ทักษิณ โผล่ยกเคสเยียวยาไข้หวัดนก ข่มประยุทธ์ เยียวยาโควิด

ทักษิณ ตอบปมเงินเยียวยาโควิด

ทักษิณ โชว์วิสัยทัศน์ กรณีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ซัด รัฐบาลสันหลังหวะ ฟ้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์เรื่องเยียวยา เลยไม่กล้าเยียวยาใคร พร้อมยกเคสเยียวยาไข้หวัดนก 

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (17 ส.ค.) เวลา 20.00 น. นายทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี่ วู้ดซัม อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมสนทนาในรายการ CARE Talk x CARE ClubHouse ครั้งที่ 13 ตอน ทางออกประเทศ ทางรอดประชาชน ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปหลายแพลตฟอร์ม

คำถามจากผู้สูญเสียตัวจริง

ในช่วงหนึ่งของรายการ มีการเปิดให้ผู้ฟังในแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ขึ้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายทักษิณ หรือ โทนี่ โดยผู้ใช้คลับเฮาส์ชื่อ Nattapong ซึ่งทำงานสื่อออนไลน์ดัง The People และได้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากโควิดไปเมื่อไม่นานมานี้ เปิดใจเล่าเรื่องของตนเอง ก่อนเข้าคำถาม ว่า ในช่วงเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา ตนได้พยายามดิ้นรนหาวัคซีนให้ผู้สูงอายุที่บ้าน กระทั่งได้นัดฉีดวัคซีนวันที่ 13 ก.ค.

แต่ปรากฏว่าต้นเดือน ก.ค. บริเวณบ้านพัก เจอคลัสเตอร์คนงานก่อสร้าง ทำให้เกิดการระบาดทั่วอำเภอปากเกร็ด ทุกคนในบ้านได้รับเชื้อและต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

“จากเดิมที่ผมรอคอยวัคซีน กลายเป็นรอคอยโอกาสที่จะได้หายป่วยกลับบ้านแทน และสุดท้ายคนในบ้านก็เสียชีวิตลง 1 คน ไม่ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันเหมือนเดิม ในขณะที่รัฐบาลไทย ตั้งแต่มีการระบาด ไม่เคยเหลียวแลผู้เสียชีวิตจากโควิดเลย มีเพียงบุคคลที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่จะได้ค่าทำศพเป็นจำนวน 50,000 บาท

ถ้าผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุก็จะไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ เว้นแต่ว่าครอบครัวใดมีกำลังทรัพย์เล็ก ๆ น้อยๆ ก็จะทำประกันเยียวยาตนเอง ซึ่งในตอนนี้ก็ปิดรับทำประกันเกือบจะหมดทุกที่แล้ว” ผู้ใช้คลับเฮาส์ซึ่งเป็นผู้สูญเสียตัวจริงกล่าวและว่า

“อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกลับมีมาตรการเยียวยาผู้ฉีดวัคซีน กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จะได้รับเงินไม่เกิน 4 แสนบาท ซึ่งในความรู้สึกของผู้สูญเสีย มันก็จะรู้สึกว่า… (ถอนหายใจ)”

เมื่อ Nattapong เริ่มพูดไม่ออก พิธีกรจึงสรุปให้ว่า ประเด็นคือผู้เสียชีวิตได้รับเงินชดเชยน้อยกว่าผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีน ใช่หรือไม่ ? ก่อนที่เจ้าตัวจะยอมรับว่า “ใช่ครับ” แล้วยกตัวอย่างถึงการระบาดในอินเดีย

“ขณะที่เมืองที่เป็นศูนย์กลางการระบาดอย่างนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีการเยียวยาผู้เสียชีวิตศพละ 2 หมื่นบาท เยียวยาครอบครัวเดือนละ 1 พันบาท รวมทั้งเยาวชนที่สูญเสียพ่อแม่และผู้ปกครอง จะได้รับเงินเดือนละ 1 พันบาท ถึงอายุ 25 ปี รวมไปถึงดูแลเรื่องการศึกษาในอนาคต จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า หากอดีตนายกทักษิณอยู่ในสถานการณ์ตอนนี้ จะดูแล บริหารจัดการเรื่องการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดอย่างไร ?

ทักษิณยกเคสเยียวยาไข้หวัดนก

นายทักษิณ กล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ Natthapong ก่อนจะตอบว่า จริง ๆ แล้ว เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าตนเป็นรัฐบาลคงจะต้องรับค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โรงพยาบาลไหนรับผู้ป่วยโควิด ให้วางบิลกับรัฐบาล ไม่ต้องวางบิลกับเอกชน หากเสียชีวิตก็ต้องมีระบบช่วยเหลือเยียวยา

“ความที่รัฐบาลนี้เหมือนกับเป็นสันหลังหวะ คือไปฟ้องรัฐบาลนายกฯ ปู เรื่องเยียวยา ก็เลยไม่กล้าเยียวยาใคร ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว ใครเป็นรัฐก็ต้องคอยเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อน อันไม่ใช่ความผิดของเขา โควิดเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ และรัฐบาลเองไม่มีประสิทธิภาพพอ จะทำให้มันดีกว่านี้ เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบในการเยียวยาก็ควรจะมี ขณะที่อินเดียเขายากจนจะตาย ประชากรเยอะ เขายังให้ ถ้าผมอยู่ ผมให้

สมัยนั้นผมยังบอกเลย ใครตายด้วยหวัดนกผมยังให้เลย ต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทย หวัดนก หรือซาร์ส ช่วงนั้นเนี่ย รักษาฟรี แล้วแถมตังค์ให้ด้วย คือถ้ารัฐบาลเด็ดขาด ทำงานเป็น เราการันตีได้แทบทุกอย่าง แล้วเสียเงินไม่เยอะเลย ผมแทบไม่เสียอะไรเลยตอนนั้น อันนี้เหมือนกันผมคิดว่า ถึงเวลาต้องจัดการจริงจัง” นายทักษิณ กล่าว

ด้าน นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ แกนนำคนสำคัญกลุ่มแคร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากตอนนั้นเราต้องควบคุมเรื่องไข้หวัดนกให้เร็วที่สุด จึงมีการฆ่าไก่ไป 30 ล้านตัว ซึ่งเกิดผลกระทบต่อเกษตรกร รัฐบาลในขณะนั้นได้ให้เงินเยียวยาเกษตกรจากการสูญเสียไก่โดยไม่ได้เป็นความผิดของเขา เยียวยาไปทั้งหมด 5 พันล้านบาท สำหรับไก่ 30 ล้านตัว

“โรคระบาด ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความผิดของเกษตรกรเลย เช่นเดียวกัน วันนี้โควิด-19 ก็ไม่ใช่ความผิดของประชาชน เพราะฉะนั้นการเยียวยาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และจะช่วยบรรเทาความทุกข์ของประชาชนลงได้บ้าง” นพ.สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม