4 พรรคประชันไอเดีย “ยกเครื่องประเทศ” 42 ปี มติชนสุดสัปดาห์

4 พรรค ประชันนโยบาย ท้าเปลี่ยนประเทศ เพื่อไทย ชูมุก rebranding พรรค ชู “อุ๊งอิ๊ง” ดึงนวัตกรรม อุ้มเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ก้าวไกล ย้ำ ต้องเปลี่ยนผู้นำ ปชป. หนุนกระจายอำนาจ ด้าน “เจ๊หน่อย” ปล่อยสารพัดนโยบายเพื่อคนตัวเล็ก

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด มีการจัดเสวนาการเมือง “4 พรรค ประชันวิสัยทัศน์ 2565 ท้าเปลี่ยนประเทศไทย’ เนื่องในโอกาสการก้าวสู่ปีที่ 42 ของนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” โดยมีวิทยากร ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โดยมี น.ส.จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ทำหน้าที่ดำเนินรายการ

ถ้าไม่เปลี่ยน จะไม่มีประเทศไทย

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยเราขณะนี้ถ้าไม่เปลี่ยน ในปี 2565 ชื่อประเทศไทยอาจไม่มีในโลก เพราะประเทศนี้ป่วยและย่ำแย่เหลือเกินในทุกมิติ ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พี่น้องทุกข์ระงมสาหัส ดำเนินชีวิตบนความสิ้นหวัง พี่น้องไร้หนทาง

สิ่งที่ต้องบอกเรื่องแรกสุด ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่ผู้คนในประเทศนี้ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปิดหูปิดตา ดักดาน ประเทศเราเปลี่ยนไม่ได้ เพื่อไทยเราแสดงให้เห็นจากการประชุมใหญ่ วันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา เราเปลี่ยนเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทั้ง rebranding restructure และรูปแบบที่พี่น้องจะจับต้องได้ กินได้ คือนโยบาย

การที่พี่น้องประชาชนจะมีจุดใหม่ มีชีวิตใหม่ได้ นอกจากการท้าเปลี่ยนตรงนี้ไม่พอ กลไกที่สำคัญที่สุด คือ ตัวกลาง และการมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนเชิงสังคม ต้องเปลี่ยน จะให้ใครที่ไหนมาใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ของเราโดยที่ประชาชนไม่ได้เป็นตัวกลางขับเคลื่อน เปลี่ยนไม่ได้

สิ่งสำคัญที่สุด เราเปลี่ยนรูปแบบของการเข้าสู้อำนาจและการใช้อำนาจ เพื่อไทยเราบอกว่า ถ้าจะเปลี่ยนประเทศในปี 2565 สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ออกไป ด้วยกลไกประชาธิปไตย เพื่อจะได้เปลี่ยนโอกาสให้กับพี่น้องประชาชน มามอบให้กับเรา

เมื่อเปลี่ยนแล้ว เพื่อไทยมีทิศทางขับเคลื่อนบอกกล่าวประชาขนได้อย่างชัดเจน ทั้ง ยกเครื่องด้านเศรษฐกิจ ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ไม่ว่าคมนาคม เรื่องแหล่งน้ำ ที่เพื่อไทยเคยเสนอ และถูกทำลายลง เกษตรแบบใหม่ นวัตกรรมบนพื้นฐานนำเทคโนโลยีมาใช้ รูปแบบใหม่ที่สร้างสรรค์

และแสวงหาการมีส่วนร่วมผ่านนวัตกรรม โดยให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม จับต้องได้ สามารถใช้เป็นแนวทางดำรงชีวิตได้ เพื่อไทยมหานคร กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

กระจายอำนาจ คือส่งที่เพื่อไทยวางไว้ เพื่อการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เราประกาศไปแล้วที่ขอนแก่น ขับเคลื่อนด้วยการ นำเอาคนในอดีต พลังของคนในอนาคต มาเป็นจุดขับเคลื่อน

“ถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริงๆ เปลี่ยนเพื่ออนาคตของพวกเรา แต่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเพื่อไทยไม่ได้รับการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชน พี่น้องประชาชนต้องเปลี่ยนตัวเองด้วย เพื่อมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกับเพื่อไทย เลือกเพื่อไทยอย่างถล่มทลาย หรือ แลนด์สไลด์ เพื่อเอาอำนาจนั้นมาเปลี่ยนแปลง เพื่อสิ่งที่ดีกว่า” นพ.ชลน่านกล่าว

ตอบคำถาม “ชินวัตร” ครอบงำ

ผู้ดำเนินรายการถามว่า เวลาที่ฟังว่าอะไรคือนโยบาย หรือ วิธีคิดของเพื่อไทย เราฟังจากใครคือคำตอบสุดท้าย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรามีกลไกการนำเสนออยู่แล้ว แน่นอนกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ การขับเคลื่อนนโยบาย เรามีคณะทำงาน 10 คณะ ผ่านกลไกของคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางทางการเมือง หลอมรวมเป็นนโยบาย

ถามย้ำว่าไม่ว่าใครเขียนเฟซบุ๊ก พูดคลับเฮาส์ ให้ฟังในนามพรรคเพื่อไทยเท่านั้น กล่าวว่า ฟังในนามพรรคเพื่อไทยหลังจากเขียนนโยบายแล้ว เรื่องนี้ถูกถามเยอะมาก เราจึงมีคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมเข้ามาทำหน้าที่ มีคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รวม 10 คณะ

แต่สิ่งที่เรากล้าตอบ นวัตกรรม ความรู้ เทคโนโลยี ที่มีอยู่ทั่วโลกจากสมองผู้ใดก็ได้ จะส่งต่อมาคณะเหล่านี้ เช่นคณะของ น.ส.แพทองธาร สามารถไปรับอะไรมาก็ได้แล้วนำเข้าสู่การขับเคลื่อน ผ่านกลไกคณะยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคอนุญาตเป็นนโยบาย ดังนั้น ใครพูดก็ได้ ใครเสนอก็ได้ เป็นภาพการที่มีกฎหมายรองรับชัดเจน จะได้เลิกเสียที ที่บอกว่าเรื่องครอบงำ ชี้นำ เอาขึ้นข้างบนให้เห็นโปร่งใส เป็นนโยบาย

เมื่อถามว่า จะคุยอะไรกับคนรุ่นใหม่ที่มองพรรคเพื่อไทย จะทำเพื่อทำรุ่นเขาได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า
มั่นใจสิ่งที่เราต้องการบอกกับคนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เขาจะมามีส่วนร่วมกับเราบนพื้นฐานการเป็นหุ้นส่วน ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคธรรมดา ผ่านกลไกนวัตกรรมต่างๆ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง ร่วมเป็นเจ้าของ มั่นใจว่าเขาเป็นหุ้นส่วนแล้ว เขาจะเป็นสมาชิกพรรคเมื่อไหร่ก็ได้

“มั่นใจว่าคนรุ่นใหม่จะเห็นจุดที่เขามีความหวัง มีโอกาสและมีอนาคตไปสู่ข้างหน้าผ่านสิ่งที่จับต้องได้ ตลาดคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นตลาดที่ทุกพรรคเข้าไปแสวงหา ต้องใช้มุมตรงนี้ขับเคลื่อนและส่งต่อ คนรุ่นใหม่ที่ส่งผ่านคนทุกรุ่นได้” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่า การมี น.ส.แพทองธาร มาในสัญลักษณ์ขอบคนรุ่นใหม่ หรือ ไม่เคยหลุดจากการครอบงำ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่หลุดจากการครอบงำขออนุญาตค้าน แต่คนทุกคนมีสิทธิมอง คนรุ่นเก่าที่มองเห็นความสำเร็จของเพื่อไทย ในมุมไทยรักไทย ในมุมพลังประชาชน เขาอาจมอง น.ส.แพทองธาร เป็นสื่อที่ทำให้เขามั่นใจว่าจะได้นำความรู้ มีความคิดประสบการณ์จากอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านกลไกที่ถูกต้อง

