ครม.สัญจรกระบี่อนุมัติ 2 หมื่นล้าน ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท นาน 4 เดือน

น้ำมันดีเซล

ด่วน ! ครม.สัญจรกระบี่ ไฟเขียว กองทุนน้ำมันกู้เงิน 2 หมื่นล้าน ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท 4 เดือน

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.) สัญจร ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ที่จังหวัดกระบี่ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม อนุมัติกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 4 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการชุมนุมประท้วงของรถบรรทุกเพื่อเรียกร้องให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 25 บาทต่อลิตร ว่า ได้สั่งการกระทรวงคมนาคมได้จัดรถ บขส. หรือรถทหารขนส่งสินค้าแทน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.) สัญจร ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ที่จังหวัดกระบี่ ว่า ครม.เห็นชอบการขออนุมัติกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน ดังนี้

1.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. …. โดยเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เป็นจำนวนไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 20,000 ล้านบาท

2.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ สกนช. จะต้องเสนอเหตุผลความจำเป็นในการกู้เงิน รายละเอียดการกู้เงิน (แผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้) ต่อ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติต่อไป

ทั้งนี้ การกู้ยืมเงินของ สกนช. ถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะ สกนช. จะต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง

3.อนุมัติการกู้ยืมเงิน โดยให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้ สกนช. ดำเนินการกู้เฉพาะวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามกรอบของกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ และจะดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้ต่อเมื่อ ร่าง พ.ร.ฎ.ฯ มีผลบังคับใช้แล้ว

น.ส.รัชดากล่าวว่า สำหรับแผนการกู้ยืมเงินและแผนการชำระหนี้ของสกนช. จะเป็นการกำหนดรายละเอียดของการกู้ยืมเงินและระยะเวลาหรือช่วงเวลาในการดำเนินการต่าง ๆ

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ หลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนการกู้ยืมเงินและแผนการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยแผนการเบิกจ่ายเงินกู้ที่ สกนช.ประมาณการไว้จะเริ่มเบิกเงินกู้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้นัดเคลื่อนขบวนไปที่กระทรวงพลังงานในวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้ปรับลดราคาน้ำมัน โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการอุดหนุนกองทุนน้ำมันว่า ต้องไปดูสิ่งที่เขาเสนอเข้ามา

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะสามารถตรึงราคาน้ำมันตามข้อเสนอของสหพันธ์การขนส่งฯได้หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ของเดิมที่เสนอคงไม่ได้ แต่ของใหม่ต้องดูอีกทีว่าตัวเลขใหม่เป็นเท่าไหร่ ทั้งนี้ ในทุกรัฐบาลที่ผ่านมาใช้เกณฑ์การตรึงราคาที่ 30 บาทต่อลิตรสำหรับดีเซลหมุนเร็ว น่าจะเป็นเวลา 15 ปี เพราะถือว่าเป็นราคาที่อยู่ในวิสัยรับกันได้ ซึ่งรับภาระกันทุกฝ่าย ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการและรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า การกู้เงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการได้ โดยจะต้องนำมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในระยะสั้นเท่านั้น

โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยไม่เกิน 80 เหรียญ/บาร์เรล การกู้เงินจำนวนนี้จะสามารถใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปจนถึงไตรมาส 1/2565 และถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด กว่าการไปปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันละ 1-2 บาท/ลิตร

“ตอนนี้กองทุนน้ำมันฯเหลือเงินไม่ถึง 10,000 ล้านบาทแล้ว หากกู้มาให้กองทุนอีก 20,000 ล้านบาท และยังมีเงินกู้จากรัฐบาลที่นำมาให้การช่วยเหลือเสริมเข้ามาได้อีก 10,000 ล้านบาท ผมมองว่าน่าจะเพียงพอที่ใช้ดูแลราคาน้ำมันไปถึงไตรมาส 1/2565

แต่ถ้าหลังจากนั้น ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นไปอีก จึงค่อยไปใช้มาตรการภาษีสรรพสามิตเข้ามาช่วยเป็นสเต็ปต่อไป ส่วนการที่จะขยายกรอบเงินกู้ไปถึง 40,000 ล้านบาทนั้น คิดว่าทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องไปแก้ไขกฎหมายที่ให้เพดานไว้แค่ 20,000 ล้านบาท

ส่วนการใช้คืนเงินกู้กองทุนก็จะต้องไปรอจังหวะเก็บเงินเข้ากองทุนอีกครั้ง หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง” นายพรายพลกล่าว