“นวลน้อย” อ่านเศรษฐศาสตร์ทหาร หวังชนะเลือกตั้ง ต้องแก้ ศก.เร็ว-แรง

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 5 ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงโค้งหักศอก 1 ปี ก่อนถึงโรดแมปเลือกตั้ง พ.ย. 2561 ชี้เป็นชี้ตายการอยู่ (ต่อ)-การไปของ พล.อ.ประยุทธ์-องคาพยพ โดยเฉพาะขุมกำลังเศรษฐกิจของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่จะเป็น “แต้มต่อ” ทางการเมืองในอนาคต

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์” อาจารย์ประจำสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินจุดอ่อน-จุดแข็งและนโยบายเศรษฐกิจ “ทีมสมคิด” หากต้องการใช้เป็นอาวุธลับ-แผนรุกทวนเข็มอำนาจ

Q : ภาพรวมเศรษฐกิจไทย 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้นโยบายของทีมเศรษฐกิจ

รองนายกฯ สมคิด มีความตั้งใจในการทำงานสูงมาก ในการพยายามผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ ให้รวดเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การลงทุนหลายโครงการของภาครัฐยังล่าช้า หากภาครัฐลงทุนเป็นรูปธรรมจะดึงเอกชนให้ลงทุนตามได้

นักลงทุนคำนึงถึงความเอาจริงเอาจังของภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถึงแม้ว่ารองฯสมคิดจะออกแรงผลักดันเยอะ แต่รูปธรรมออกมาจากภาครัฐยังล่าช้า ทำให้เกิดแรงดึงภาคเอกชนได้ไม่มาก

ขณะที่โครงการขนาดเล็กสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจรายย่อย การให้สิทธิพิเศษ ผ่านกระทรวงการคลัง มีจำนวนมาก อาทิ มาตรการภาษี แต่สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีอะไรพิเศษอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่แถว ๆ 3 เปอร์เซ็นต์ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่เปลี่ยน

เมื่อส่งออกกระเตื้อง ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องตามขึ้นมาในไตรมาส 3 GPD 3.8 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนว่า โครงการที่รัฐบาลพยายามทำยังไม่สามารถส่งผลอะไรมากนัก

เศรษฐกิจไทยปัจจุบันภาคท่องเที่ยวดึงเศรษฐกิจไทยไปได้เพียงระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขนาดใหญ่ขึ้น ต้องการแรงดึงมหาศาล ถ้าต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีแรงดึงเยอะมาก

ขณะเดียวกันผู้คนในภาคต่าง ๆ หลากหลาย เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนนั้น ผลประโยชน์ต้องตกถึงผู้คนที่หลากหลายเหล่านี้ได้อย่างครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Q : นโยบายของทีมเศรษฐกิจอะไรคือจุดอ่อนและจุดแข็ง

รองนายกฯ สมคิดพยายามขายโครงการใหญ่ เช่น นโยบาย 4.0 โครงการ Startup และ National e-Payment แต่จะเห็นว่า คืบไปข้างหน้าล่าช้า แม้กระทั่งการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) Idea ดี แต่สิ่งสำคัญ คือ ความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่เรื่อง marketing จึงเป็นจุดอ่อนของการดึงนักลงทุนให้มาลงทุน

โครงการ EEC ถูกพูดถึงมาพักใหญ่ แต่วันนี้เพิ่งมาขีดเส้นว่าโครงสร้างพื้นฐานโครงการใดบ้างต้องทำให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งไม่สามารถโฆษณาให้ใครฟังได้ เพราะนักลงทุนรอว่า โครงสร้างพื้นฐานนั้นจะเกิดขึ้นหรือยัง ถ้าไม่เกิดก็ไม่ลงทุน กำหนดระยะเวลาเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนภายในปี”61 จะทันหรือไม่ ถ้าจะให้นักลงทุนอื่น ๆ ลงทุนด้วย จะต้องใช้เวลาในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกกี่ปี ถือว่าเร็วไหม ระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่น น้ำ ไฟ จะเป็นอย่างไร รวมถึงการพัฒนาบุคลากร ถ้ารัฐบาลต้องการผลักดัน EEC ให้เป็นเรื่องใหญ่