คนรุ่นใหม่อาจมองอีกมุมหนึ่ง ไม่ได้มองมุมนี้แต่มองเรื่องการจับต้องได้ สัมผัสได้ การทำเป็นจริง เชิงนวัตกรรมการที่ให้เขามีส่วนร่วม คือภาพจริงที่ทำอย่างนั้น ไม่ได้ขายความคิดอุดมการณ์ยอ่างเดียว ขายในมุมที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เป็นหุ้นส่วนได้

พัฒนาคน – เมือง – ศก.ดิจิทัล

ด้านนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เปลี่ยนแรกคือเปลี่ยนตัวนายกฯ ต้องจัดสรรตัวเองให้พร้อม เพื่อไทยเปลี่ยนแล้ว วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นจุดอ่อนเศรษฐกิจไทย สาธารณสุข การศึกษา แตกปะทุออกมา เราต้องปิดจุดอ่อน หนึ่ง เรื่องเศรษฐกิจ โครงสร้างเศรษฐกิจเราเน้นเรื่องการส่งออก old economy เป็นสินค้าโลว์เทค ไม่ต่างจาก 10 ปีที่ผ่านมา

พรรคเพื่อไทยเปลี่ยน โครงสร้างการผลิตต้องเปลี่ยน โครงสร้างพัฒนาบุคลากรต้องเปลี่ยนในเรื่องทักษะเชิงเดี่ยว เน้นให้ความรู้ ตอบโจทย์แรงงานในอนาคต ด้านการศึกษา 7 ปีที่ผานมา เราไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา การศึกษาปัจจุบันถูกถอยหลังไป 5 ปี เราจะชดเชยอย่างไรและเราจะอยู่กับโควิดไปเรื่อยๆ จะแก้ไขอย่างไร

นอกจากนี้ นโยบายเพื่อไทยมหานคร เราจะทำให้เมืองที่เป็นจุดพัก เป็นเมือง กลายเป็นมหานครในที่สุด กระจายความเจริญไม่ให้ประชาชนมาแออัดในเมืองหลวง เราสร้างความเจริญที่บ้านเขา มีงาน มีเงิน สร้างความอบอุ่นในครอบครัว นอกจากนี้ จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจด้านดิจิทัล เป็นการลงทุนถูกและคุ้มที่สุด เป็นปัจจัยที่ 5 ในการการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เพื่อไทยจะมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ความหวังคนไทยให้ได้

เปลี่ยนผู้นำ – ฉีกทุกตำราเปลี่ยนประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าโควิดอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป เพราะรากเหง้าปัญหายังอยู่ แต่โควิดทำให้ปัญหาเด่นชัด ทำให้ฝีแตกออกมา การที่จะเปลี่ยนประเทศ ต้องก้าวข้ามทุกทฤษฎี ฉีกทุกตำรา ถ้าจะเปลี่ยนต้องรู้ว่าจุดไหนต้องไปงัด ให้ก้าวหน้าไปกว่านี้

จุดสำคัญที่ไม่สามารถงัดประเทศให้เดินไปข้างหน้า คือ การขาดชนชั้นกลาง ขาดผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจไทยเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่คนส่วนบนลากจูงประเทศไปข้างหน้า เรามีบริษัทส่งออกเพียงหยิบมือเดียวกุมส่วนแบ่งการตลาด แต่ยังมีคนที่ถูกแช่แข็ง ถ้าไม่แตะเรื่องนี้ ไม่ว่าจะมีทุนเข้ามามากแค่ไหน ก็ไปต่อไม่ได้

ที่ผ่านมา รัฐบาลเลี้ยงไข้ ไม่เคยผ่าตัดใหญ่ ไม่กล้าพูดความจริงที่น่ากระอักกระอ่วน รัฐบาลกล้าพูดไหมว่าแม้เปิดประเทศ แต่การท่องเที่ยวไม่อาจกลับมาเหมือนเดิม ให้แต่ยาพารา ปล่อยประชาชนรับความเสี่ยง ข้าราชการไม่เห็นประชาชนในสมการ ข้าราชการที่ดี มีความสามารถนั้นมี แต่ระบบไม่เคยให้รางวัลคนเหล่านี้ แต่ตบรางวัลให้คนเอาใจนาย อยู่เป็น

