ฝ่ายค้านเร่งปิดเกม “ประยุทธ์และพวก” ฟ้องเพิ่มคดีทุจริต ป.ป.ช.-ศาลอาญา

แม้ว่าศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็น “รายบุคคล” ของ 6 พรรคฝ่ายค้าน ที่คุยโวว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งสุดท้าย และจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ หลังจบศึกซักฟอก

แต่กลายเป็นว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถูกเบียดซีนด้วยเกมชิงเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐ ทะลุถึงเกมเลื่อยขา “พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งที่ฝ่ายค้านเตรียมใช้กระแสไม่ไว้วางใจในสภา ลากไปนอกสภาเปิดทางให้ม็อบขย่มซ้ำ

ดังนั้น เมื่อกระแสซักฟอกดูเบาบางกว่าที่คิด ชอตต่อไปที่ 6 พรรคฝ่ายค้านเตรียมปฏิบัติต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” และพวก หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

คือ ยื่นเอาผิด-ถมคดีทุจริต ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อประทับตรา “ค้าความตาย” ซึ่ง ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ประกาศไว้ล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเริ่มขึ้นว่า

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านจะต่อยอดยื่นเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ต่อ ป.ป.ช. และร้องตรงศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอย่างแน่นอน

กรณีแรกที่ฝ่ายค้านโดยพรรคเพื่อไทย พยายามรวบรวมหลักฐานปั้นเป็น “คำร้อง” คือกรณีที่ “ประเสริฐ” แฉข้อพิรุธ การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค 18.5 ล้านโดส ที่มีการซื้อ 5 ครั้ง ในราคาครั้งแรกโดสละ 17 เหรียญสหรัฐ แต่การซื้อครั้งที่ 2-5 บริษัทผู้ผลิตลดราคาวัคซีนต่อโดสลดลงจนเหลือ 9.5 เหรียญสหรัฐ แต่คณะรัฐมนตรียังอนุมัติกรอบที่โดสละ 17 เหรียญสหรัฐเช่นเดิม

“ประเสริฐ” ชี้แจงว่า ตามขั้นตอนการขออนุมัติหลักการ และขออนุมัติงบฯที่จะไปจ่าย จริง ๆ ต้องเป็นตัวเลขที่ตรงกัน เพราะรายละเอียดการซื้อ กับตัวเลขที่ขอต้องตรงกัน ถ้าขอตัวเลขสูงไว้ก่อนก็จะเป็นที่สงสัยได้

“ทำไมไม่ขออนุมัติตามความเป็นจริง ซื้อมา 9 เหรียญสหรัฐ ก็อนุมัติ 9 เหรียญสหรัฐ อย่างเดียวก็จบ”

“พล.อ.ประยุทธ์” ตอบในประเด็นนี้ว่า ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบจัดซื้อ 17 เหรียญสหรัฐต่อโดส เป็นการตั้งกรอบไว้เฉย ๆ ซื้อเท่าไหร่ก็เท่านั้น ครั้งแรกซื้อราคา 17 เหรียญ ครั้งต่อมาเขาขาย 9.5 เหรียญสหรัฐ ก็เบิก 9.5 เหรียญสหรัฐ ลดลงอีกก็เบิกเท่านั้น

“ที่เหลือก็อยู่ที่รัฐบาลไม่ได้อนุมัติเงินทั้งก้อนเมื่อไหร่ ระบบงบประมาณเป็นอย่างนี้ ขั้นตอนต่อไปต้องมีการเบิก มีหลักฐานว่าซื้อเท่าไหร่”

ทว่าฝ่ายค้านยังคาใจ “เรื่องนี้กำลังรวบรวมหลักฐาน ถ้าเป็นประเด็นที่ส่อไปทางทุจริตจะดำเนินการต่อทำการยื่น ป.ป.ช.” ประเสริฐกล่าว

