กรณ์ หอบ 70 ชื่อชนชั้นนำ ยื่นผู้ว่าฯ กทม. ค้านออกใบอนุญาตคอนโดหรู

กรณ์ หัวหน้าพรรคกล้า หอบ 70 รายชื่อ บุกยื่นหนังสือ “อัศวิน” ระงับออกใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรู เขตยานนาวา จวกมติ คกก.EIA กทม. เอื้อ อีสเทอร์น สตาร์ฯ 

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.กระทรวงการคลัง ในฐานะหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากก่อสร้างคอนโดโครงการ ควินทารา ซิงค์ เย็นอากาศ ของบริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) ในซอยประสาทสุข ถนนเย็นอากาศ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา เข้าพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เพื่อขอให้ระงับการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ พร้อมยื่นหนังสือรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เทียนฉาย กีระนันท์, ศาสตราจารย์พิเศษแพทย์หญิง เพ็ญแข ลิ่มศิลา, นายกรณ์ จาติกวณิช, นายประมนต์ สุธีวงศ์ , นายมนตรี ศรไพศาล , ครอบครัวสุจริตกุล, ครอบครัว ณ ระนอง และผู้พักอาศัยอีกกว่า 70 ครัวเรือน 

นายกรณ์ กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วย กับมติคณะกรรมการ EIA ของ กทม. ที่ให้ความเห็นชอบ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควินทารา ซิงค์ เย็นอากาศ ของบริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ว่าเป็นการพิจารณาที่ไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาจราจรที่ประชาชนได้ชี้แจงไปแล้วหลายรอบอย่างละเอียด แต่กลับให้น้ำหนักกับข้อเสนอของบริษัทพัฒนาที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง 

“ที่สำคัญ กทม. อนุมัติโครงการทั้งๆ ที่ถนนหน้าโครงการมีความกว้างตํ่ากว่าเกณฑ์กฎหมาย และขัดกับหลักการวินิจฉัยของศาลปกครองในอดีตที่ความกว้างของถนนต้องเป็นความกว้างที่ใช้ได้จริงตามเกณฑ์ตลอดเส้นทาง จึงขอให้ผู้ว่าฯ กทม. ใช้อำนาจปฏิเสธการออกใบอนุญาต แต่หากมีการออกใบอนุญาต จะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป ทั้งในศาลปกครอง ศาลแพ่งและศาลอาญา”

นายกรณ์ ยังหยิบยกกรณีที่เกิดขึ้นในอดีต ที่ กทม. เร่งออกใบอนุญาต ก่อนที่ศาลจะวินิจฉัย สร้างความเสียหายให้กับผู้อยู่อาศัยเดิม และกับประชาชนที่จะมาซื้อโครงการในอนาคต ซึ่งเป็นความเสียหายที่หลีกเลี่ยงได้ แต่ก็เกิดความเสียหายลักษณะนี้ซ้ำซาก 

“อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ มากกว่าการทำกำไรของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม. รับปากว่าจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของสำนักงานเขตยานนาวา คณะกรรมการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงทบทวนนโยบายการพิจารณาโครงการลักษณะนี้ในทั่วทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องในอนาคต”