ฝ่ายต้าน “ประยุทธ์” 7 พรรค เปิดศึกฟ้องอาญา แก้โควิดล้มเหลว

แม้ว่าภาพรัฐบาลอยู่ในภาวะระส่ำระสาย แต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้กุมอำนาจสูงสุด อาจยังมั่นใจในคำมั่นของพรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย 2 พรรคสำคัญฝ่ายรัฐบาล จะยังไม่คิด “ตีจาก” ในชั่วโมงคับขัน แม้มีเสียงกดดันจากชาวบ้านร้านถิ่น ไปจนถึงม็อบการเมือง ให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์จึงโพสต์เฟซบุ๊กด้วยความมั่นใจว่า “จะสู้ (โควิด-19) จนกว่าจะชนะ”

คู่ขนานกับ “พรรคฝ่ายค้าน และพรรคฝ่ายต้าน” ที่เดินเกม “โควิดการเมือง” ออกมาประกาศฟ้องรัฐบาล และ “ยุ” ให้ประชาชนเป็นโจทก์ร่วม ให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด

หยิบรัฐธรรมนูญมาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ประกอบมาตรา 55 รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาเป็น “ดาบ” ยื่นเอาผิดรัฐบาล

แยกเป็น คดีที่ 1 13 พฤษภาคม ฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมกันฟ้องเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

มีพฤติการณ์ไม่สุจริตส่อไปในทางทุจริต ไม่ถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และรู้เห็นหรือยินยอมให้ข้าราชการในปกครองใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26, 47, 53, 55, 62, 164, 234 และมาตรา 235, พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561,

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (1), (2) และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ระบุเหตุผลการทำผิด อาทิ นายกรัฐมนตรีและประธาน ศบค. ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล โดยเฉพาะกรณีการเกิดการกักตุนหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ และการส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดการระบาดของโรค กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างความล้มเหลวระบบป้องกันโรคระบาด ล้มเหลวระบบให้การรักษาพยาบาล

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องเดินหน้าต่อ เพราะรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิ เพราะคนไทยต้องเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้ามีใครสักคนเสียค่าใช้จ่ายขึ้นมา โดยที่รัฐไม่ได้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ก็น่าเป็นสิทธิที่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญได้ตามกฎหมาย ซึ่งฝ่ายกฎหมายกำลังดูอยู่

คดีที่ 2 “เสรีรวมไทย” 1 ในพรรคฝ่ายค้านที่มี “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” เป็นหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แยกตัวออกมา เปิดแคมเปญ มอบ 157 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดยได้เชิญชวนประชาชนแจ้งความดำเนินคดีในท้องที่ต่าง ๆ เอาผิดพลเอกประยุทธ์ ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47

และมาตรา 55 ในการดูแลประชาชนในสถานการณ์ COVID-19 ให้นำหลักฐานทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัยหรือฉีดวัคซีน ตลอดจนผู้ค้าขายที่ได้รับผลกระทบหรือขาดทุน ปิดกิจการ ซึ่งเป็น 1 ใบเสร็จต่อ 1 คดี

ขณะที่พรรคฝ่ายต้านที่ไม่ใช่ฝ่ายค้าน คือ “ไทยสร้างไทย” ที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นประธานพรรค แตะมือกับนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย คือ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ เขียนคำฟ้องส่งต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริต เอาผิด “พล.อ.ประยุทธ์”

เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นว่าควรฟ้องผู้รับผิดชอบในประเด็นนี้หรือไม่ ผลปรากฏว่าภายในระยะเวลาเพียง 6 วัน มีประชาชนเข้าชื่อแสดงความเห็นให้ฟ้องรัฐบาลถึง 650,000 ชื่อ

คดีที่ 3 “ไทยสร้างไทย” ไม่ขอใช้ช่องทางยื่นเอาผิดรัฐบาลผ่าน ป.ป.ช. “วัฒนา เมืองสุข” แกนนำไทยสร้างไทย กล่าวว่า ต้องรอให้สภาทนายความเขียนคำร้องให้เสร็จ หลังจากนั้นจะยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง

ต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในการพิจารณาของ ป.ป.ช. ซึ่ง 5 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แต่อีกด้าน “ไพบูลย์ นิติตะวัน” มือกฎหมายพลังประชารัฐ-ฝ่ายรัฐบาล องครักษ์พิทักษ์ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เชื่อว่าไม่สามารถฟ้องรัฐบาลได้ เป็นการทำให้เป็นประเด็นเฉย ๆ ในทางปฏิบัติที่ยุให้ประชาชนไปยื่นฟ้อง แล้วประชาชนไปยื่นฟ้อง ตำรวจจะไปดำเนินการได้อย่างไร เพราะไม่มีปัญหาทางกฎหมาย

“เป็นการใส่ร้าย ถ้าไปลงข่าวก็อาจไปเข้าข่ายล่าสุดสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน โดยนำเรื่องเท็จมาพูด ซึ่งนายกฯดูแลประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว และรัฐธรรมนูญมาตรา 45 เขียนเรื่องเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่รักษาฟรี การฉีดวัคซีนไม่มีใครเสียเงิน ใครป่วยก็ดูแลอย่างเต็มที่”

“ไม่เชื่อว่าจะเป็นปัญหาทางกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ที่กำลังทำกันอยู่เป็นเรื่องไม่สมควร คนที่พูดน่าจะมีจิตสำนึกที่ดีพอ”

“สุดท้ายก็ไปเจอกันที่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่มาทำอะไรแบบนี้” นายไพบูลย์กล่าว