บูสต์อัพเศรษฐกิจ 2565 ไทยพร้อมปักฐานผลิต-ลงทุนระดับโลก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พลังงาน กล่าวเปิดงานเสวนาและปาฐกถาพิเศษ “Boost Up ทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา “BOOST UP THAILAND 2022” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564

บูสต์อัพเศรษฐกิจไทย 2022

“สุพัฒนพงษ์” เริ่มต้นปาฐกถาพิเศษว่า การบูสต์อัพประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า ซึ่งเป็นโอกาสของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การรักษาการผลิต โดยเฉพาะภาคการส่งออก มีบับเบิลแอนด์ซีล แฟกตอรี่แซนด์บอกซ์ เดือนที่ยากลำบากที่สุด คือ เดือนกรกฎาคม ต้องชกลม เตรียมพร้อมรับการเปิดประเทศและประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบที่ทั่วโลกจับตามอง เป็นการท่องเที่ยวปลอดภัย จำนวนการจองห้องพักต่อคืนพักที่ภูเก็ตกว่าล้านคืน

เรื่องการเยียวยาในช่วงที่ลำบากทุกด้าน ภาคประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่เข้มงวดและควบคุมสูงสุด สีแดงเข้ม ได้ครบทุกภาคส่วนว่า ประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคมแดงทั้งแผ่นดิน

“วันนี้ยังรักษาสถานภาพความเข้มแข็งทางการเงิน การคลังของประเทศในระดับที่ดีพอสมควร ไม่ได้น้อยหน้ากว่าประเทศอื่น มองไปในอนาคตก็ยังมีเสถียรภาพ และเตรียมพร้อมเพื่อเดินหน้าประเทศไทยต่อไปได้”

สร้างไทยฐานการผลิตแหล่งที่สอง

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จากปัญหาของสงครามการค้า จะไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นฐานการผลิตอีกต่อไป การกระจายฐานการผลิตที่สองจะมีความจำเป็นมาก ประเทศไทยจะมีความพร้อม

คนจะแสวงหาที่พำนักระยะยาว หรือแหล่งประกอบการแห่งที่สอง ที่มีความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและมีความมั่นคงด้านอาหารสูง อยู่แล้วไม่อดตาย อยู่แล้วปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี

4 เดือนที่ผ่านมา เป็น 4 เดือน 4 โอกาส (decarbonization digitalization derisk และ decentralization : 4D) รัฐบาลไม่เคยหยุดนิ่ง ทำงานคู่ขนานไปกับการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงโครงสร้างสร้างฐานต่าง ๆ เช่น 5G

สำคัญที่สุดในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และการเยียวยา คือ การทดลองสำคัญในการจ่ายเงินเยียวยาภาคประชาชน 50 ล้านคนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

จนเป็นที่เล็งเห็นของผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นฮับดิจิทัล โดยเฉพาะธุรกิจ cloud service และ data center รวมถึง big data analysis ซึ่งมีผู้แสดงความจำนงเข้ามาลงทุนในระดับไฮเปอร์สเกล

ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเรื่องภาษีและกฎกติกา ซึ่งจะทำให้เห็นการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการทำให้ธุรกิจดิจิทัลไปได้รวดเร็วมากขึ้น

และตามด้วยรัฐบาลไทยแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ในปี 2608 (ค.ศ. 2065) หรือ 40 ปีหลังจากนี้ แต่ระหว่างทาง ปีที่เราจะปล่อยคาร์บอนสูงสุด ไม่เกินปี 2030 หรือ 9 ปีต่อจากนี้

คาร์บอนเป็นศูนย์-เข้าสู่เมกะเทรนด์

นายสุพัฒนพงษ์ชี้ให้เห็นเมกะเทรนด์ของโลกว่า 75% ของประเทศที่ครองเศรษฐกิจกำลังจะเดินหน้าไป เพราะเป็นปัญหาสำคัญต้องเร่งแก้ไข กฎกติกาที่จะเป็นมาตรการบังคับในอนาคตจะเกิดขึ้น เช่น carbon footprint และ carbon tax

ประเทศไทยมีศักยภาพ ไฟฟ้าพลังน้ำ ไฟฟ้าโซลาร์ hybrid hydro รวมถึงพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย

“เรื่องของยานยนต์ประจุไฟฟ้า ภายในเดือนธันวาคมนี้ นโยบายส่งเสริมยานยนต์ประจุไฟฟ้าจะได้ข้อสรุป และนำไปสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ทุกประเภท”

นอกจากนี้ทีมปฏิบัติการเชิงรุกดำเนินการและพูดคุยกับ
ผู้ประกอบการรายปัจจุบันและต่างประเทศให้ความสนใจ ผ่านสถานทูต 10 ประเทศ อาทิ อียู สหรัฐ เพราะเห็นความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทย เป็นเรื่องใหม่ที่จะเกิดขึ้น

ปักธงดึงเศรษฐีต่างชาติเข้าไทยล้านคน

นโยบายที่รองนายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นทำ ถูกนำเสนอว่า “จากการสำรวจพบมีผู้สนใจจำนวนมากและพุ่งเป้าจะเข้ามาพำนักระยะยาว เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติวีซ่าระยะยาว 10 ปี เป้าหมายแรก 5 ปี ดึงดูดชาวต่างชาติได้ 1 ล้านคน เกิดรายได้ 1 ล้านล้านบาทต่อปี”