ภาพตรงนี้ต้องชัดเพื่อดึงการลงทุนขนาดใหญ่ การลงทุนภาครัฐต้องนำอย่างเฉียบขาด รวดเร็วสมัยโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (ESB) ยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โชติช่วงชัชวาล แต่รัฐบาลนี้พูดไปเรื่อย ๆ ไม่คึกคัก การทุบโต๊ะให้กฎหมาย EEC ออกมาบังคับใช้ให้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2560 แต่การทุบโต๊ะโครงการ EEC กับโครงการ ESB แตกต่างกัน สมัยนั้นทุบโต๊ะ ทุบง่าย การชุมนุมประท้วงไม่หนักเหมือนสมัยนี้ ถึงแม้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่เมื่อถึงเวลาที่คนไม่ได้รับการดูแล เอาไม่อยู่ โครงการจะไปไม่รอด

รัฐบาลตระหนักเรื่องนี้ดี จึงพยายามเอาใจประชาชนมาก เพราะต้องการฐานเสียง ประเทศเดินมาถึงตรงนี้และมีคำตอบว่า ปี”61 คงต้องเลือกตั้ง นายกฯประกาศบนเวทีโลกแล้ว เป็นคำมั่นสัญญาว่า จะต้องเดินมาถึงจุดนี้ ไปต่อแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว คนรู้สึกว่าให้เวลามามากพอสมควร โดยเฉพาะต่างประเทศ เพราะถ้ายึกยักอีก การลงทุนทั้งหลายที่จะมาก็จะไม่มา

Q : ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นปัญหาของรัฐบาลที่ยังคิดไม่ตก

เศรษฐกิจไทยยังประสบปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ทำให้เกิดความยากลำบาก เช่น ราคายางพารา ยังแก้ไม่ได้ ราคาข้าวถึงแม้จะดีขึ้นแต่ไม่สามารถดีดตัวให้มากกว่านี้ เพราะอำนาจในการแก้ปัญหามีไม่มากเนื่องจากส่วนหนึ่งถูกกำหนดโดยตลาดโลก เพราะฉะนั้นการจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรกระเตื้องขึ้นมาเป็นงานหิน จะประคองเกษตรกรที่พึ่งพิงรายได้จากยางพาราและข้าวจริง ๆ อย่างไร เป็นโจทย์ยากของรัฐบาล รัฐบาลยังเอาไม่ค่อยอยู่

Q : การย้ายเจ้ากระทรวงออกเป็นการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ถูกจุดหรือไม่

ไม่ใช่ เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องเข้าไปแก้ไข เช่น การแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว มาตรการลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตยังจำเป็น การปรับเปลี่ยนตัวบุคคลอาจจะแก้ปัญหาได้หากเจ้ากระทรวงสามารถมองทั้งภาพใหญ่และภาพเล็กทะลุ ต้องลงมาติดตาม ต้องกระตุกให้ถึงปลาย ให้ทุกคนเคลื่อน

Q : การดิสเครดิตทหารว่า บริหารงานไม่เป็น-มือไม่ถึง ควรเป็นเหตุผลของการปรับ ครม.หรือไม่

ไม่ขอเหมารวมว่า เป็นทหารแล้วทำงานไม่เป็น ทหารบางคนเก่งมาก ทหารบางคนก็ไม่เป็น…จริง ฉะนั้นการเลือกใครมา อยากให้นายกฯ เลือกคนที่เหมาะสม ไม่ว่าจะมาจากภาคส่วนไหน อย่าเลือกเพราะว่า เป็นพวกฉัน ฉันรู้จัก เป็นทหาร แต่ทหารทำไม่ได้ทุกอย่าง ต้องมีศิลปะในการเลือกคนเก่งขึ้นมา

Q : การทำงานไม่เข้าขา-ตีกันคนละคีย์

ของรัฐมนตรีในทีมเศรษฐกิจเป็นปัญหามากน้อยขนาดไหน เศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ การขับเคลื่อนต้องประกอบด้วยกระทรวงจำนวนมาก บางทีก็ไปด้วยกันได้ บางทีก็ไม่ไป…เป็นปัญหา

Q : การปรับ ครม. โดยให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจมีนัยทางการเมืองต่ออนาคตของรัฐบาล-คสช.ในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างไร

มีแน่นอน ทุกประเทศเป็นเหมือนกันหมดถ้าเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลที่อยู่บริหารในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เวลาเลือกตั้งลำบากเพราะคนจะรู้สึกว่า ถ้าคุณอยู่เศรษฐกิจไม่ดี ใกล้ช่วงเลือกตั้งรัฐบาลลำบาก พรรคนั้นลำบาก ยากที่จะชนะการเลือกตั้ง คนจะรู้สึกว่า ถ้าเปลี่ยนมันอาจจะดีกว่านี้ รัฐบาลนี้ ถ้าหากว่า