“สำหรับวิกฤตศรัทธาของรัฐ วันนี้ถ้าจะเปลี่ยนประเทศ ต่อให้ผู้นำประเทศมาพูดวิสัยทัศน์ที่ดีมาก จะเชื่อเขาไหม ถ้าประชาชนไม่ไว้ใน จะสำเร็จยาก คนตั้งคำถามว่า มีวาระซ่อนเร้นไหม เอื้อประโยชน์ใครหรือเปล่า หลายนโยบายที่รัฐสร้าง ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากไม่อาจหาฉันทามติร่วมของสังคม”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ควิกวินที่สุดคือที่จะทำให้เปลี่ยนได้คือ เปลี่ยนนายกฯ แต่ทำไม่ได้ มีข้อเสนอที่เราพูดกันว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไปต่อได้ภายใต้โควิดที่ยังอยู่ต่อไป เรารู้แน่ว่าภาคท่องเที่ยวเจ็บหนัก การช่วยเหลือให้หนี้ผู้ประกอบการไม่ได้ เพราะกู้เมื่อไหร่ต้องจ่ายดอกตั้งแต่เดือนแรกที่กู้ไป หรือมีช่วงพักดอกเบี้ย 6 เดือนก็ว่าไป แต่นักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งเต็มที่ 2566 เป็นต้นไป

แต่ผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้หากต้องผ่อนไปเรื่อยๆ ในช่วงที่นักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่ได้เต็มที่ ดังนั้น นั้น ข้อเสนอของเรามีกองทุนเข้าไปซื้อหุ้น เพราะจจ่ายผลตอบแทนเมื่อมีกำไร ผู้ประกอบการจะได้เงินสดไปบริหารสภาพคล่อง กลั้นหายใจได้นานกว่าไม่ต้องผ่อนชำระหนี้

แต่พูดแบบนี้ปุ๊บ ภายใต้การนำรัฐบาล และระบบราชการแบบนี้ ก็มีการพูดว่าเดี๋ยวก็เอาไปซื้อกิจการกันเอง ทำเจ๊ง ระบบราชการไม่เอาด้วย เพราะเห็นว่าเสี่ยง ก็ไม่มีใครกล้าทำ แบบนี้ขึ้นอยู่กับคนที่เป็นผู้นำใหม่ที่รับผิดรับชอบกับสิ่งที่ตนเองทำ เข้ามาทุบโต๊ะได้ แล้วเดี๋ยวจะเป็นคนคุมเองไม่มีการหลุดรอดรั่วไหล แบบนี้เปลี่ยนเลย แล้วรอด

“มีอย่างที่ไหน เป็นประเทศที่มีผู้นำที่ยัดเยียดคดีคนที่เห็นต่างกับรัฐบาล ไม่เปิดพื้นที่ให้พูดคุยกัน แจกแต่คดีเป็นพันคดี ถ้าเปลี่ยนได้เร็วคือแค่ดีดนิ้ว เซ็นชื่อลาออก จะทำให้หลายอย่างเปลี่ยนได้อย่างมีนัยยะสำคัญจริงๆ เพราะเป็นเรื่องวิธีคิด นโยบาย” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่น เขาเพิ่งแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมั่นคงทางเศรษฐกิจ เขาดูตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ไปถึงชิปขาดแคลน แร่หายาก ถึงไซเบอร์ซิเคียวริตี้ และ หันกลับมาดูประเทศไทย เรียกตัวแทนจากกระทรวงพลังงานมาชี้แจงเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า กลับตอบอะไรไม่ได้เลยที่นอกเหนือจากเรื่องสถานีชาร์จ ถ้าเราทลายไซโลระบบราชการไม่ได้

