เปิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซ้ำรอยวาทกรรม “ขายชาติ”

มติ ครม. อนุมัติหลักการให้นักลงทุนต่างชาติที่มั่งคั่ง เข้าซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองไทย และได้ปรับสิทธิหน่วยงานราชการหลายแห่งให้สอดคล้อง กลายเป็นกระแสรัฐบาลถูกโจมตี นับเป็นรัฐบาลที่ 3 ที่ถูกระบุว่า “ขายชาติ”

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 กันยายน 2564 อนุมัติ เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนเพื่อการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยให้เศรษฐีต่างชาติ 4 กลุ่ม เข้าพำนักอาศัยในประเทศไทย หรือประกอบอาชีพ และสามารถซื้อบ้านและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้

มติ ครม. ดึงต่างชาติมั่งคั่งล้านคน ซื้อที่พักอาศัย ทำงานในเมืองไทย

มติ ครม.ดังกล่าว ถูกตั้งเรื่องมาตั้งแต่ 4 เดือนก่อน โดยในวันที่ 4 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ครั้งที่ 2/2564 ได้เห็นชอบ มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

เอาใจต่างชาติอย่างไรบ้าง

แม้ยังไม่ได้ปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ “มติ ครม.” เรื่องนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เพื่อเอาใจชาวต่างชาติ” ภายใต้รายละเอียด ที่นำเสนอ ครม. ดังนี้

  1. วีซ่าพำนักระยะยาว อายุ 10 ปี จากเดิมต้องรายงานตัวทุก 90 วัน เงื่อนไขใหม่ ไม่ต้องรายงานตัว แม้จะอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน
  2. ซื้อคอนโดฯได้เพิ่ม จากเดิมที่กำหนดให้ซื้อได้ไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนยูนิตทั้งหมด
  3. เช่าอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่ม จากเดิมที่เช่าได้ไม่เกิน 30 ปี
  4. ซื้อบ้านจัดสรรและที่ดิน จากเดิมต่างชาติไม่สามารถครอบครองได้ แต่หลักการใหม่ให้ซื้อได้ภายใต้ข้อจำกัด
  5. ให้กระทรวงการคลัง ทำส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีและระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร โดย ลดอากรขาเข้ากึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี สำหรับการนำเข้าไวน์ สุรา ยาสูบประเภทซิการ์
  6. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ

หน่วยงานราชการ ต้องอำนวยความสะดวก ดังนี้

  1. ให้ BOI หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จัดตั้งหน่วยบริการพิเศษ LTR Service Center ขึ้นเพื่อสนับสนุนและเชิญชวนให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย
  2. ให้ กระทรวงมหาดไทย กำหนดวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวใหม่ รวมทั้งข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. ยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าผู้พำนักอาศัยระยะยาว และวีซ่า smart visa ทั้งหมด ไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ หากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน ตามมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และให้มีคุณสมบัติของผู้ขอวีซ่า สิทธิประโยชน์ และรายละเอียดอื่น ๆ ตามที่เสนอ
  4. ให้ศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน ในทางปฏิบัติเป็นการรีวิวกฎหมายเพื่อเปิดทางให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน

สำหรับการออกวีซ่า long-term resident visa เป็นการกำหนดวีซ่าประเภทใหม่ เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง และต้องการเป็นผู้พำนักอาศัยในระยะยาว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (wealthy global citizen) ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า, ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันด้วย, ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน)

นิยามคือ ลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI-foreign direct investment) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, มีรายได้เงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา, มีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (wealthy pensioner) นิยามลงทุนขั้นต่ำ 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐในไทย, มีเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ, ถ้าไม่ได้ลงทุนในไทย ต้องมีเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) นิยามมีรายได้ส่วนบุคคลปีละ 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปี หรือปีละ 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป/ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา/ได้รับเงินทุน series A1 และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปี

4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (high-skilled professional) ได้สิทธิประโยชน์หลักเช่นเดียวกับประเภทอื่น ๆ แต่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทย อัตราเดียวกับพื้นที่ EEC

ในวาทกรรมขายชาติ จากนักการเมือง-คนบันเทิง

  • นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดินในไทย และขยายเพดานให้ชาวต่างชาติถือครองห้องชุดในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 70-80% และการปรับหลักเกณฑ์ให้ต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในประเทศได้ ในราคาตั้งแต่ 10-15 ล้านบาทขึ้นไป โดยอ้างว่าเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น…รัฐควรเอาเวลาไปคิดหามาตรการให้ช่วยเหลือคนไทยไม่มีบ้านอยู่ถึง 87 ล้านครัวเรือน…อยากให้รัฐบาลคิดใหม่ เพราะมาตรการนี้นอกจากจะไม่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติแล้ว อาจถูกครหาว่าขายชาติ ขายแผ่นดินเอาได้
  • ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยกล่าวว่า “นี่ถือเป็นมติอัปยศ ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสิ้นไร้ความสามารถที่จะแสวงหารายได้เข้าแผ่นดิน แนวคิดและมติดังกล่าวไม่ได้สอบถามเจ้าของประเทศที่แท้จริงเลยว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเรียกร้องขอให้รัฐบาลใช้อำนาจ ม.166 ดำเนินการทำประชามติจากประชาชนเจ้าของประเทศเสียก่อน”
  • มีการเปรียบเทียบกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกครหาว่าเป็นคนขายชาติ หลังจากที่ประกาศนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท. (PTT) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOT)   จากเดิม รัฐถือหุ้นทั้งหมด 100% ปรับเป็นรัฐถือหุ้นได้ 51% คนนอกทั้งไทยและต่างชาติ ถือได้รวมกัน 49% โดยทักษิณอธิบายว่า “ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเป็นเจ้าของกิจการของรัฐ”
  • ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าขายชาติ กรณีไปกล่าวปาฐกถาที่ประเทศมองโกเลีย ว่า “ประเทศไทยต้องล้าหลังชาติอื่นไปหลายปี เพราะมีการรัฐประหารในยุคสนธิ บุญยรัตกลิน…ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพของเขาถูกปล้นไป คนไทยได้ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้เสรีภาพคืนมา”
  • โฟกัส จิระกุล นักแสดง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า “ใครกันแน่ที่ … ขายชาติ” ขณะที่ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้โพสต์ว่า “ไม่แน่นะ ต่อไปนี้ อาจมีเขตปกครองพิเศษ สำหรับต่างชาติ ห้ามคนไทยเข้าก็ได้”
  • อ๋อม สกาวใจ นักแสดง ออกมาคัดค้านเรื่องการขายที่ดินให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ โดยอ๋อมได้โพสต์ข้อความลงไอจี @oomsakaojai พร้อมกับมีข้อความว่า “เรื่องขายที่ดินให้ต่างชาติ ฉันค้านสุดตัว…จำไว้ !!! แต่ตอนนี้ขอตามวัคซีนให้คนยังไม่ได้เข็มแรกก่อน…