ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาลคนใหม่ องครักษ์พิทักษ์ “ประยุทธ์”

ธนกร วังบุญคงชนะ

การสื่อสารในสภาวะวิกฤตโควิด-วิกฤตการเมือง ข่าวปลอม (Fake news) ปลิวว่อนบนโลกออนไลน์ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีทางเลือก-ไฟต์บังคับ ต้องสลับตำแหน่ง “โฆษกรัฐบาล” จาก “สายบุ๋น” เปลี่ยนเป็น “สายบู๊”

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง “ดร.แด๊ก” ธนกร วังบุญคงชนะ” เป็น “โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” แทน “โฆษกเจมส์” อนุชา บูรพชัยศรี ถูกขยับลอยขึ้นไปเป็น “รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง”

แหล่งข่าวระดับสูงบนหอไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ระบุเหตุผลการ “เปลี่ยนตัว” โฆษกรัฐบาล สั้น ๆ แต่ชัดเจน ว่า “เพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมได้มากขึ้น”

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ตั้ง “ศูนย์บริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤต” มี “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็น “หัวหน้าศูนย์”

“เสี่ยแฮงค์” กับ “ธนกร” ถือว่าเป็น “ลูกพี่-ลูกน้อง” กันมาในพรรคพลังประชารัฐ-สายสามมิตร เป็น “ลูกหม้อ” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร

เส้นทางการเติบใหญ่ของ “ธนกร” ตั้งแต่ตำแหน่งรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ก่อนจะเบียดไหล่ “ดร.กอบ” กอบศักดิ์ ภูตระกูล “แกนนำสี่กุมาร” ขึ้นมาเป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ

หลังจาก “โฆษกบิ๊กอาย” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ไปเป็น รมช.แรงงาน  “ธนกร” ก็มีชื่อเป็นแคนดิเดตโฆษกรัฐบาล “ตีคู่” มากับ “โฆษกเจมส์” ที่มี “เสี่ยตั้น-เสี่ยบี” หนุนหลัง

แต่ด้วยรูปพรรณสัณฐาน สุขุม-นุ่มลึก พูดจาดี-มีหางเสียง “อนุชา” จึงคว้า “โทรโข่งรัฐบาล” ไปนอนกอด 1 ปี กับอีก 6 วัน หลังจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 แต่งตั้งเป็นโฆษกรัฐบาล

“จุดตาย” ที่ทำให้ “ธนกร” อกหัก แพ้-ชนะเพียงปลายจมูกในครั้งนั้น เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องการให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ตำแหน่ง “โฆษกรัฐบาล” จึงต้องลด-ละ-เลิก ป้ายสี-สาดโคลน เป็นการเมืองแบบเก่า

ทว่า “ธนกร” ได้ขยับเข้าใกล้ “ตึกนารีสโมสร” อย่างเงียบ ๆ และมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเข้ามารับตำแหน่ง “เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” เป็นเงาตามตัว “เสี่ยแฮงค์”

ก่อนจะสร้างเซอร์ไพรส์ ด้วยการก้าวขึ้นมาเป็น “โฆษก ศบศ” ส่งข่าวผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งในนาม “โฆษกศบศ.” และในนามพรรคพลังประชารัฐที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ

เมื่อ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” กำลังวิ่งเข้าสู่ “โค้งสุดท้าย” ก่อนจะครบวาระในปี 2566 หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง นับจากนี้ไปต้องเข้าสู่ “โหมดการเมือง” เต็มสูบ

ที่สำคัญคือการมี “ข่าวปลอม” ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด การมานั่งเก้าอี้ “กระบอกเสียงรัฐบาล” ของ “ธนกร” จึงถูกที่-ถูกเวลา และ “จุดแข็ง” ของ “ธนกร” ที่ถูกมองว่าเป็น “จุดอ่อน” กลายมาเป็น “สุกงอม” ทันกิน-ทันใช้

ตลอดระยะเวลาในการทำหน้าที่ “องครักษ์พิทักษ์นายกฯ” คงเส้นคงวา-เสมอต้นเสมอปลายจน “ชนะใจ” พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ปล่อยให้เปิดหน้าถูกฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้นสาวหมัดใส่ฝ่ายเดียว