อย่าหวังว่าจะขับเคลื่อนประเทศนี้ไปกับระบบราชการที่รวมศูนย์และแตกแยกย่อยไปในเวลาเดียวกัน เรามีกำลังข้าราชการมีความคิดก้าวหน้าพร้อมที่จะเปลี่ยนอยู่แต่ไม่อยู่ในจุดที่ตัดสินใจ เราต้องดึงคนพวกนั้นมาเปลี่ยนระบบราชการได้ แต่ต้องทำทันที

นิพนธ์ หนุนกระจายอำนาจ

ด้านนายนิพนธ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย เราต้องเปลี่ยนการที่เรารวมศูนย์อำนาจให้ไปสู่การกระจายอำนาจอย่างเป็นจริง และประเทศไทยต้องเลิกตัดทั่วโหล สูตรเดียวใช้ทั้ง 77 จังหวัด เพราะความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ให้ทำโอท็อปก็ลอกเหมือนกันหมด

ตนอยากเห็นประเทศไทยกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เห็นความสำเร็จของญี่ปุ่น ที่ข้าราชการท้องถิ่น 3 ล้านกว่าคน ข้าราชการส่วนกลาง 4-5 แสนคน กลับกับประเทศไทย ทั้งที่ ซึ่งเราเปลี่ยนประเทศครั้งใหญ่พร้อมๆ กับญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นไปได้ไกลกว่าไทย

เราเปลี่ยนสถานะจากชนบท คิดว่าประเทศไทยแทบจะไม่มีจังหวัดใดเป็นชนบท มีแต่เมืองขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ดังนั้น การกระจายอำนาจให้คนไทยในท้องถิ่นตัดสินใจเอง เชื่อมั่นว่าจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ เราต้องเชื่อว่าคนท้องถิ่นโกงกันเยอะ ปปช.ชี้มูลความผิด 50-60 ชี้มูลมา 3 แสนกว่าล้าน อยู่ที่ท้องถิ่นแค่ 164 ล้าน ดังนั้น เรื่องกระจายอำนาจ ยังคิดว่าเป็นกระแสหลัก เปลี่ยนกันให้จริง อย่าไปหยุด อย่ามองว่าคนท้องถิ่นทำไม่ได้ กระจายทุกอย่างให้ไปท้องถิ่น

เจ๊หน่อย ย้ำ สู้เพื่อคนตัวเล็ก

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เราต้องเปลี่ยนรัฐราชการให้เป็นรัฐประชาชน และการให้ประชาชนหลุดพ้นจากกับดักความยากจนให้ได้ วิกฤตเศรษฐกิจเป็นปัญหา เราจะทำทุกสิ่งที่ทำให้คนไทย โดยเฉพาะคนตัวเล็กมีโอกาสทำเร็วที่สุด

1.ความท้าทายในการแก้วิกฤตการเมือง ต้องแก้แนวคิดอำนาจนิยม เปลี่ยนรัฐราชการเป็นรัฐประชาชน และกระจายอำนาจ 2.การพาประชาชนให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจน วิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาที่หนักที่สุด โดยจะทำทุกสิ่งให้คนไทยมีโอกาสทำมาหากินได้รวดเร็วที่สุดและแข็งแรงที่สุดหลังโควิด การช่วยให้คนตัวเล็กมีพลังลุกขึ้นมา

คือ การสร้างพลังให้ประชาชนสามารถต่อรองกับรัฐได้ ตั้งแต่เอสเอ็มอี ถึงเกษตรกร เช่น การปลดปล่อยประชาชนออกจากกฎหมายและใบอนุญาตต่างๆที่ล้าหลัง เป็นอุปสรรคในการทำมาหากิน อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ร้านอาหาร คราฟต์เบียร์ เมื่อศึกษาพบว่ามีราว 1,500 ฉบับที่ล้าหลัง

