เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ได้บดบังสามัญสำนึก-เนื้อแท้ของชาวไทยพุทธ-ไทยมุสลิมให้พังทลายลงในพื้นที่ สุดแดนสยาม บ่มเพาะเป็นมะเร็งร้ายกัดกร่อนความไว้เนื้อเชื่อใจ
สารพัดมาตรการ-สูตร-ทฤษฎี ถูกเชิดชูขึ้นมาปลอบประโลมในยามที่ดินแดนสุดปลายด้ามขวานพิโรธ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีการเมือง-เศรษฐกิจนำการทหาร ทฤษฎีดอกไม้หลายสีของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต-บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ
หากกล่าวถึงรูปแบบ หรือโมเดล การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เปรียบดั่งไฟที่พร้อมจะลุกโชนพุ่งทะยานขึ้นมาได้ตลอดเวลา ทุ่งยางแดงโมเดล คงแล่นเข้ามาในหัวอย่างหุนหันพลันแล่น
เฉกเช่น ความพยายามในการดับไฟใต้ให้มอดไหม้บนโต๊ะเจรจาแห่งรัฐ อาทิ การพูดคุยสันติภาพ ในยุคสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือการพูดคุยเพื่อสันติสุข ในยุคสมัยใหม่-รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าอำนาจรัฏฐาธิปัตย์
ทว่ายุทธศาสตร์อันเป็น UNSEEN ในพื้นที่สีแดง-ดินแดนนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ที่ผสมผสานธรรมชาติ-สามัญสำนึกของชาวบ้านไทยพุทธ-ไทยมุสลิม กับศาสตร์แห่งพระราชา ตามหลักการทรงงาน 23 ข้อ หลักการเข้าถึง เข้าใจ พัฒนา และเศรษฐกิจพอเพียง ได้ถูกหล่อหลอมและเป็นโมเดลต้นแบบในการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านในพื้นที่ต่าง เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม
โครงการซ่อมแซม ปรับปรุงและเสริมประสิทธิภาพ ฝายสากอ ตำบลสากอ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็นโครงการต้นแบบของการร่วมไม้ร่วมมือ-ร่วมใจ เพื่อทลายกำแพงแห่งความแตกต่าง
ก่อนหน้านี้เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในอำเภอสากอสูญเสียโอกาส-ประโยชน์ที่จะได้รับไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท จากอุทกภัยพิบัติในปี 2557 ทำให้ฝายสากอชำรุด-เสียหายเนื่องจากการปรับปรุง-ซ่อมแซมฝายสากอต้องใช้ทั้ง แรงคน-แรงเงิน ทำให้การขอความช่วยเหลือไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ
“ความเสียหายที่เกิดขึ้น 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการระเบิดจากภายในและความเร่าร้อนในการแก้ปรับปรุงฝาย เกิดการหลอมรวมคนในพื้นที่เพื่อลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง” นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสกล่าว
นอกจากประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับที่คิดเป็นตัวเงิน โดยพื้นที่ได้รับประโยชน์ 1,976 ไร่ ครอบคลุม 6 หมู่บ้าน ในตำบลสากอ 1,229 หลังคาเรือน 5,061 คน คิดเป็นมูลค่ารายได้ที่จะได้รับไม่ต่ำกว่า 16 ล้านบาทต่อปี และความใหญ่โตของฝายสากอที่สามารถกักเก็บได้ 15,000 ลูกบาศก์เมตรแล้ว
สิ่งที่ได้รับจากสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายดายนักในพื้นที่สีแดง คือ ความสำเร็จที่เกิดจาก 2 มือ-ร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ที่แตกต่างทั้งในเรื่องเชื้อชาติ-ศาสนาและวัฒนธรรม
รองผู้ว่าฯ จ.นราธิวาสกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประชาชนลุกขึ้นมาด้วยตัวเอง มาโดยไม่ได้บังคับ มาด้วยความรู้สึก เป็นห้องเรียนห้องใหญ่ที่นำคนทุกภาคส่วน ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา มาเรียนรู้ร่วมกัน ระเบิดจากภายในของชาวบ้าน และส่งผลไปถึงการเป็นเจ้าของของชุมชน
“ฝายสอกอจึงเป็นต้นแบบของ วิธีการหลอมคนทั้งหมดเข้ามา เป็นการเริ่มต้นของประชาชนจริง ๆ เป็นการคิดของประชาชน วิธีการของประชาชน เพราะการสร้างฝายของแต่ละโครงการต้องคำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่”
“ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของการดูแล เป็นโครงการต้นแบบให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาบริหารจัดการ ดูแล และเป็นห้องเรียนหนึ่งของเด็กในวิทยาลัยชุมชน ได้ทดลองเสมือนจริง เป็นสถานที่หลอมรวมของทุกภาคส่วน”