กรณีต่อมา การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่อทุจริต และละเมิดข้อสั่งการของตนเองในการจัดซื้อชุดตรวจ (ATK) ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เพื่อไทย ระบุว่า เป็นการเปลี่ยนสเป็กจัดซื้อ ATK โดยแก้ไขข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี จากเดิมต้องผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และจะต้องมีความแม่นยำ โดยแก้ไขเป็นไม่ต้องผ่าน WHO และข้อสั่งการเรื่องความแม่นยำถูกตัดออก

“พล.อ.ประยุทธ์มีเจตนาพิเศษอย่างชัดแจ้งที่จะไปลดเงื่อนไขข้อสั่งการตนเอง ทำให้การประมูลล้มไปแล้วเพราะข้อสั่งการที่ 1 ต้องผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และจะต้องมีความแม่นยำ แต่พอแก้ไขข้อสั่งการที่ 2 ก็ไปทึกทักเองว่าประมูลต่อได้ และเมื่อ 30 สิงหาคม มีการเซ็นสัญญา ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว ดังนั้น ข้อสังการที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”

“ข้อสั่งการที่ 2 เป็นเจตนาไม่สุจริต กระทำผิดต่อหน้าที่ทุจริต เราเตรียมคำร้องต่อ ป.ป.ช.ไว้เรียบร้อย ฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำร่วมกันทำความผิดอย่างเป็นกระบวนการ โดยแบ่งหน้าที่กันทำ และจะถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแน่นอน และฟ้องตรงศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง” นพ.ชลน่านกล่าว

รวมถึงกรณีกองทัพเปลี่ยนเป็นงบฯ จากจัดซื้อ มาเป็นจัดซ่อมรถบรรทุก M 35
 ขนาด 2.5 ตัน ที่เป็นรถหมดสภาพแล้ว นำกลับมาซ่อมใหม่ราคาคันละ 2.5 ล้านบาท จำนวน 259 คัน โดยมีส่วนต่าง 100 ล้าน ที่ “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคามพรรคเพื่อไทย และพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลนำมาถล่มกองทัพ

ซึ่ง “ยุทธพงศ์” ประกาศไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า หลังจบอภิปรายไม่ไว้วางใจจะยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบทันที

ก่อนหน้านี้ หลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 6 พรรคฝ่ายค้าน รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.เอาผิดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใน 5 ข้อหา

1.ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย กรณีจงใจร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปกปิดการกระทำทุจริตในหน่วยงานของรัฐ และละเว้นไม่ระงับยับยั้งความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตปมถุงมือยาง

2.ฟ้องนายจุรินทร์ ในฐานะผู้กำกับดูแลองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีเอื้อประโยชน์แต่งตั้งคนสนิทและผู้ช่วย ส.ส. โดยไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถเฉพาะตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นประธานคณะกรรมการ อคส. และภายหลังแต่งตั้งมีการจัดทำสัญญาลวงซื้อขายถุงมือยางของ อคส.มูลค่า 112,500 ล้านบาท มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท

3.ฟ้องนายศักดิ์สยาม กรณีที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่พบว่ามีเครือญาติของนายศักดิ์สยาม เข้าครอบครองที่ดินจำนวนกว่า 5,000 ไร่ ทั้งที่เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ แต่รัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย

กลับไม่เพิกถอนโฉนด ตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ซึ่งถือเป็นการจงใจไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

4.ฟ้องนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นกรณีเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และมีผลประโยชน์ทับซ้อน

5.ฟ้องนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขัดกฎหมายและผิดจริยธรรมร้ายแรง เกี่ยวกับการแต่งตั้งนายธนพร สมศรี โดยมิชอบ ตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการไปจนถึงเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางศึกษา (สกสค.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

จากคดีค้างเก่า รวมคดีใหม่ที่จะเกิดขึ้นน้อย ๆ 3 กรณี ที่ฝ่ายค้านประกาศเตรียมยื่น ป.ป.ช.

อย่างน้อยคดีที่เกิดขึ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งของใหม่-ของเก่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องเจอไปแล้ว 8 คดี