เราจะออก พ.ร.ก. 1 ฉบับ ใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ ยกเว้นการใช้กฎหมายและใบอนุญาตที่ไม่จำเป็นออกไป 3 ปีเพื่อให้คนตัวเล็กลุกขึ้นมาทำมาหากินได้เร็ว จะเหลือแค่กฎหมายและใบอนุญาตที่จำเป็นราว 100 ฉบับเท่านั้น

นอกจากนี้ จะจัดให้มีสภาประชาชนประจำหมู่บ้าน ทำหน้าที่กลั่นกรองตัดสินว่าเมื่อมีงบประมาณเข้ามา จะนำไปทำอะไร โดยประชาชนจะเป็นผู้ตรวจรับงานโดยใช้เทคโนโลยีช่วย

3. การตั้งกองทุน 5 กองทุน ได้แก่ 1. กองทุนเอสเอ็มอี ซึ่งมีจำนวน 3 ล้านกว่าราย ต้องมีกองทุนที่ให้โอกาส 2. กองทุนสตาร์ทอัพ ซึ่งไทยและโลกจะขับเคลื่อนด้วยคนยุคใหม่ 3. กองทุนท่องเที่ยว ให้ผู้ประกอบการต่อยอด 4. กองทุนวิสาหกิจชุมชน ช่วยลูกหลานเกษตรกร พัฒนาภูมิปัญญาต่อยอดสร้างอาชีพ 5. กองทุนเพื่อคนตัวเล็ก ผู้ที่กู้เงินนอกระบบให้เข้าสู่ระบบด้วยดอกเบี้ยถูก

ชงสร้างเศรษฐกิจใหม่

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ฐานเสียงพรรคไทยสร้างไทย เราวางพรรคฝั่งประชาธิปไตย ไม่สืบทอดอำนาจ และเราวางพรรคไปที่คนตัวเล็ก คือฐานใหญ่ของประเทศ ถ้าฐานใหญ่ตรงนี้ยากจน ไม่เท่าเทียมกับคนอื่น รัฐบาลก็ไม่รอด เก็บภาษีไม่เคยเข้าเป้า และต้องกู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 9 ล้านล้าน แล้ว ทำให้เรามีโอกาสสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่

รัฐบาลจะต้องไม่ enjoy กับ old economy ต้องสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ หนึ่งอาหารปลอดภัย ฮับสุขภาพ สปา ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ฮับสตาร์ทอัพ เราต้องสนับสนุนดิจิทัล ส่วนปัญหารากฐานของประเทศ 1.วิกฤตการเมือง ต้องแก้ด้วยรัฐธรรมนูญ วันนี้ช่องทางการแก้ยังมีอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วว่า สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ มี ส.ส.ร.ได้ ดังนั้น ส.ส.อย่าทำผิดซ้ำสอง เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันผังชิปไว้หมดแล้ว รัฐบาลที่มาจากฝั่งประชาธิปไตยถูกล้มแน่นอน และสู้คดีอาญาต่อไป

“ช่วยกันเรียกร้องให้มีการทำประชามติ เป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ถูกต้องที่สุด จะสร้างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร.ไหม ถ้าไม่สร้างก็จบ และต้องยอมรับฉันทามติของประชาชน”คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

2.โควิด เทคโนโลยีดิสรัป รัฐต้องมองให้ออก รัฐจะไปเอนจอยฐานเดิมไม่ได้แล้ว และรัฐเข้าไปช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 3.ปฏิรูปการศึกษา หลักสูตรต้องปฏิรูปหมด สอนในวิชาที่เด็กหากินได้ ส่งเสริมสายอาชีพเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นได้ ลดเวลาการเรียน 13 ปีจบถึงมหาวิทยาลัย และเรียนฟรี เพื่อให้คนเข้ามาสู่ระบบงานให้เร็วขึ้น คณะจะไม่เป็นอุปสรรคในการเรียน เพราะต่อไปนี้เป็น multi skill เพราะอะไรที่ deep ก็ให้ AI ทำได้ เด็กในกรุงเทพฯ และ เด็กจากบนดอยต้องเรียนจากครูคนเดียวกัน