นางพาตีเมาะกล่าวว่า ฝายสากอจะเป็นต้นแบบของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสามารถนำไปใช้เป็นโมเดลในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ-ร่วมมือจากทุกภาค ส่วน เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นายสัญชัย เหสามี กำนันตำบลสากอ กล่าวว่า ก่อนการซ่อมแซมฝาย ผ่านการทำประชาคมของชาวบ้าน 12 หมู่บ้าน ชาวบ้านต้องการน้ำ ต้องการฝาย ถึงแม้ไม่มีค่าตอบแทน แต่ชาวบ้านต้องการเสียสละแรง
“ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากที่สุด และไม่ทำให้เดือดร้อน เพราะชาวบ้านทุกคนต้องมีภารกิจ หน้าที่จึงออกแบบว่า ในพื้นที่มี 12 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 คน รวม 24 คน อส.อ.สุไหงปาดี 10 คนต่อวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ช่าง อบต.และ อบจ. 2 คน และพี่น้องมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ รวมทั้งสิ้น 50 กว่าคน ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ทุกคนต้องเสียสละ”
อุปสรรค-ปัญหาฟ้าฝนชุกตลอดเกือบทั้งปี ทำให้ถนนหนทางเข้าพื้นที่ยากลำบาก-หน้างานติดขัดไม่ได้ดั่งใจมากนัก แต่สิ่งที่นายสัญชัย-กำนัน ต.สากอ ภูมิใจ คือ พี่น้องชาว ต.สากอ จำนวน 12 หมู่บ้าน ทั้งไทยพุทธ-ไทยมุสลิม ต่างตำบล มาร่วมมือกัน
“สิ่งนี้ทำให้ถูกจารึกว่า พวกเราสร้างฝาย เป็นฝายที่มีชีวิต จากแรงงานชาวบ้าน ต.สากอ และทั้ง อ.สุไหงปาดี มาช่วยกัน เกิดเป็นความสามัคคีในหมู่คณะตลอดระยะเวลา 8 เดือน ทุกคนยอมเหนื่อย ยอมทุกอย่าง มุ่งไปสู่ฝายสากอ เพราะเป็นชีวิตของชาวบ้าน ต.สากอ ต่อชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนภาคเกษตรกร ไม่ได้ต้องการทำให้ใหญ่ที่สุด แต่ต้องการทำให้เสร็จเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับชาวบ้านให้มากที่สุด”
ที่ผ่านมารัฐเป็นคนเข้ามาสร้าง ความรักอาจจะไม่เท่ากับสิ่งที่เราสร้างด้วยน้ำมือ น้ำพักน้ำแรง-น้ำใจของชาวบ้านเอง จึงทำให้เกิดการดูแล ความหวงแหนมากที่สุด-กำนัน ต.สากอทิ้งท้าย
นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงปาดี กล่าวว่า ด้วยแรงกายของชาวบ้านทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้ 10 กว่าล้านบาท แต่โจทย์สำคัญ คือ ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกัน วันละ 50 คน ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ไม่มีค่าตอบแทน ตอบโจทย์การสร้างความรักความสามัคคีของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ หน่วยงานหลัก-ทีมเฉพาะกิจ กล่าวถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการ นอกจากงบประมาณที่ใช้ไปกว่า 10 ล้านบาทว่า คือการ “ระเบิดจากข้างใน” ของชาวบ้านในพื้นที่ เป็น 1 ในหลักการทรงงาน 23 ข้อ และหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
“5 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิปิดทองหลังพระฯได้ทำงานในพื้นที่ทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง แต่การทำงานระยะที่สอง 5 ปี ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้ลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้ศาสตร์พระราชาตามแนวพระราชดำริ ดิน น้ำ ป่า การซ่อมแซมฝายจึงเป็นยุทธศาสตร์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
สำหรับโครงการในพื้นที่ภาคใต้ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯดำเนินการ ประกอบด้วย 1.บ้านฮูแตทูวอ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส 2.บ้านโคกยามู ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 3.บ้านจำปูน ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา 4.บ้าน กม.26 ใน ต.ตาเนาะปูเตะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา 5.บ้านสุเหร่า ต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 6.บ้านแป้น ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 7.บ้านละโพ๊ะ ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
เพราะไม่ใช่งานจ้าง-งานสร้างใหม่ และถนนหนทางเป็นดินแดง-โคลน ป่ารกทึบ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่ได้เอื้ออำนวย ทำให้แผนการซ่อมแซมฝายต้องปรับเปลี่ยนรายวัน-ตามความต้องการของชาวบ้าน
แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทำให้ฝายสากอคืบหน้าไปกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ และจะก่อสร้างเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 เมื่อมองย้อนกลับไป ชาวบ้านไม่เคยคิดว่าจะสำเร็จได้จนถึงวันนี้