เปิดวาระประชุม ศบค. ชง 3 ทางเลือก “ประยุทธ์” ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน-ยุบ ศบค.

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

ศปก.ศบค. ชง 3 แนวทาง ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบ ศบค. 10 ก.ย. รองรับการเปิดประเทศ-ลุ้นคลายล็อกดาวน์เฟสสอง ปรับโซนสีแดงเข้ม – ย่นเคอร์ฟิว รับผ่อนคลายสถานบันเทิง

วันที่ 8 กันยายน 2564 แหล่งข่าวระดับสูงในทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ประชุมเพื่อประเมินมาตรการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 1 หรือครบ 14 วันหลังจากคลายล็อกดาวน์

และจะพิจารณามาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในระยะที่สอง คาดว่าจะมีการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมเพิ่มเติมและอาจจะลดจำนวนจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด ให้เหลือ 10 จังหวัดเท่าเดิม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา

ทั้งนี้ ให้ยึดจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละจังหวัดเป็นหลัก ส่วนการประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) อาจจะมีการขยับจาก 21.00 น.–04.00 น. เป็น 22.00 น. หรือ 23.00 น. ถึงเวลา 04.00 น.แทน เพื่อรองรับการผ่อนคลายกิจการสถานบันเทิง

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันจะมีการพิจารณาแนวทางรองรับการเปิดประเทศที่ขณะนี้ผ่านการประกาศของนายกรัฐมนตรีไป 83 วัน เหลืออีก 37 วัน คาดว่าจะเริ่มเปิดประเทศในเดือนตุลาคม โดยจะไม่ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งส่งผลให้เป็นการยกเลิกการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ การไม่ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปและส่งผลให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสิ้นสุดลง ยังทำให้ ศบค. ซึ่งตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 7 วรรคห้า ต้องมีอันสิ้นสภาพไป เช่นเดียวกันการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว)

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายหลังจาก ศบค.ตั้งขึ้น 1 ปีกว่า กลไกในการแก้ปัญหาโควิด-19 เริ่มเข้าที่เข้าทาง ซึ่ง ศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) ศบค. ได้เตรียมการเปลี่ยนผ่านมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน จากโรคอุบัติใหม่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) โดยการใช้กลไกของกระทรวงสาธารณสุขปกติในการแก้ปัญหา

ขณะที่การทำงานของ ศบค.ขณะนี้ เป็นการทำงานแบบ routine เพราะกลไกปกติของแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงานสามารถดำเนินการเองได้เองและรู้ว่าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต้องทำอะไร

“ในระยะเปลี่ยนผ่านที่ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มี ศบค. มี 3 แนวทางที่ ศบค.ชุดใหญ่จะพิจารณา 1.อาจจะใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับใหม่) 2.หาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ยังเสร็จ ยังไม่ผ่านสภา ให้ใช้กลไกปกติภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับปัจจุบัน โดยการตั้งคณะอนุกรรมการแต่ละด้าน ในคณะกรรมการโรคติดต่อ หรือ 3.การออก พ.ร.ก.โรคติดต่อ โดยยกบางอำนาจหน้าที่ บางมาตราใน พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้ เพื่อให้อยู่ร่วมกันกับโควิด-19 ภายใต้กลไกปกติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานการณ์ใหม่”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อออกข้อกำหนดต่าง ๆ ได้ และหากต้องการประกาศเคอร์ฟิวก็ให้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นครั้ง ๆ

“การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 10 กันยายน 2564 จะเป็นเพียงการเสนอแนวคิด จากนั้นจึงจะมีการประชุม ศบค.เพื่อมีมติอีกครั้ง และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้บังคับใช้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2564” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวกล่าวอ้างคำพูดนายกรัฐมนตรีว่า สำหรับการเปิดประเทศ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า เปิดเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมตามไกด์ไลน์ที่กำหนดไว้ก่อนหน้าที่ หรือตามสัดส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีน 70% ในพื้นที่ และการบังคับใช้มาตรการสาธารณสุขขั้นสูงสุด เช่น การฉีดวัคซีนครบสองเข็ม การตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแบบเร่งด่วน (ATK) ทุก 14 วัน