พัฒนาเศรษฐกิจ ต้องไม่ทำลายวิถีชีวิตผู้คน

สลายม็อบจะนะ
ชั้น 5 ประชาชาติ

อำนาจ ประชาชาติ

 

ไม่รู้ว่าทำไม รัฐบาลถึงนิยมใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่เห็นต่าง หรือคนที่ออกมาเรียกร้องปกป้องสิทธิ วิถีชีวิตชุมชนของตัวเอง

ล่าสุด ก็มีการใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้าน “จะนะ” จากจังหวัดสงขลา ในนาม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ที่รวมตัวกันมาชุมนุมอย่างสันติ เพื่อคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่พวกเขามองว่า จะเข้ามาทำลายวิถีชุมชน

เพราะแผนการผลักดัน “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า” ของรัฐบาล จะแปรเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยผูกพันกับธรรมชาติ, วิถีประมงที่พึ่งพาท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปจากพวกเขา

จากที่ติดตาม พบว่าการคัดค้านมีมาตลอดก่อนหน้านี้ รวม ๆ ก็เป็นเวลา 5 ปีแล้ว

โดยแต่เดิมในปี 2559 รัฐบาลยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ได้อนุมัติโครงการ “เมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ซึ่งครอบคลุมเพียง 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

โดยจะผลักดันให้อำเภอเบตง เป็น “เมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยว”

ขณะที่อำเภอหนองจิก จะผลักดันเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร”

และอำเภอสุไหงโก-ลก จะผลักดันเป็น “เมืองต้นแบบด้านการค้า การส่งออก”

อย่างไรก็ดี ต่อมาในปี 2562 ก่อนสิ้นสุดรัฐบาล คสช. ก็มีการทิ้งทวนอนุมัติการผลักดันให้อำเภอจะนะ เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นพื้นที่ที่ 4

ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วย และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปีที่แล้ว รัฐบาลส่ง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นได้เข้าไปเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน จนมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการ พร้อมจะจัดให้มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ประชาชนและนักวิชาการที่ประชาชนคัดเลือกเข้าไปมีส่วนร่วม รวมถึงให้ยุติโครงการชั่วคราว จนกว่า 2 ข้อข้างต้นจะดำเนินการเสร็จ

แต่ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กลับยังคงมีการเดินหน้าโครงการอย่างเต็มที่ จนทำให้ชาวบ้านต้องกลับมาทวงถามข้อตกลงที่ทำกันไว้ และนำมาสู่การสลายการชุมนุมในที่สุด

ได้ยินท่านผู้นำรัฐบาลให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า รัฐบาลไม่เคยตกลงอะไรไว้ โดยพยายามบอกว่า คนที่ไปตกลง ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล

ฟังแล้ว ก็พอเดาชะตากรรมของชาวบ้านตาดำ ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ ว่าเหตุใดการพัฒนาเศรษฐกิจถึงไม่ค่อยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ทั้ง ๆ ที่ตัวอย่างปัญหาก็มีให้เห็นอยู่มากมาย หลายกรณี

การจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม ออกแบบวิถีชีวิตของพวกเขา ทำไมถึงเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจไม่อยากทำ

แล้วแบบนี้ จะมาบอกว่า ยึดมั่นประชาธิปไตย ยึดในสิทธิมนุษยชน จะฟังขึ้นไหม