ร้อนแรง ! 2 สภาถก แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ “รื้อระบอบประยุทธ์”

สมาชิกรัฐสภา 732 คน ทั้งฝ่าย ส.ส. จำนวน 482 คน และ ส.ว. จำนวน 250 คน ร่วมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อโครงสร้างอำนาจและเครือข่าย “ประยุทธ์”

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ก่อนจะมีการลงมติรับหลักการหรือไม่ในวาระที่ 1 ซึ่งเป็นร่างที่เสนอโดย กลุ่มรีโซลูชั่น กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 ราย

โดยส่งตัวแทน เข้านำเสนอและชี้แจง 2 คน คือ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) อดีตผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

นายพริษฐ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าสู่วาระพิจารณาว่า “ขอให้รัฐสภาเปิดใจรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเปรียบเป็นเหมือนวัคซีนเร่งด่วนเพื่อแก้ไขระบอบประยุทธ์ เนื้อหาจะสร้างผลดีต่อทุกฝ่าย เช่น การปรับเป็นระบบสภาเดี่ยวจะทำให้รัฐสภากลับมาเป็นความหวังของประชาชนอีกครั้ง การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นในความเป็นกลางของศาล และการตั้งผู้ตรวจการณ์กองทัพก็จะทำให้กองทัพมีโอกาสพิสูจน์กับประชาชนถึงความเป็นทหารอาชีพที่ไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง”

ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวย้ำว่า ถ้าพูดให้ถึงที่สุด แม้กระทั่งการรื้อระบอบประยุทธ์ ก็ไม่ได้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์หมดอนาคต แต่จะเปิดโอกาสให้เขากลับมาเป็นนายกฯ ได้อย่างสง่าผ่าเผยมากขึ้นถ้าเขาสามารถชนะได้ในการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมจริง

นายปิยบุตรกล่าวเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 1 ไปก่อน “หากเพื่อนสมาชิกให้ความเห็นชอบกับร่างฯ ในวาระที่ 1 รายละเอียดปลีกย่อย ความเห็นที่แตกต่างกัน เรายังมีโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขในวาระที่ 2 และในท้ายที่สุด ถ้ามันผ่านวาระที่ 3 ไปได้จริง พวกท่านก็ยังมีหนทางไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีก และยังต้องไปทำประชามติอีกด้วยอย่างน้อยที่สุด การลงมติรับหลักการวาระที่ 1 นี้ก็เป็นการแสดงออกว่าพวกท่านไม่ได้ปิดประตูใส่พี่น้องประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกันมา”

ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดให้สมาชิกอภิปราย โดยมีผู้แจ้งชื่ออภิปราย 11 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 4 คน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน และ ส.ว. 5 คน

พล.อ.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวประท้วงระหว่างที่นายปิยบุตรนำเสนชี้แจงเพิ่ม ตอนหนึ่งว่า “ผู้ที่นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นเป็นพวกเณรคุณแผ่นดิน และต้องการล้มสถาบัน” จากนั้น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ประท้วง ให้ถอนคำพูด ซึ่งพล.อ.กิตติศักดิ์ ก็ได้ถอนคำพูดดังกล่าว

สำหรับ 4 ประเด็นในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทางกลุ่มรี โซลูชั่นเชื่อว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การรื้อระบอบประยุทธ์ ได้แก่ ล้ม ส.ว. เดินหน้า “สภาเดี่ยว” โละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ พร้อมกับปฏิรูปที่มา อำนาจและการตรวจสอบ เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ ล้าง มรดกรัฐประหาร

การล้ม ระบบ ส.ว. ถูกเสนอไว้ในมาตรา 85 ให้ชัดเจนว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และมีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

และในมาตรา 159 ก็เขียนว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

นำเสนอกระบวนการสรรหาและที่มาองค์กรอิสระแบบใหม่ ให้เปลี่ยนกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน โดยให้มาจากการเสนอชื่อของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกตั้งได้รับความเห็นชอบจาก 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเป็นเวลา 7 ปี รวมทั้งการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ก็จะใช้กระบวนการเดียวกันนี้ด้วย

รวมทั้งประเด็น ยกเลิกการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศทั้งหมด และไม่ควรกำหนดให้อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ควรปล่อยให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนด

ล้ม-ล้าง ผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร มีประเด็นสำคัญ อาทิ

ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใด ๆ ต่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญและการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทย

ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิและหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหารหรือคณะบุคคลใดที่ก่อการรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวง วินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของการรัฐประหาร หรือรับรองความสมบูรณ์ทางกฎหมายและสถานะทางกฎหมายให้แก่คณะผู้ก่อการรัฐประหาร ประกาศ คำสั่ง และการกระทำอื่นใดของคณะผู้ก่อการรัฐประหาร

ในกรณีที่มีคณะทหารหรือคณะบุคคลใดก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ เมื่ออำนาจสูงสุดกลับมาเป็นของปวงชนชาวไทยและได้มาซึ่งรัฐบาลที่ชอบธรรมแล้ว ให้ดำเนินคดีต่อผู้ก่อรัฐประหารทันทีโดยไม่มีอายุความ