลือกของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร)

เพื่อยกเลิกหมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 200 ถึงมาตรา 214 ) และเพิ่มบทบัญญัติใหม่เป็นหมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 200 ถึงมาตรา 215) แทน (แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา, แก้คุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ เป็นผู้เคารพและยึดมั่นหลักการนิติรัฐ หลักการประชาธิปไตย และไม่ฝักใฝ่เผด็จการ

เพื่อยกเลิกหมวด 12 องค์กรอิสระ (มาตรา 215 ถึงมาตรา 247) และเพิ่มบทบัญญัติใหม่เป็นหมวด 12 องค์กรอิสระ (มาตรา 216 ถึงมาตรา 247/32) แทน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อยกเลิก หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ (มาตรา 257 ถึงมาตรา 261) เพื่อเพิ่มเติมหมวด 16

การลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร (มาตรา 257 ถึงมาตรา 261) เพื่อยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279 อาทิ ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทั้งปวงวินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของรัฐประหาร หรือรับรองความสมบูรณ์ทางกฎหมายและสถานะ ทางกฎหมายให้แก่คณะผู้ก่อการรัฐประหาร ประกาศ คำสั่ง และการกระทำอื่นใดของคณะผู้ก่อการรัฐประหาร

ในกรณีที่มีคณะทหารหรือคณะบุคคลใดก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจ การปกครองประเทศ แย่งชิงอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทย หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เมื่อไรก็ตามที่อำนาจสูงสุดกลับมาเป็นของปวงชนชาวไทยและได้มาซึ่งรัฐบาลและอำนาจการปกครองที่ชอบธรรมแล้ว ให้ดำเนินคดีต่อคณะทหารหรือคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหารนั้นโดยทันที และปราศจากอายุความ