เสน่ห์หรือแท็กติกที่ประเทศไทยทำมาอย่างต่อเนื่อง 6-7 ปีที่ผ่านมา คือ โครงสร้างพื้นฐาน ถนน ท่าเรือ จะดึงดูดการย้ายฐานของอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมดั้งเดิมเข้มแข็ง ได้ปรากฏให้เห็นชัดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

“เดือนกันยายน 64 ตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนของปี’64 สูงถึง 5.2 แสนล้านบาท เทียบกับเดือน ก.ย.ปี’64 ตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุน 2.1 แสนล้านบาท หรือขึ้นมากว่า 2 เท่า และคาดว่าสิ้นปี’64 จะแตะ 6 แสนกว่าล้านบาท”

เกิดจากแรงดึงดูดจาก decentralization และทิศทางของกระแสโลกที่ต้องมีการปรับและย้ายฐานการผลิตสำคัญ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชีวภาพ (BCG)

ดัน 4D ขี่กระแสโลก

นายสุพัฒนพงษ์ฉายภาพฉากทัศน์เศรษฐกิจลูกใหม่ว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นโอกาสและความท้าทาย พลังที่จะดึงดูดในปีหน้าและปีถัดไป เช่น พลังงานสะอาด

“ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้ตกลงกันแล้วที่กลาสโกว์ว่า ในปี 2050 หรือ 2030 จะปรับเปลี่ยนให้ก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ การย้ายฐานจะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักเพราะเป็นต้นทุนแฝงที่จะเกิดขึ้น”

“carbon footprint ที่ปรากฏอยู่ในสินค้าทุกประเภทสูง ภาษีสูงตามไปด้วย กฎกติกา สนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศจะถูกนำไปพิจารณา สัญญาการค้าที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจา ถ้านำเรื่องนี้ไปพูดคุยจะไปด้วยความรวดเร็ว”

รัฐบาลเพียงวางโครงสร้างระบบนิเวศ วันนี้ 4D คือ 4 กระแสโลก ซึ่งได้เตรียมการไว้พอสมควร ไม่ด้อยไปกว่าประเทศใดในโลก ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสำคัญเพื่อพลิกโฉม

โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เราไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกโฉม เช่น รถไฟรางคู่ เชื่อมต่อและเชื่อมโยงภูมิภาค ปลายปีนี้รถไฟจีนจะมาถึงและเชื่อมต่อกับไทย เชื่อมต่อภูมิภาคกับทะเลอ่าวไทย สินค้าจะไปตอนกลางของจีนง่ายขึ้น

การขนส่งทางน้ำกับจีนทางเชียงราย-เชียงของ ถนนเสร็จแล้วรอการเปิดประเทศและให้โควิด-19 คลี่คลาย อุตสาหกรรมเกษตรในภูมิภาคที่จะทำกับจีนได้มากขึ้น รวมถึงการค้าและอุตสาหกรรมอื่น

โรดโชว์ดึงดูดนักลงทุน

รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ แม้กระทั่งช่วงเวลายากลำบาก ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่กรกฎาคมคู่ขนานกันไปกับปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อพยายามสร้างระบบนิเวศ (ecosystem)

เป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลในการเตรียมการให้พร้อมกับสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้น เป็นระบบนิเวศใหม่ที่สะท้อนกับกระแสโลก เป็นระบบนิเวศใหม่ที่จะเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญเพื่อพลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

หากมีโอกาสเราจะเดินหน้าดึงดูด ชักจูงนักลงทุนต่างประเทศให้เข้าใจและเข้ามาสู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ ในบริบทใหม่ที่สอดคล้องกับกระแสสังคมโลก

“ไม่ทิ้งและยังฝากผู้ประกอบการไทยให้เชื่อมั่นและลงทุน เพื่อต่อยอดในสิ่งที่ทำอยู่ ชาวต่างประเทศ 4 กลุ่มที่พร้อมจะเข้ามาพำนักอาศัยในประเทศไทยระยะยาว ไม่เพียงแต่มาท่องเที่ยว แต่มาสร้างมาร่วมพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน”

รัฐบาลทำในสิ่งที่เป็นระบบนิเวศเพื่อสร้างไว้ ระบบราชการภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับและเร่งรัดให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนการให้บริการภาคประชาชนชัดเจนมากขึ้น

ทุกอย่างจะพลิกโฉมประเทศไทย จะ Boost up Thailand ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว แต่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ถ้าเราทำได้การพลิกโฉมประเทศไทยไม่ใช่เรื่องยาก

“ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น จีดีพี 5-6% ถ้าไม่เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่”

สุพัฒนพงษ์ทิ้งท้ายว่า “ทุกมาตรการต้องร่วมมือกันรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ รักษาเสถียรภาพความมั่นคงในประเทศ เราจะนำพาประเทศไทยให้ฟื้นตัว เราจะไม่เหมือนเดิม เราจะเข้มแข็งมากกว่าเดิม ภายใต้บริบทใหม่ เราพร้อมแล้ว”