นายกฯ และรัฐมนตรีที่คิดจะอยู่ต่อ หรือกลุ่มที่จะชวนให้รัฐบาลกลับมาเป็นอีกครั้ง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีกลับมาลำบาก เพราะสะท้อนว่า ถ้ากลับมาอีกครั้งจะดีกว่านี้ไหม (หัวเราะ) ให้พิสูจน์มาหลายปีแล้ว

Q : การปรับ ครม.โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ ถึงแม้จะปรับใครเข้ามาใหม่ก็ยังต้องเดินตามนโยบายเศรษฐกิจในแบบฉบับ รองนายกฯ สมคิด

รัฐบาลชุดนี้อยากแก้ปัญหาหลายเรื่องที่เป็นโครงสร้างและต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในเชิงขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น โครงการ EEC อุตสาหกรรมใหม่เป้าหมาย เป็นทิศทางที่คิดว่าดี แต่ต้องมีกลยุทธ์ มีแผนการขนาดใหญ่และการขับเคลื่อนขนาดใหญ่เพื่อให้แผนการเป็นไปตามเป้าหมายด้วย

Q : นโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าเพื่อแก้ปัญหาคนจน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เข้าเป้ามากน้อยแค่ไหน

เศรษฐกิจประกอบด้วย 2 ขา คือ เศรษฐกิจสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนที่อยู่ในเศรษฐกิจแบบแอนะล็อก โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แก่ก่อนรวย ไม่มีเงินออม ไม่มีเงินเลี้ยงชีพ ไม่มีรายได้ทางอื่น รัฐบาลไม่สามารถจ่ายได้มากกว่านี้เพราะจัดเก็บภาษีได้ต่ำและยังอยู่ในทิศทางลดภาษีเพื่อเอาใจทุกฝ่าย ความพยายามในการขยายฐานภาษีมีไม่มาก จึงเป็นขีดจำกัดในการจัดสรรสวัสดิการ รัฐบาลจะแจกได้แค่ไหน แจกได้ไม่มาก

Q : นโยบายเศรษฐกิจจะเป็นแรงส่งให้รัฐบาล-คสช. มีแต้มต่อทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

เฉพาะนโยบายบัตรคนจน คิดว่าไม่ เพราะแก้ปัญหาได้ไม่มาก เปรียบเทียบกับนโยบายแรง ๆ ที่ผ่านมา เช่น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แรงมาก เป็นนโยบายที่กินใจ ได้ใจ เพราะเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาของคนที่กำลังประสบปัญหาอยู่ ทำให้เขารู้สึกว่า มีความมั่นใจในคุณภาพชีวิตของตัวเองมาก เป็นความชาญฉลาดในเชิงนโยบาย เพราะไม่ได้ใช้เงินจำนวนมากแต่สามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับคน เป็นนโยบายทางด้านจิตใจ การให้เงิน 200, 300 บาท ช่วยได้เพียงการปลดเปลื้องได้นิดหน่อย ไม่ได้แรงและทำให้คนจนรู้สึกเกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิต มีความหวัง ทำแค่นี้จึงไม่คิดว่ามันแรงพอ ถ้าคิดว่าจะทำให้คนคิดว่า กินใจ จนเลือกตั้งครั้งหน้ากลุ่มนี้มาแน่ ต้องมีนโยบายที่แรงมากขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่การแจกเงิน การแก้ปัญหาความยากจน ทำแค่นี้ไม่สามารถทำให้คนหายจน ต้องทำให้มีอาชีพเสริม มีรายได้เพียงพอนโยบายแก้ปัญหาคนจนรัฐบาลเพิ่งมาเริ่มทำในปีสุดท้าย ควรเริ่มทำตั้งแต่ปีแรก ๆ จึงต้องตั้งหลักให้ดี ทำต่อไป แต่ถ้าต้องการคาดหวังผลเร็ว คงได้ไม่เร็วอย่างที่คาดหวัง แต่จะเป็นการเริ่มต้นทำให้รูปแบบสวัสดิการชัดเจน ต้องช่วยเป็นแพ็กเกจใหญ่ ต่อเนื่อง ครบถ้วน ครอบคลุมทั่วทั้งชีวิต สุดท้ายหายจนได้ นโยบายต้องมีเป้าหมายทำให้คนหายจนได้ คิดแล้วต้องหวังสูง